The Post : พลังของเพศหญิง และการตัดสินใจบนหลักของความอาทร

โดยพุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช

แม้ใครบางคนอาจเข้าไปดูหนังเรื่อง The Post โดยไม่รู้มาก่อนว่า เป็นหนังของพ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์อย่าง สตีเวนส์ สปีลเบิร์ก แต่ด้วยคุณภาพของนักแสดงนำ (ทอม แฮงส์, เมอรีล สตรีป) และความเข้มข้นของเนื้อหา คงไม่ยากหากเราจะนึกเทียบเคียงหนังเรื่องนี้กับภาพยนตร์รางวัลออสการ์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนทำสื่อในทำนองเดียวกัน อย่าง Spotlight (2015) ซึ่งแม้การเล่าเรื่องบางช่วงใน The Post อาจไม่ได้โดดเด่นเทียบเท่า แต่ก็มีประเด็นนำเสนอที่น่าติดตาม และเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน

The Post เล่าเรื่องการรั่วไหลของเอกสารลับทางการทหารในปี 1971 ที่ถูกนำออกมาโดยผู้สังเกตการณ์กองทัพ แดเนียลส์ เอลส์เบิร์ก ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับปฏิบัติการ และปฏิกริยาที่สหรัฐมีต่อสงครามเวียดนาม (1955-1975) โดยเกี่ยวพันกับการโกหกหลอกลวงประชนของประธานาธิบดีหลายคนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (เอกสารเปิดเผยปฏิบัติการทางทหารตั้งแต่สมัยของ ดไวท์ ดี ไอเซนฮาว, จอห์น เอฟ เคนเนดี, ลินดอน บี จอห์นสัน, ริชาร์ด นิกสัน รวม 4 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 1945-1967) ซึ่งต่อมาเอกสารดังกล่าวถูกส่งต่อไปถึงสำนักข่าวใหญ่อย่าง เดอะ นิวยอร์ก ทามส์ และเมื่อบางส่วนถูกตีพิมพ์ออกมา จึงทำให้เดือดร้อนไปถึง โรเบิร์ต แม็กนามารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐบาลของประธานาธิบดีนิกสัน ที่กำลังกุมบังเหียนอยู่ในขณะนั้น

ขณะเดียวกัน การตีพิมพ์เอกสารลับดังกล่าวของ เดอะ ทามส์ ก็ส่งผลกระทบไปถึงคู่แข่งยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งพิมพ์อย่าง วอชิงตันโพสต์ หรือเดอะ โพสต์ ของ แคเทอรีน แกรห์ม (เมอรีล สตรีป) ด้วย ซึ่งตอนนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะระส่ำระส่าย เนื่องจากแคเทอรีนเพิ่งเข้ามารับช่วงธุรกิจสิ่งพิมพ์ ต่อจากสามีของเธอที่เสียไป และกำลังต้องนำ เดอะ โพสต์ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรักษาสเถียรภาพทางการเงินของบริษัทเอาไว้

ซึ่งตั้งแต่เริ่มเรื่อง จะเห็นได้ว่า ตัวละครที่เป็นผู้หญิงไม่กี่คนในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อย่างแคเทอรีน ถูกฉายภาพคู่ขนาน และเทียบเคียงไปกับความเป็นชาย หรือตัวละครผู้ชายอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นฉากที่แคเทอรีนต้องเข้าประชุมกับบอร์ดบริหาร หรือเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ เราจะเห็นได้ว่า ผู้กำกับจงใจฉายภาพให้เห็นความแตกต่างชัดเจน ระหว่างแคเทอรีนที่อยู่นอกห้องประชุม รายล้อมด้วยผู้คนที่ให้ความสำคัญกับเธอ กับแคเทอรีนที่อยู่ท่ามกลางตัวละครเพศชายในห้องประชุม ที่ถูกบดบัง ลดทอน และไม่กล้าแม้แต่จะออกความคิดเห็น

ภาพของความแตกต่างดังกล่าวถูกขับเน้นให้ชัดมากขึ้นไปอีก เมื่อเรื่องราวของแคเทอรีน ถูกเล่าควบคู่ไปกับเรื่องการทำงานของกองบรรณาธิการข่าว ที่มี เบน แบรดลีย์ (ทอม แฮงส์) ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร

เราจะเห็นได้ว่า บุคลิกของแบรดลีย์ สะท้อนลักษณะเด่นของความเป็นชายอย่างชัดเจน คือเป็นคนที่มุทะลุ ดุดัน ชอบแข่งขัน กล้าได้กล้าเสีย และสามารถตัดสินใจอย่างรวดเร็วบนฐานของการใช้เหตุผล ซึ่งทั้งหมดแลดูตรงข้ามกับบุคลิกโดยรวมของแคเทอรีน ที่เป็นคนใจเย็น ประนีประนอม และมักชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย ของการกระทำอย่างระแวดระวัง เพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์ กับคนรอบข้าง

