ถ่ายเป็นเลือด อาจไม่ใช่ริดสีดวง แต่เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

หากมีอาการขับถ่ายแล้วมีเลือดออก หลายคนมักคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร ไม่ทันคาดคิดว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของเนื้องอกหรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เพราะบางอาการมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตและไม่ควรชะล่าใจในการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ เพื่อทำการรักษาได้ถูกวิธีก่อนสายเกินแก้

ศ.(พิเศษ) นพ.อัฑฒ์ หิรัณยากาศ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้อำนวยการคลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า เมื่อคนไข้สังเกตว่า มีเลือดออกปนมากับอุจจาระ คนส่วนใหญ่อาจคิดเองว่าเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก แต่อาการลักษณะคล้ายกันนั้นอาจนำไปสู่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มะเร็งลำไส้ตรงหรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (rectal cancer) อาจแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น ถ่ายมีเลือดสดปนกับอุจจาระ หากเป็นมากอาจมีก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ซึ่งอาการแสดงขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน และตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่พบ

กรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะเป็นวิธีที่ช่วยแยกโรคให้ชัดเจนขึ้นเพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม ปกติแล้วหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดคือเป็นตัวที่ช่วยในเรื่องการกลั้นหรือการขับถ่าย หากก้อนมะเร็งอยู่ตรงบริเวณกล้ามเนื้อหูรูด แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา หากเป็นวิธีการรักษาแบบเดิม แพทย์อาจต้องผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูดออกไปด้วยเพื่อให้สามารถตัดก้อนออกได้หมด ซึ่งจะทำให้คนไข้ต้องขับถ่ายผ่านถุงทางหน้าท้องไปตลอดชีวิต แต่ในปัจจุบัน มีการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

ส่วนปลายด้วยเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายแบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (sphincter saving surgery) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการรักษา เพื่อไม่ให้คนไข้ต้องขับถ่ายผ่านทางถุงหน้าท้องไปตลอดชีวิต

นอกจากนั้น ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การรักษาโรคนี้ด้วยการฉายรังสีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษา จะเพิ่มโอกาสการผ่าตัดเก็บกล้ามเนื้อหูรูดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ไม่ต้องใช้การขับถ่ายผ่านถุงหน้าท้อง

รศ.นพ.ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย แพทย์รังสีรักษา ผู้อำนวยการศูนย์รังสีรักษาวัฒโนสถ โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะใช้การผ่าตัดเป็นวิธีหลัก ใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริมหรือร่วมกับการผ่าตัด การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีในอดีต ขั้นตอนการฉายรังสีมักจะตามหลังการผ่าตัด แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลบ่งชี้ว่า การฉายรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดจะช่วยลดขนาดของก้อนและลดระยะของรอยโรค เพิ่มโอกาสในการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด และเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดแบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีรอยโรคอยู่ใกล้กับหูรูดของทวารหนัก นอกจากนี้ การเกิดภาระแทรกซ้อนต่าง ๆ ต่อกระเพาะปัสสาวะและลำไส้เล็กในอุ้งเชิงกรานก็ลดลง โอกาสเกิดการกำเริบของโรคในช่องเชิงกรานน้อยลง

รู้ข้อมูลอย่างนี้แล้วหากสังเกตเห็นเลือดออกจากทวารหนัก อย่าคิดว่าเป็นริดสีดวงทวารเท่านั้น ควรตื่นตัวและเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง