ตะลุยหิมะ ตามล่าแสงเหนือ Work-Life Balance ณ ไอซ์แลนด์

พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์ : เรื่อง

“นั่นไง ที่เห็นเป็นแถบขาว ๆ บนฟ้านั่นแหละ แสงเหนือ ถ้าเข้ม ๆ กว่าถึงจะเป็นสีเขียว” ใครคนหนึ่งในทริปตะโกนบอก “เอาขาตั้งกล้องมาเร็ว ๆ” อีกเสียงสำทับ

ปรับกล้องให้เป็นแมนวล ตั้งหน้ากล้องให้กว้าง ๆ ใช้ชัตเตอร์สปีดต่ำ ๆ คือคำแนะนำที่เราได้ยินก่อนการเดินทางครั้งนี้

“เห็นแล้ว” จริง ๆ ด้วย ภาพที่ปรากฏผ่าน view finder เขียวปั๊ดเลย

พลขับสัญชาติโรมาเนียซึ่งย้ายถิ่นมาหากินไกลถึงไอซ์แลนด์ ค่อย ๆ ฝ่าความมืด โค้งแล้วโค้งเล่า จนมาหยุดสนิทที่คีร์กจูเฟล (Kirkjufell) อีกหนึ่งโลเกชั่นที่นักท่องเที่ยวนิยมไปไล่ล่าแสงเหนือ

ถึงแม้ลมจะแรง พัดขาตั้งกล้องแทบปลิว อากาศยามดึกดิ่งลดต่ำติดลบมากกว่าสิบกว่าองศา แต่เมื่อมีโอกาสได้เห็นแสงเหนือสีเขียวเข้มพาดผ่านเต็มท้องฟ้าด้วยตาเปล่า ความเหนื่อยล้า อาการเจ็ตแล็กจากการเดินทาง หายไปไม่รู้ตัว

“นี่แค่คืนแรก เรายังอยู่ที่นี่กันอีกหลายคืน ผมว่าเราน่าจะเห็นที่สวยกว่านี้อีก” หัวหน้าก๊วนออกอาการปลื้มปริ่ม

จริงอยู่ “แสงเหนือ-ออโรร่า” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติในเขตขั้วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคอาร์กติก เกิดขึ้นตลอดทั้งปี
แต่ช่วงเวลาที่เห็นด้วยตาเปล่าจะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ไปสิ้นสุดประมาณมีนาคม-เมษายนของทุกปี

ข้อมูลผ่านตาก่อนเดินทาง ทำให้มีความรู้งู ๆ ปลา ๆ ว่า แสงเหนือเกิดขึ้นจากพายุสุริยะ เนื่องจากการระเบิดของพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่ปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก

ที่เราเห็นแสงเหนือด้วยตาเปล่า เนื่องมาจากฤดูหนาวเขตขั้วโลกท้องฟ้าจะมืดสนิท ต่างจากฤดูร้อน (ซึ่งก็ยังหนาวอยู่ดีสำหรับคนไทย) ที่กลางวันยาวกว่ากลางคืนมาก

แม้ช่วงเวลาที่ว่าจะมีโอกาสเห็นแสงเหนือมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าแสงเหนือจะปรากฏตัวให้เห็นทุกคืน ขึ้นชื่อว่าธรรมชาติมีตัวแปรอื่น ๆ ที่เราคาดไม่ถึงเสมอ

ตัวช่วยในการไล่ล่าแสงเหนือที่ขาดไม่ได้ คือ แอปพลิเคชั่นวัดค่า KP index เพื่อวัดค่าการสั่นสะเทือนของสนามแม่เหล็กโลก ตั้งแต่ 0-9 ตัวเลขยิ่งสูง ยิ่งชัดเจน ถ้าวัดได้ตั้งแต่ 0-1 แทบไม่ต้องลุ้น ถ้า 1-2 โอกาส 50-50 ซึ่งอาจมองด้วยตาเป็นแค่แถบขาว ๆ ต้องยกกล้องจับภาพแช่ไว้ถึงเป็นสีเขียว ถ้าตัวเลขสูงกว่านี้แสดงว่าเห็นแน่ ๆ ยิ่งค่า KP index สูงมาก ๆ แสงเหนือจะส่ายไปมา ราวกับเต้นระบำกลางท้องฟ้าเลยทีเดียว

