รพ.จุฬาภรณ์ เปิดตัว “ดิจิทัลเพทซีที” วินิจฉัยมะเร็งสุดแม่นยำแห่งแรกในเอเชีย

ยิ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนามากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการรักษาช่วยชีวิตผู้ป่วยยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยและประสิทธิภาพสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโรงพยาบาล แพทย์ และผู้ป่วย

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เปิดตัว เครื่องดิจิทัลเพทซีที (Digital PET/CT) และเริ่มเปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในเอเชียที่มีการใช้เครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคระบบประสาท และโรคหัวใจที่ทันสมัยที่สุด ณ เวลานี้

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ด้วยปรัชญาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” จึงมีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นเลิศมาให้ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงได้เปิดตัวเครื่อง “ดิจิทัลเพทซีที” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ให้บริการเป็นแห่งแรกในเอเชีย เพื่อรองรับการให้บริการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โรคระบบประสาท และโรคหัวใจ เพื่อมุ่งหวังให้โรงพยาบาลจุฬากรณ์เป็นโรงพยาบาลของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาสที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลยึดถือตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินงานมา

รศ.พญ.ชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ดิจิทัลเพทซีที (Digital PET/CT) Biograph Vision เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดที่มีคุณสมบัติสามารถทำการเก็บข้อมูลแบบ dynamic whole body แบบ real time ได้ เพื่อนำมาสร้างภาพและสามารถบ่งชี้ถึงระดับเมตตาบอลิซึมของสารเภสัชรังสีออกมาเป็นค่าเชิงตัวเลข (quantitative) ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ทำให้สามารถประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจง

คุณสมบัติของเครื่อง คือ มีการตอบสนองที่ดีต่อรังสีความแรงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยได้กับสารรังสีหลายชนิดมากขึ้น มีขนาดคริสตัลที่ใช้ในการทำหัวนับวัดรังสีเล็กที่สุดในปัจจุบัน ทำให้ได้ภาพ

ที่มีรายละเอียดสูงมาก สามารถสร้างภาพได้อย่างชัดเจนแม้มีรอยโรคขนาดเล็ก ทำให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น สามารถเก็บค่านับวัดได้ในเวลาที่รวดเร็ว ลดระยะ

เวลาในการสแกนลงถึง 3 เท่า มีค่า time of flight สั้นที่สุดในปัจจุบัน สามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียดและความชัดเจนสูง เพื่อลดการใช้รังสีกับผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีลดลง และลดระยะเวลาในการตรวจให้สั้นที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยได้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ความแตกต่างของเครื่องดิจิทัลเพทซีทีกับเครื่องเพทซีที (PET/CT) คือ เครื่องในอดีตจะรายงานค่า SUV ซึ่งเป็นค่าสะสมการสะสมของน้ำตาล แต่ในเครื่องดิจิทัลเพทซีทีสามารถวิเคราะห์การใช้น้ำตาล (Ki) ในรอยโรคนั้น ๆ ได้ ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การวางแพทย์รักษา และการติดตามผลการรักษา มีระบบซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถลด metal artifact ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขยายบริเวณในการเก็บภาพออกไปเพื่อครอบคลุมบริเวณรอยโรคทั้งหมด มีระบบ AI ช่วยระบุตำแหน่งของอวัยวะหรือรอยโรคในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพื่อทำการคำนวณได้โดยอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ มีเทคนิคใหม่ในการถ่ายภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงหน้าอก ช่องท้อง หัวใจ เป็นการแก้ไขการสั่นไหวของภาพโดยไม่เพิ่มเวลาในการถ่ายภาพ ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัด โดยผู้ป่วยไม่ต้องกลั้นหายใจ ซึ่งคุณสมบัติของดิจิทัลเพทซีทีนี้นับเป็นมิติใหม่ของการตรวจวินิจฉัยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ได้รับประโยชน์ทั้งในส่วนทีมแพทย์ผู้วางแผนรักษา และผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจด้วยการสแกนที่มีความรวดเร็วและได้ภาพคมชัดสูง

นอกจากนี้ บริเวณช่องรับตัวผู้ป่วย (ที่เรียกกันว่าอุโมงค์) มีความกว้างมากถึง 78 เซนติเมตร และขนาดอุโมงค์ที่สั้น ทำให้ลดความอึดอัด เพิ่มความสบายให้ผู้ป่วยระหว่างการตรวจ

รศ.พญ.ชนิสาแนะนำว่า ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องนี้ควรเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยมาแล้วว่าเป็นโรคมะเร็ง โรคระบบประสาท หรือโรคหัวใจ แต่ตรวจหารอยโรคไม่เจอว่าเป็นตรงจุดไหน หรือมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดแม่นยำกว่าการตรวจวินิจฉัยทั่วไป เช่น คนไข้ที่ตรวจเลือดแล้วผลเลือดบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็ง แต่ตรวจไม่เจอว่าเป็นโรคตรงจุดไหน

นอกจากนั้น ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ขอพระราชทานพระอนุญาตใช้ภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ชื่อภาพ

“ความรักที่ไม่สามารถจินตนาการได้สำหรับคนไทย” ในชุดภาพ “หลากหลาย หลายชีวิต” มาตกแต่งภายในห้องตรวจดิจิทัลเพทซีทีด้วย ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ ไม่เกิดภาวะเครียดในขณะตรวจดั่งที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระดำรัสว่า “ศิลปะทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้าจึงอยากแบ่งปันความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย”

สำหรับอัตราค่าบริการตรวจวินิจฉัยระบบประสาทด้วยเครื่องดิจิทัลเพทซีที ราคาเริ่มต้น 10,000 บาท ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง ราคาเริ่มต้น 20,000 บาท โดยเปิดให้บริการทุกวัน สามารใช้ได้ทุกสิทธิ์การรักษาพยาบาล หากเป็นผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยใช้สิทธิ์จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าตรวจ แต่ในกรณีที่โรงพยาบาลไม่ได้ส่งตัว ผู้ป่วยอยากตรวจเอง จะต้องจ่ายค่าตรวจเอง