ซึ่งบุคลิกที่แตกต่างกันสุดขั้วแบบนี้เอง ที่เป็นส่วนสะท้อนประเด็นที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ เพราะหากเราตีความตามแนวคิดจริยศาสตร์ในวัฒนธรรมตะวันตก ตัวตนของเบนกำลังสะท้อนค่านิยมกระแสหลัก ที่ให้เราคำนึงถึงเหตุผล หรือพิจารณาให้ค่าการกระทำต่างๆ ด้วยหลักการที่ได้ผ่านเหตุผลก่อนเสมอ และรักษาหลักการดังกล่าวไว้ ให้เป็น “กฎ” ที่จะไม่ถูกสั่นคลอนด้วยอารมณ์ส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ตรงข้ามกับตัวตนของแคเทอรีน ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับ การให้ค่าแก่การกระทำ ที่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นร่วมด้วย

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า เมื่อความนิยมของคู่แข่งสำคัญอย่างเดอะทามส์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการตีพิมพ์บางส่วนของเอกสารลับ เบนและกองบรรณาธิการ (ที่ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย) จึงไม่รีรอ ที่จะตามหาเอกสารดังกล่าว เพื่อจะได้ตีพิมพ์ออกไปบ้าง และได้รักษาความนิยม จรรณายาบรรณของสื่อ หรือคุณค่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวพันกับตัวตนของทีม ในฐานะคนนำเสนอข่าวของ เดอะ โพสต์

จากตรงนี้ ในขณะที่เรื่องราวของการตามหาเอกสารยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ สปีลเบิร์กก็ฉายให้เราเห็นภาพความไม่ทุกข์ร้อนอย่างชัดเจนของแคเทอรีน เธอไม่ได้สนใจที่จะเป็นคู่แข่งของเดอะทามส์ เธอไม่ได้ต้องการเป็นที่หนึ่ง หรือต้องการเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ สิ่งที่เธอต้องการที่สุด มีเพียงการรักษาธุรกิจนี้ไว้ หลังจากการตายของสามีเท่านั้น

และด้วยเหตุนี้ เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดที่เธอจำต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ เกี่ยวกับการตีพิมพ์เอกสารลับ เราจึงเห็นแคเทอรีนดั้นด้นไปคุยกับโรเบิร์ต แมกนามารา ในฐานะ “เพื่อนเก่า” คนหนึ่ง ไม่ใช่การพูดคุยระหว่าง เจ้าของสิ่งพิมพ์และรัฐมนตรี

ซึ่งการกระทำดังกล่าวของแคเทอรีน เป็นส่วนสำคัญที่กำลังสะท้อนว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่หลักการเพียงอย่างเดียว แต่การให้คุณค่าแก่การกระทำ และการตัดสินใจ จะต้องรวมทุกสิ่ง รวมถึงความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ด้วย ซึ่งแม้แนวคิดแบบนี้มักถูกค่อนขอดว่าไม่อาจนำไปสู่การให้ค่า หรือตัดสินการกระทำได้อย่างยุติธรรม ตามค่านิยมหลักของโลกตะวันตก แต่หากเราประเมินจากผลลัพธ์ที่ออกมาในตอนท้าย จะเห็นได้ว่า กระบวนการตัดสินใจดังกล่าวของแคเทอรีน ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้ ไม่ต่างจากการคำนึงถึงหลักการ และเหตุผลเพียงอย่างเดียวของเบน

แต่จุดที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ เมื่อเบนตัดสินใจที่จะพิมพ์เอกสารลับตั้งแต่แรก โดยตัดบริบท และความสัมพันธ์ออกทั้งหมด กลับกลายเป็นตัวเบนเอง ที่ในตอนท้าย กลับรู้สึกสะทกสะท้านไปกับเรื่องราวเบื้องหลัง ที่รวมถึงความสัมพันธ์ และสิ่งต่างๆ ที่แคเทอรีนต้องแบกรับไว้ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง และในฐานะเจ้าของ เดอะ โพสต์

ซึ่งในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า คุณลักษณะของผู้หญิงที่สะท้อนผ่านตัวตนของแคเทอรีน ที่รวมการคำนึงถึง และประเมินความสัมพันธ์ หรือความอาทรที่มีต่อผู้อื่น ก่อนนำไปสู่การตัดสินใจนั้น นับว่ามีพลัง และสามารถส่งต่อผลกระทบต่อคนรอบข้างได้ไม่ต่างจากความเป็นชาย และหากลักษณะดังกล่าวไม่ได้ถูกกดทับไว้เสียแต่ต้น หนังเรื่อง The Post และความเข้าใจของเบนในตอนท้าย ก็อาจกำลังแสดงให้เราเห็นว่า ในบางบริบท มันอาจทรงพลังมากกว่าเสียด้วยซ้ำ