รุดช่วยลูกเรือ 18 คน ถูกบีบทำงาน ไม่ให้เข้าฝั่ง อ้างโควิดระบาด

พบลูกเรือไทย 18 คน ถูกกักทำงานบนเรือ ล่องมาจากอินโดนีเซีย ตั้งแต่หมดสัญญา พ.ย. 2564 ไม่ได้รับวัคซีนโควิดแม้แต่เข็มเดียว กระทรวงแรงงานรุดเข้าช่วยเหลือกลางทะเลภูเก็ต

วันที่ 9 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ พลตำรวจตรี นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ ณ ท่าเทียบเรือรัษฎา จังหวัดภูเก็ต เพื่อช่วยเหลือลูกเรือไทย 18 คน บนเรือชูมี ที่เดินทางมาจากประเทศอินโดนีเซีย และห่างจากแหลมพรหมเทพประมาณ 39 ไมล์ทะเลหรือราว 70 กิโลเมตร

โดยลูกเรือร้องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงาน และให้ข้อมูลว่า ได้ขึ้นเรือไปทำงานกับนายจ้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และหมดสัญญาจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2564 ผ่านมา 3 เดือน นายจ้างไม่ยอมส่งกลับคืนสู่ฝั่ง อ้างท่าเรือไม่อนุญาตให้เข้าเทียบเพราะสถานการณ์โควิด-19

พล.ต.ต.นันทชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์สู่ Tier 2 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ควบคู่กับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

โดยการตรวจในครั้งนี้เป็นบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ตำรวจน้ำ และองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) ซึ่งประกอบด้วย Stella Maris มูลนิธิไอเจเอม และสำนักงานกฎหมายเอส อาร์

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน และนำข้อท้าทายหรืออุปสรรคจากการออกตรวจที่พบร่วมกันมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการให้ความคุ้มครองแรงงานในภาคประมงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พล.ต.ต.นันทชาติ อธิบายว่า ได้สกัดเรือชูมีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง จากการสอบถามลูกเรือให้ข้อมูลว่า ได้ขึ้นเรือไปทำงานกับนายจ้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และหมดสัญญาจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2564 ผ่านมา 3 เดือน นายจ้างไม่ยอมส่งกลับคืนสู่ฝั่ง อ้างท่าเรือไม่อนุญาตให้เข้าเทียบเพราะสถานการณ์โควิด-19

“แรงงานลูกเรือถูกบีบให้ทำงานต่ออย่างผิดกฎหมาย และไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะแรงงาน หากเกิดปัญหาเจ็บป่วยล้มตาย ถือว่าตายฟรี เพราะไม่มีสัญญาจ้างคุ้มครอง และที่สำคัญทุกคนในเรือทั้ง 18 ชีวิต ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แม้แต่เข็มเดียว โดย 16 คน หมดสัญญาจ้างงาน และ 5 คน มีความประสงค์กลับภูมิลำเนา”

หลังจากนี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และตำรวจ จะมีการนำลูกเรือที่ประสงค์จะกลับเข้าฝั่งมาตรวจสอบเอกสาร และจะมีการขยายผลดำเนินคดีในแต่ละบทกฎหมายว่าเข้าข่ายผิดข้อกฎหมายใดบ้าง ซึ่งจะมีสหวิชาชีพเข้าร่วมสอบด้วย