ถามว่า KP index ทำนายได้ล่วงหน้าหรือเปล่า ผู้รู้บอกว่าอย่างมากแค่ 2 วัน การเห็นแสงเหนือด้วยตาเปล่า โชคชะตาจึงมีส่วนไม่น้อย

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถมองข้ามได้ นั่นคือสภาพอากาศโดยรวม ฟ้าต้องสดใส ไม่มีเมฆปกคลุม ถ้าคืนนั้นเมฆปกคลุมไปทั้งท้องฟ้าให้เตรียมตัวเตรียมใจได้เลย

นอกจากไอซ์แลนด์ที่เป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมสำหรับนักล่าแสงเหนือ ยังมีโลโฟเทน และทรอมโซ่ นอร์เวย์, แลปแลนด์ฟินแลนด์ รวมทั้ง มูร์มังสก์ รัสเซีย เช่นเดียวกับ อลาสก้า แคนาดา และนิวซีแลนด์ ใกล้ ๆ ขั้วโลก ก็สามารถมองเห็นแสงเหนือ แต่อาจไม่ได้รับความนิยมเท่า 4 ประเทศแรกที่ว่าไป

สำหรับนักท่องเที่ยวไทย เป็นความจริงว่าช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา การได้เห็น “แสงเหนือ” ด้วยตาทั้งสองข้าง เป็นความฝันของคนไทยจำนวนมากมาย

โลกในยุคโซเชียลมีเดียทำให้สถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติแปลกตาจากทุกมุมโลก ถูกเผยแพร่ออกไป เป็นแรงกระตุ้นชั้นดี บวกเข้ากับการจัดสมดุลใหม่ในชีวิต work-life balance เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา
บ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์มนุษย์ออฟฟิศรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในเวลางานเขาเหล่านั้นจะทุ่มเทอย่างหนัก แต่เมื่อหมดชั่วโมงทำงานจะขอใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ปิดสวิตช์ ปิดการติดต่อจากออฟฟิศ แฮงเอาต์ สังสรรค์ พร้อมใช้จ่ายเพื่อซื้อหาสิ่งที่คิดว่า นี่คือความสุข ได้ท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตาในสถานที่ใหม่ ๆเหมือนทริปนี้ที่เพื่อนร่วมทางกว่าครึ่ง คือ มนุษย์งานที่ว่า แม้การเดินทางจะต้องใช้เวลายาวนาน ทั้งรอต่อเครื่อง กว่าจะถึงร่วม ๆ 24 ชั่วโมง หนึ่งวันเต็ม ๆ ที่เสียไปกับการเดินทาง เมื่อไปถึงแล้ว ยังต้องเจออากาศหนาวเหน็บติดลบ แต่ก็ยังมีคนดั้นด้นไปที่นี่เพิ่มขึ้นทุกปี รวม ๆ แล้ว ไอซ์แลนด์ คือ เกาะดี ๆ นี่เอง ไม่มีชายแดนติดกับประเทศใด ๆ ประชากรทั้งประเทศยังเบาบางแค่ 4 แสนคน เกือบครึ่งอยู่ในเมืองหลวงที่ชื่อ เรกยาวิก (Reykjavik) ภูมิประเทศของไอซ์แลนด์ยังแปลกตา เนื่องจากกำเนิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ข้อมูลมากมายในโซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราว รูปถ่าย เส้นทางการเดินทาง ฯลฯ บรรดานักท่องเที่ยวรู้ดีว่า ไอซ์แลนด์ไม่ได้มีดีแค่ “แสงเหนือ” แต่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชนิดหาดูที่ไหนไม่ได้ในโลกนี้ ทุ่งลาวา สุดลูกหูลูกตา กราสเซีย-ธารน้ำแข็ง, โพรงน้ำแข็ง เหมือนอีกโลกหนึ่งขับสโนว์โมบิลขึ้นไปชมปากปล่องภูเขาไฟ น้ำพุร้อนที่พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าทุก ๆ 10-15 นาทีไอซ์แลนด์รายล้อมไปด้วยแหล่งดูปลาวาฬตามธรรมชาติ ฯลฯ

