กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เดินหน้าขจัดปัญหาค้าประเวณี และค้ามนุษย์ ขยายผลโครงการ “ต้นกล้าครอบครัว”

เนื่องด้วยสังคมโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต มีความซับซ้อนของสภาพปัญหาที่อาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นหญิง ต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจถึงสถานการณ์ทางสังคม จะได้มีทักษะหรือภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากสถานการณ์ปัญหาต่างๆ และสามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตลอดจนขับเคลื่อนระบบงานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี จึงมุ่งจัดโครงการ/กิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบการทำงาน

ของกลไกระดับชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 พร้อมทั้งได้มอบนโยบายให้ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ทั้ง 8 แห่ง แปลงสู่การปฏิบัติ

โดยล่าสุด ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จ.นนทบุรี ได้จัดให้มีการอบรมครู ข ในรูปแบบของการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์สังคมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่ายทอดการฝึกอบรมต้นกล้าครอบครัวในชุมชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการค้าประเวณี ภายใต้โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี พร้อมต่อยอดกิจกรรมดังกล่าวด้วยการจัด “กิจกรรมต้นกล้าครอบครัวในชุมชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการค้าประเวณี” และสนับสนุนงบประมาณแก่ผู้ผ่านการอบรมเพื่อนำไปขยายผลกิจกรรมในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ที่โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลนาดี โรงเรียนวัดราษฏร์บำรุง (ไสวราษฎร์อุปถัมภ์) และโรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุปราษฎร์นุสรณ์) จ.สมุทรสาคร ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียน ก็ได้ประกอบกิจกรรมตามโครงการฯ คือ 1.การเสริมสร้างความตระหนักในตนเอง 2.การสร้างคุณค่าในตนเอง 3.ทักษะในการป้องกันตนเอง และ 4.แนวทางในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

นอกจากนี้ศูนย์เรียนรู้ฯ ภาคกลาง จ.นนทบุรี ยังได้เดินหน้าจัด “โครงการขยายผลกิจกรรมต้นกล้าครอบครัวในชุมชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการค้าประเวณี ประจำปีงบประมาณ 2560” เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนสหศึกษาบางบัวทอง จ.นนทบุรี เพื่อสร้างกลไกเครือข่ายการขับเคลื่อนการป้องกันการค้าประเวณี และเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจาก นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ

นายเลิศปัญญา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้โดยง่าย จึงทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมหรือค่านิยมที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภควัตถุนิยม การใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเกินตัว การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจนำไปสู่ปัญหาการขายบริการทางเพศ การค้าประเวณี หรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบของการค้ามนุษย์ ซึ่งโครงการนี้ จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการรับรู้และเข้าใจ และมีทักษะในการดำเนินชีวิตในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากกิจกรรมตามหลักสูตรได้บรรจุเนื้อหาที่มีความครอบคลุมอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องของการเสริมสร้างความตระหนักในตนเอง การสร้างคุณค่าในตนเอง การป้องกันตนเอง รวมไปถึงแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ทั้งนี้ การได้ส่งเสริมค่านิยมและประพฤติตนที่เหมาะสมตามวัย ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนร่วมกันสอดส่องดูแลพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการค้าประเวณี จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว และป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ได้ต่อไป

ขณะที่ด้าน นางสาวนฤมล พงษ์สุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จ.นนทบุรี เผยถึงแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 ว่า ศูนย์เรียนรู้ฯ ภาคกลาง จ.นนทบุรี ได้มุ่งผลักดันและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อต่อยอด ขยายผล พร้อมกับจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมุ่งสร้างแกนนำในสถาบันการศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้ง 15 จังหวัด ผ่านกลไก “ชมรมริบบิ้นขาว” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความพร้อมในการเป็นแกนนำระดับพื้นที่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานเชิงป้องกันด้านการค้าประเวณี ขณะเดียวกันก็ได้มีมาตรการการช่วยเหลือคุ้มครอง ที่เน้นฝึกทักษะอาชีพและสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ, มาตรการการป้องกัน ที่เน้นดำเนินงานกิจกรรมและต่อยอดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ เป็นภารกิจส่วนหนึ่งของ สค. ที่หวังพัฒนาศักยภาพของสตรีทุกด้าน ทุกระดับ เพื่อให้สตรีไทยมีความสามารถรอบด้าน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนและสังคม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของสังคม และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน