นอนน้อยก็อยู่ได้… แต่เสี่ยงโรคมากกว่า

การนอนหลับเป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจรายละเอียด เพราะในการนอนนั้นมีอะไรหลาย ๆ อย่างแฝงอยู่ นอนอย่างไรให้เราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ นอนอย่างไรให้สุขภาพดี นอนเท่าไหร่ถึงจะพอ

พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์
แพทย์ชะลอวัยทางด้านสุขภาพของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนอนหลับว่า การนอนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้นั้นใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้าอยากสวย มีงานวิจัยบอกว่าควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง เพราะในเวลาหลับร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่กำจัดสารอนุมูลอิสระต่าง ๆ

การนอนพักผ่อนเพียงพอจะเกิดผลดีในระยะยาว หลัก ๆ 3 ข้อ คือ 1.สุขภาพดี ไม่มีโรค เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ 2.ผิวพรรณอ่อนเยาว์ 3.การซ่อมแซมกล้ามเนื้อดี ทำให้รูปร่างดี ออกกำลังกายให้กล้ามขึ้นง่าย

นอกจากนั้นยังมีผลดีต่ออารมณ์ เพราะบางช่วงการนอนเป็นการจัดการสมอง คนที่นอนน้อยจะหงุดหงิดง่าย

ถึงแม้คุณหมอจะบอกว่านอน 3-4 ชั่วโมงก็มีชีวิตอยู่ได้ แต่นั่นคือการนอนขั้นต่ำที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่การนอนที่เพียงพอและดีต่อสุขภาพ

คุณหมอบอกว่ามีงานวิจัยในฝั่งยุโรปซึ่งทำวิจัยในกลุ่มคนอายุ 25-70 ปีพบว่า กลุ่มคนที่นอน 7-10 ชั่วโมง พออายุมากขึ้นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจต่ำกว่าคนที่นอน 3-4 ชั่วโมงถึง 48 เปอร์เซ็นต์

“เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่านอนแค่ 4 ชั่วโมงก็พอ มันส่งผลในระยะยาว การนอนน้อยเกินไปเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค และสำหรับกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกล้าม ถ้านอนไม่พอ กล้ามจะไม่ขึ้นหรืออาจจะขึ้นช้า เพราะว่าโกรทฮอร์โมนทำงานน้อย อีกทั้งยังเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนัก อาจเป็นเพราะนอนน้อย กินเยอะทำให้อ้วน”

“แต่ละคนมีความต้องการพักผ่อนมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉลี่ยการพักผ่อนที่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงจะทำให้ร่างกายขาดความกระตือรือร้น ตอบสนองช้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทั้งยังอาจนำไปสู่ปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น” พญ.วรรณวิพุธสรุป