วิธีท่องเที่ยวยังหลากหลาย แต่ที่กำลังนิยมในหมู่คนไทย คือ เช่ารถขับเที่ยวไปเรื่อย ๆ ตามเส้นทางถนนเป็นวงกลมรอบเกาะ ค่ำไหนนอนนั่น แวะโรงแรม-รีสอร์ตรายทาง หรือใช้รถเป็นที่นอนก็ไม่ผิดกติกา

คำเตือนการขับรถท่องเที่ยวโดยเฉพาะในฤดูหนาว อย่ามองข้ามพยากรณ์อากาศ และคำแนะนำจากป้ายการขับขี่ที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศในแต่ละวันเป็นอันขาด เพราะอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ ทำให้สภาพอากาศโหดร้ายสุด ๆ ทั้งลมและพายุหิมะพร้อมโถมกระหน่ำทุกเมื่อ เหมือนกับทริปนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราต้องผจญกับพายุหิมะโถมกระหน่ำข้ามคืน ความเร็วลมร่วม 60-80 กม./ชม. จนรถโคลงเคลงไปมาเพราะแรงลม พอตกเย็นท้องฟ้ากลับสดใส ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นทั้งความโหดร้าย และความสวยงามที่คู่ขนานกันไม่จบสิ้น

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจล่าแสงเหนือ หาข้อมูลให้พร้อม ช่วงเวลาล่าแสงเหนือนั้นเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ไปสิ้นสุดในเดือนมีนาคมของทุกปี การจับจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก รถเช่า ฯลฯ ล่วงหน้า เป็นสิ่งสำคัญมาก

อุปกรณ์กันหนาวเป็นสิ่งสำคัญมาก คำว่าหนาวจนหูหลุด ไม่ไกลเกินความจริง เพราะฉะนั้น ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด

ถ่ายรูปแสงเหนือ อุปกรณ์ต้องพร้อม ขาตั้งกล้องต้องมี อากาศที่หนาวติดลบยังทำให้แบตเตอรี่กล้องหมดเร็วกว่าปกติ และถ้ามีโอกาสซ้อมมือถ่ายพวกท้องฟ้าในคืนเดือนมืดไว้บ้าง จะดีไม่น้อย สำหรับมือถือที่ใช้ถ่ายแสงเหนือต้องมีฟังก์ชั่น manual เพื่อปรับสปีด และความกว้างของหน้ากล้องได้ตามที่เราต้องการ

นอกจากฤดูล่าแสงเหนือ การท่องเที่ยวช่วงซัมเมอร์ของไอซ์แลนด์ก็ไม่ธรรมดา เพียงแต่ไม่มีหิมะโปรยปราย และแสงเหนือให้เชยชมเท่านั้น

ประเทศนี้ธรรมชาติล้วน ๆ สายช็อปปิ้งอาจผิดหวัง อย่างที่บอก ไอซ์แลนด์ทั้งประเทศมีประชากรแค่ 4 แสนคน สายช็อปอาจทำได้แค่ซื้อของกินของใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มักส่งตรงมาจากที่อื่น

ที่ต้องเตรียมอีกอย่าง คือ วงเงินในบัตรเครดิต ต้องไม่ลืมว่าไอซ์แลนด์อยู่ไม่ห่างจากประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ค่าใช้จ่ายจึงไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในละแวกนี้ ทุกอย่างแพงหูดับ

แต่เมื่อแลกกับสิ่งที่ประสบพบเจอ แสงเหนือ ธรรมชาติทุกที่สวยสด การใช้ชีวิตแบบ slow life อากาศบริสุทธิ์ ตัวเลข AQI อยู่ที่ศูนย์ ไร้มลพิษต้องบอกว่า คุ้มครับ