เป้าหมาย “กำจัดมาลาเรีย” ยังท้าทาย เพราะเชื้อโรคดื้อยา

มาลาเรีย เป็นโรคที่เราไม่ค่อยได้ยินข่าวการแพร่ระบาดอย่างมากเหมือนยุคก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่โรคที่หมดไป ยังมีการแพร่ระบาดและสร้างความเสียหายอยู่ไม่น้อย และมีแนวโน้มว่าจะจัดการกำจัดโรคให้หมดไปนั้นเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเชื้อโรคพัฒนาตัวเอง และดื้อต่อยาขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมาลาเรียที่ร่วมทำการสำรวจเกี่ยวกับมาลาเรียในเอเชีย ได้เปิดเผยรายงานมาลาเรียฟิวเจอร์สฟอร์เอเชีย (Malaria Futures Asia) เมื่อเร็ว ๆ นี้ รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าในการกำจัดโรคมาลาเรีย จัดทำโดยนักวิจัยอิสระด้านนโยบาย โดยการสนับสนุนของโนวาร์ตีส บริษัทผลิตยารักษาโรคมาลาเรีย

รายงานฉบับใหม่นี้บอกว่า มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ในการกำจัดโรคมาลาเรีย เนื่องจากเชื้อโรคมีการดื้อต่อมาตรการป้องกันและการรักษาในปัจจุบัน และรายงานนี้เรียกร้องให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาและวิจัยยารักษาโรคมาลาเรีย และยาฆ่าแมลงตัวใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการกำจัดโรคมาลาเรีย ภายในปี พ.ศ. 2573

รายงานฉบับนี้ถูกจัดทำในสถานการณ์ที่การกำจัดโรคมาลาเรียคืบหน้าไปมาก โดยมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อต่อพันคนลดลงกว่าร้อยละ 60 นับจากปี พ.ศ. 2553

ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการสำรวจเกือบ 2 ใน 3 เชื่อว่า ภูมิภาคเอเชียจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการกำจัดเชื้อมาลาเรียประเภท P. falciparum ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถกำจัดมาลาเรียสายพันธุ์ P. vivax ได้ภายในปี พ.ศ. 2573

ในส่วนการสำรวจในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีแผนกลยุทธ์ระดับชาติในการยุติโรคมาลาเรีย และมีกลยุทธ์แบบบูรณาการ ซึ่งตั้งเป้าหมายในการ

กำจัดมาลาเรียให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยมีแรงสนับสนุนทางการเมืองที่เข้มแข็งเพื่อกำจัดมาลาเรีย มีเงินช่วยเหลือจากผู้บริจาค แผนการรักษามาลาเรียได้ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบการรักษาในแนวดิ่งที่เน้นแต่โรคมาลาเรีย ไปสู่แนวราบที่ควบคู่ไปกับแผนงานสุขภาพขั้นพื้นฐาน แต่มีความท้าทายจากการขาดแคลนบุคลากรและการเกษียณอายุของผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรีย

ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขององค์การนานาชาติมาลาเรียอาร์บีเอ็มเพื่อการกำจัดมาลาเรีย และประธานร่วมของการสำรวจ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้วางนโยบายและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ในเรื่องความคืบหน้า ความท้าทาย และโอกาสในการกำจัดโรคมาลาเรีย

“ขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ามีความคืบหน้าในการกำจัดโรคมาลาเรีย บางคนอาจมีความมั่นใจมากเกินไป การเพิกเฉยเป็นเรื่องอันตราย ผมต่อสู้กับโรคมาลาเรียมาเกือบทั้งชีวิต และรู้ดีว่าการต่อสู้ในขั้นสุดท้ายเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการกำจัดโรคมาลาเรีย” ศ.ยงยุทธกล่าว

การที่เชื้อดื้อต่อยาฆ่าแมลงและยากลุ่มอาร์ติมิซินินได้ก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ผู้ร่วมการสำรวจบางคนเชื่อว่าภูมิภาคนี้จะสามารถควบคุมปัญหานี้ได้ พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการกำจัดโรค ขณะที่บางคนมีความเชื่อมั่นน้อยกว่า ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดกล่าวว่า การสนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยาฆ่าแมลงและการรักษาโรคเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันทางโนวาร์ตีสกำลังทดลองยารักษาโรคมาลาเรียเชิงคลินิกในประเทศไทย และเวียดนาม ในกรณีที่ภาวะดื้อยากลุ่มอาร์ติมิซินินนั้นแพร่กระจายไป

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โรคมาลาเรียที่ยังระบาดอยู่ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ส่วนใหญ่ปรากฏในพื้นที่ป่าที่เข้าถึงยาก ในประชากรที่อาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หรือผู้อพยพ พื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นพื้นที่ชายแดนที่ห่างไกล ดังนั้น การเก็บข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับการวินิจฉัย การรักษา และการดูแล จึงเป็นเรื่องท้าทาย

ขณะที่ภูมิภาคนี้ได้เข้าใกล้ความเป็นจริงในการกำจัดมาลาเรีย หลายฝ่ายเห็นว่า การผสมผสานงานด้านมาลาเรียควบคู่ไปกับระบบการดูแลสุขภาพหลักเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ผู้ร่วมการสำรวจมีความกังวลว่าทักษะของผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะในด้านการวินิจฉัยโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์ อาจถูกกลืนหายไปในกระบวนการดังกล่าว

ดร.ศรีนาถ เรดดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งอินเดีย และประธานร่วมของการศึกษา MalaFAsia กล่าวว่า การพัฒนาระบบการดูแลขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมมีความสำคัญมาก เนื่องจากภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคเรื้อรังที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญต้องพยายามรักษาความรู้ความชำนาญด้านโรคมาลาเรียที่จำเป็นไว้ เพื่อให้บรรลุผลในการกำจัดมาลาเรีย