นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ไขปริศนากลิ่นไหม้-แสบจมูกคืน 20 มี.ค.

smoke
ภาพจาก pixabay.com โดย axonite

สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์ที่คนกรุงเทพฯ ได้กลิ่นไหม้-รู้สึกแสบจมูกเมื่อคืน 20 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา

วันที่ 21 มีนาคม 2567 เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาชาวกรุงเทพฯ หลายคนต่างรู้สึกถึงกลิ่นไหม้ พร้อมกับอาการแสบจมูก-ตา จนมีการโพสต์แจ้งเหตุและสอบถามหาสาเหตุในโซเชียลกันอย่างคึกคัก ล่าสุด สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายสาเหตุการเกิดกลิ่นไหม้ และอาการแสบตา-จมูก ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ

โดย สนธิ คชวัฒน์ ระบุว่า การเกิดเหตุกลิ่นไหม้แสบตาแสบจมูกแบบเจือจางใน กทม. คืนวันที่ 20 มี.ค. 67 น่าจะมาจากสาเหตุดังนี้

1.สถานการณ์สภาพอากาศใน กทม. วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ฝนตกหนักหลายพื้นที่ในช่วงเช้าและฝนตกเกือบทั้งวัน หลังฝนตกในช่วงเช้า และช่วงกลางคืนจึงมีความชื้นสูงมากที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ

2.ก่อนหน้านั้นอากาศร้อนปกคลุม กทม.มาหลายวัน เมื่อมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นพัดเข้าปะทะทำให้ฝนตกลงมาค่อนข้างมาก การที่มวลอากาศเย็นพัดปกคลุมพื้นที่ทำให้อากาศปิด อัตราการระบายอากาศในแนวดิ่งเกิดได้น้อยและลมค่อนข้างนิ่ง

มลพิษทางอากาศทั้งฝุ่น PM 2.5 และอนุภาคของกำมะถัน คาร์บอนต่าง ๆ มีปริมาณมากจากรถยนต์ การเผาในที่โล่ง และโรงงานต่าง ๆ ที่เกิดตลอดวันใน กทม. จะลอยไปสะสมอยู่ในบรรยากาศใกล้ผิวโลก เมื่อรวมกับ O2 กลายเป็น SO3, CO2 เป็นต้น สะสมในบรรยากาศ

เมื่ออากาศมีความชื้นสูงจึงทำปฏิกิริยากับ SO3 และ CO2 กลายเป็นกรดซัลฟิวริกและกรดคาร์บอนิก บางส่วนแตกตัวเป็น SO2 และ CO2 ด้วย กรดซัลฟิวริกปกคลุมผิวดินทำให้เกิดอาการแสบตาแสบจมูกได้ และ SO2 จะมีกลิ่นคล้ายกำมะถันและกลิ่นไหม้

แต่ทั้งหมดไม่ได้มีอันตรายต่อสุขภาพ เพราะเจือจางแล้ว เพียงแค่ได้กลิ่น หากความชื้นในอากาศน้อยลงและลมพัดแรงขึ้นเหตุการณ์นี้ก็จะหายไป