มีบุตรยาก…ไม่ใช่ปัญหาแก้ยากอีกต่อไป

ในยุคสมัยก่อน ปัญหามีบุตรยากถือเป็นเรื่องยากในชีวิตครอบครัวจริง ๆ สามีและภรรยาหลายคู่หมดความหวังถึงกับต้องขอลูกคนอื่นมาเลี้ยง แต่ในปัจจุบันนี้ การมีบุตรยาก ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีเทคโนโลยีการแพทย์มากมายที่ช่วยได้

แพทย์หญิงอัญชุลี พฤฒิวรนันทน์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลวิภาวดี บอกว่า ปัจจุบันพบว่าในบรรดาคู่สามีภรรยาทั้งหลายจะมีปัญหามีบุตรยากประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเกิดจากผู้หญิงร้อยละ 40 ผู้ชายร้อยละ 40 เกิดจากทั้งคู่ร้อยละ 10 และอีกร้อยละ 10 ไม่ทราบสาเหตุ

คนไข้ที่เข้ามาปรึกษาบ่อยได้แก่ กลุ่มผู้หญิงอายุเกิน 35 ปี และมีความกังวล นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้หญิงที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ ฮอร์โมนผิดปกติที่มีภาวะทำให้ไข่ไม่ตกก็เสี่ยงในการมีบุตรยากเช่นกัน

แต่สำหรับผู้ชายไม่ค่อยมีใครรู้มาก่อนและไม่พบปัญหา นอกจากตรวจน้ำเชื้อเพื่อหาความผิดปกติ

ส่วนขั้นตอนการรักษานั้น แพทย์หญิงอัญชุลีบอกว่า จะต้องมีการตรวจเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หลังตรวจเสร็จแพทย์จะประเมินว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วแก้ไขตามสาเหตุ บางคนเจอโรคก็รักษาโรคก่อน ถ้าพบคนไข้คู่ที่มีปัจจัยเสี่ยงมากและไม่น่าจะตั้งครรภ์ง่าย อาจจะข้ามไปทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งปัจจุบันมีคนไข้ที่เลือกการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

แพทย์หญิงอัญชุลีบอกต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ช่วยให้มีบุตรเป็นที่ต้องการมากขึ้น บางคนมาพบแพทย์บอกว่าอยากมีลูกแฝด ซึ่งแพทย์คงไม่สามารถทำให้ได้ เพราะการท้องลูกแฝดถือเป็นการตั้งครรภ์เสี่ยงรูปแบบหนึ่ง

การใช้เทคโนโลยีช่วยเรื่องการมีบุตรยากหลัก ๆ ยังคงเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว โดยการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งโอกาสที่จะตั้งครรภ์มีประมาณ 30% มีเพียง 2-3% เท่านั้นที่จะได้ลูกแฝด 2 คน และมีเพียง 1% เท่านั้นที่จะมีแฝดเกินกว่า 2 คน การทำเด็กหลอดแก้วต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า มีภาวะการมีบุตรยากด้วยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง ในยุโรปมีกฎชัดเจนว่า ห้ามย้ายตัวอ่อนเกินกว่า 2 ตัวอ่อน ส่วนในเอเชียไม่มีกฎตายตัว