ไขปริศนา “จิมมี่ ชวาลา” บริจาค16ล้านให้ “ตูน บอดี้สแลม” ไม่ใช่เงินผม..เป็นเงินคนเมืองคอน !

หลังจากมีข่าวนายจิมมี่ ชวาลา พ่อค้าชาวไทยเชื้อสายอินเดีย เศรษฐีเมืองคอน มอบเงินจำนวน 16 ล้านบาทให้กับ “ตูน บอดี้แสลม” ในโครงการก้าวคนละก้าว ในนามชาวนครศรีธรรมราช ที่มีกำหนดการวิ่งมาถึงนครศรีธรรมราช ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 นั้น ทำให้คนฮือฮา และ อยากรู้ว่านายจิมมี่เป็นใคร

ก่อนจะรู้จักตัวตนของเขานายจิมมี่ ระบุว่า เงิน 16 ล้านบาทนั้นเป็นเงินของชาวนครศรีธรรมราช ประชากรของนครศรีธรรมราชที่มี 1.5 ล้านคนเศษ ทุกคนเป็นผู้ที่ร่วมกันทำบุญครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเงินของ “จิมมี่ ชวาลา”

สำหรับ “จิมมี่ ชวาลา” หรือ นายจิมมี่ ชวาลา พ่อค้าผ้าชาวไทยเชื้อสายอินเดีย นักธุรกิจค้าผ้า เจ้าของร้าน”จิมมี่” ซึ่งเป็นร้านผ้ารายใหญ่ที่สุดในเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจของจังหวัด ริมถนนราชดำเนิน บริเวณสี่แยกท่าวัง ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นร้านที่สืบทอดกิจการมาจากปู่ย่าและพ่อมาจนถึงตนเอง ถือว่าเป็นร้านค้าผ้าเก่าแก่ ทำธุรกิจตกทอดมาจากปู่สู่พ่อสู่หลาน ดำเนินการมานานร่วม 70 ปี

นายจิมมี่ มีปู่ชื่อ นายเดสราช ชวาลา ย่าชื่อนางวิทยา ขันตี ชวาลา พ่อของนายจิมมี่ ชื่อนายราม ชวาลา แม่ชื่อนางยานกี เดวี ชวาลา บรรพบุรุษเดินทางเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารไม่ต่ำกว่า 100 ปี น่าจะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คุณปู่กับคุณทวดของนายจิมมี่ เดินทางมาเมืองนครทางเรือมาขึ้นที่ปากพนัง “ร้านจิมมี่” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2500 เดิมชื่อ “ร้านนายชม” เป็นร้านของคุณทวดมาถึงคุณปู่

ก่อนพ่อกับแม่ของนายจิมมี่ จะแต่งงาน และเปิดร้านขายผ้าอย่างจริงจัง นายราม พ่อต้องต่อสู้อย่างปากกัดตีนถีบ เป็นนักมวยชื่อ “รามซิงค์ ศิษย์สุริยา” หลังแต่งงานกับนางยานกี เดวี ชวาลา ก็ดำเนินการร้านขายผ้าที่ตกทอดมาจากคุณทวดและปู่จนประสบความสำเร็จ กิจการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบธุรกิจขายผ้าอย่างเดียว กระทั่งธุรกิจตกทอดมาจนถึงนายจิมมี่ ชวาลา และสามารถบริหารจนประสบความสำเร็จสูงสุด

นายจิมมี่ เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนชูศิลป์วิทยา ศึกษาต่อจากคลาส 2 ถึงคลาส 9 ที่ Wynberg-Allen High School ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่ครูอาจารย์เป็นชาวยุโรป โรงเรียนตั้งอยู่ที่ Mussoorie City ใน Uttra Pradesh State ประเทศอินเดีย และศึกษาต่อระดับ 10-11 ที่ Bishop-Cotton School ที่ Simla City ใน Himachal Pradesh State ประเทศอินเดีย ก่อนประกอบธุรกิจค้าผ้า ชอบบริจาคเงินช่วยเหลือสังคม จนได้ฉายา “เศรษฐีใจบุญ”

นายจิมมี่ กล่าวว่า มีคนถามมากมายว่าทำไมจึงเป็นคนใจบุญ จึงขอตอบตรงว่า เงินนี้เป็นเงินของพี่น้องประชาชนชาวนครศรีธรรมราช ร้านนี้เช่าตั้งแต่เดือนละ 1 บาท ซึ่งยังมีหลักฐานเป็นใบเสร็จเก็บค่าเช่า ครอบครัวตนอยู่เมืองไทยมา 6 ชั่วคน ต้องขอขอบคุณชาวนครศรีธรรมราชที่สนับสนุนครอบครัว “ชวาลา” มาโดยตลอด ที่กล่าวว่าเงินนี้ไม่ใช่ของตน แต่เป็นเงินของชาวนครศรีธรรมราชที่มาจุนเจือให้ครอบครัวของตนอยู่ได้

“ผมได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมอบให้กับภรรยา ส่วนที่ 2 จะเก็บไว้เพื่อความมั่นคงของกิจการ อย่างเช่น เกิดกรณีไฟไหม้อาคารใกล้ๆ หากร้านผมเสียหายก็สามารถนำเงินในส่วนที่ 2 มากอบกู้กิจการได้ทันที สามารถจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานจนกว่าจะเปิดกิจการได้ใหม่ สามารถซื้อสินค้าใหม่มาบริการชาวนคร และในส่วนที่ 3 จะมัดสายยางใส่กระเป๋าไว้เสมอ ใช้เพื่อความสบายใจของตัวเอง”

ซึ่งเงินส่วนที่ 3 นี้เอง ที่เมื่อสะสมไว้มากเข้า ก็ได้นำมาตอบแทนสังคม และ พี่น้องชาวไทย ยิ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วยิ่งมีความสำคัญมาก เพราะกลุ่มลูกค้าจะอยู่ที่นี่เป็นหลักที่กรุณาตน เป็นทั้งเพื่อนทั้งญาติมิตร จึงตอบแทนโดยไม่มีความเสียดายแม้แต่น้อย ซึ่งกิจการของตนเปรียบเสมือนรถไฟ คุณทวดคุณปู่เป็นผู้ปูราง พ่อสร้างหัวรถจักร มาถึงยุคตนเป็นเพียงคนขับเท่านั้น ทำให้สามารถอยู่ได้มาจนถึงขณะนี้

เศรษฐีผู้ใบบุญ ตบท้ายเป็นข้อคิดด้วยว่า เศรษฐี กับ คนรวย นั้นมีความหมายต่างกันในทัศนะของตน คนรวยคือคนที่มีทรัพย์ มีเงิน อาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่าง แต่เศรษฐีที่แท้จริงคือคนที่มีทรัพย์ คนที่มีเงิน มีทรัพย์สิน และมีน้ำใจประเสริฐที่สุด คือมีใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา บางคนมีเงินแสนล้านก็เป็นได้แค่คนรวย แต่บางคนคนมี 5 ล้าน 1 ล้าน 1 แสน ก็เป็นเศรษฐีได้ ถ้าเขามีน้ำใจ…ตรงนี้เองที่ทำให้คนรวยกับเศรษฐีแตกต่างกัน