ก.แรงงาน หารือบริษัทจัดหางานเอกชน เร่งส่งคนไปทำงานต่างประเทศ

ปี 2565 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าจัดส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ 50,000 คน หารือ 127 บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตจัดหาคนไปทำงาน เร่งขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ

วันที่ 22 เมษายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ประจำปี 2565 โดยมีคณะผู้บริหารฝ่ายการเมือง นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวรายงาน และผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 127 บริษัท ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา ทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ เพราะประเทศผู้รับแรงงานบางประเทศมีการปรับนโยบายและชะลอการรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน แต่ปัจจุบันประเทศผู้รับแรงงานเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายในการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น

โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศไว้ประมาณ 50,000 คน ไม่รวมการเดินทางแบบ re-entry (แรงงานเก่าเดินทางกลับไปทำงาน) จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานไทย และภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ

ในวันนี้กระทรวงแรงงานได้เชิญผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 127 บริษัท และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในภารกิจการจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ มาร่วมกันหารือ รับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้การจัดส่งแรงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ทำให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์สูงสุด รับค่าจ้าง สวัสดิการ และการคุ้มครองที่เหมาะสม ตลอดจนป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อปลดล็อก Tier 2 Watch List

Advertisment

“ผมขอขอบคุณผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศที่มีการจัดหางานอย่างมีจริยธรรม ให้ความสำคัญกับประโยชน์สูงสุดของแรงงานไทยซึ่งเป็นกลไกหลักในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมาร่วมงานในวันนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ทั้ง 2 ท่านต่างให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้แรงงานไทยในการไปทำงานในต่างประเทศมาโดยตลอด

ในปีนี้กระทรวงแรงงานจะเป็นเรี่ยวแรงหลัก ในการเจรจากับทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มแรงจูงใจในการจ้างแรงงานไทยของนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อรักษาตลาดแรงงานเดิม และเร่งขยายตลาดแรงงานใหม่”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมการจัดหางาน คือการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยปีที่ผ่านมาสามารถจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานดังนี้

Advertisment

– ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย: ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐาน เพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ

– ประเทศญี่ปุ่น อยู่ระหว่างความพยายามในการจัดทำบันทึกความร่วมมือ

– ประเทศออสเตรเลีย: โครงการวีซ่าเกษตรออสเตรเลีย (Australian Agriculture Visa (AAV) Program) และเสนอให้มีการจัดส่งแรงงานรูปแบบ G to G (Government to Government) และ A to A (Agency to Agency) ภายใต้การกำกับดูแลควบคุมของกระทรวงแรงงาน

– สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: ดำเนินการควบคู่กับการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

นอกจากนั้นยังป้องกันไม่ให้แรงงานไทยถูกหลอกลวงจากสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน ที่ปัจจุบันนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลอย่างมากในการโฆษณาเชิญชวนหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในภารกิจการจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศที่มาร่วมประชุมหารือในวันนี้ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย