Wonderfruit แนะนำตัวใหม่ ไม่ใช่เทศกาลดนตรี-ศิลปะ แต่เป็นเมืองจำลองรักษ์โลก

วันเดอร์ฟรุ๊ต (Wonderfruit) ชื่อนี้ติดตลาดได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว พอถึงวันงานแต่ละปี ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะต้องเห็นภาพบรรยากาศจากงานนี้ปรากฏบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียไม่มากก็น้อย สาว ๆ แต่งกายสไตล์โบฮีเมียน มีขนนก มีผ้าโพกหัวหรือที่คาดผม นั่นคือภาพชินตาจนเป็นภาพจำของงานนี้ไปแล้ว

ถึงแม้เป็นที่รู้จักได้รับความนิยมถึงขนาดมีคนเข้าร่วมงานถึงหลักหมื่นกว่าคน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ แต่ “วันเดอร์ฟรุ๊ต” ในการรับรู้และความเข้าใจของแต่ละคนอาจจะต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นเทศกาลดนตรี บ้างก็ว่าเป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะ บ้างก็ว่าเป็นไลฟ์สไตล์เฟสติวัล ซึ่งไม่แปลกที่แต่ละคนจะเรียกไปตามที่ตัวเองโฟกัส เพราะวันเดอร์ฟรุ๊ตมีส่วนผสมมากมายทั้งดนตรี ศิลปะ ไลฟ์สไตล์ อาหาร ทอล์ก ดีไซน์ ไอเดียสร้างสรรค์ กิจกรรมปรับสมดุลร่างกายและจิตใจ ฯลฯ มีเวทีการแสดงและโซนต่าง ๆ มากถึง 20 เวที

แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นเทศกาลอะไร ต่างก็ไม่ตรงตามที่ผู้ก่อตั้งวันเดอร์ฟรุ๊ตอยากให้คนรู้จักและจดจำ ณ เวลานี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 6 ของการจัดงาน

“เราไม่ใช่เทศกาลดนตรี ดนตรีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเรา” พีท-ประณิธาน พรประภา ผู้ก่อตั้งวันเดอร์ฟรุ๊ตกล่าว ก่อนจะอธิบายว่า วันเดอร์ฟรุ๊ตเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนจำนวนมากมารวมกัน มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ที่ส่งผลในทางบวกต่อสังคมและโลก ซึ่งหลัก ๆ ที่โฟกัสคือ เรื่องการที่คนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ประณิธาน ทายาทสยามกลการเล่าที่มาของวันเดอร์ฟรุ๊ต ซึ่งไม่เคยบอกเล่ามาก่อนว่า ไอเดียเริ่มจากเขาไปช่วยงานคุณพ่อ (ดร.พรเทพ พรประภา) ทำโครงการ Think Earth เป็นโครงการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พอทำไปสักพักเขาคิดว่าการจะทำโครงการ Think Earth ให้ทันสมัยและสื่อสารกับคนรุ่นใหม่นั้นทำได้ยาก เขาจึงแยกออกมาทำอีกอันหนึ่งที่จะทันสมัยและสื่อสารได้กว้างกว่า ด้วยความตั้งใจว่า “จะสร้างคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการให้คนอยู่คู่เคียงกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” จึงเกิดเป็นวันเดอร์ฟรุ๊ตขึ้นมา

โดยมี เจ-มณฑล จิรา เพื่อนของเขาเป็นคนช่วยคิดรูปแบบงานออกมาเป็นงานที่สื่อสารเรื่องความยั่งยืนผ่าน ดนตรี ศิลปะ อาหาร ทอล์ก และไอเดียสร้างสรรค์ต่าง ๆ

คอนเซ็ปต์ของวันเดอร์ฟรุ๊ตคือ การสร้างเมืองจำลองในอุดมคติขึ้นมา ซึ่งในการสร้างเมือง สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการดีไซน์ต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ พยายามสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างเช่น การนำเสื่อที่ใช้แล้วมาออกแบบตกแต่งเวที และนำมาใช้ซ้ำในปีต่อ ๆ ไป โดยดีไซน์ใหม่ให้ออกมาหน้าตาไม่เหมือนเดิมเลยสักปี

ความมุ่งมั่นที่จะผลักดัน พัฒนาแนวทางสร้างสรรค์เพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนของวันเดอร์ฟรุ๊ต มี action เป็นรูปธรรม อย่างเช่น ไม่อนุญาตให้ใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (single use plastic) มาตั้งแต่ปี 2016 ขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในงานถูกนำมาคัดแยกประเภทเพื่อรีไซเคิล เศษอาหารถูกนำไปทำปุ๋ยหมัก ฯลฯ จริงจังถึงขั้นมีการวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการรับรอง carbon neutral จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เลยทีเดียว

นอกจากนั้น วันเดอร์ฟรุ๊ตยังให้ความสำคัญกับการดึงให้คนในงานมามีปฏิสัมพันธ์กันและเกิดความรู้สึก “เอาใจใส่กัน” ด้วยการดีไซน์ลูกเล่นและการทดลองต่าง ๆ เช่น การปิดไฟทั้งหมดในงาน แล้วให้คนจับมือกัน ซึ่งก็เห็นผลจริง ๆ

“ตัววัดเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราคิดว่าบางอย่างเราน่าจะทำให้ดีขึ้นได้ แต่เราต้องเข้าใจมันมากขึ้น ซึ่งทุกปีเราก็พยายาม ปีนี้เราตั้งใจจะลดขยะให้ได้มากที่สุด และเรื่องพลังงานที่เรายังใช้พลังงานไม่สะอาด คือ ใช้น้ำมันในการปั่นไฟ ปีนี้พยายามจะหาทางออก แต่ก็ยังไม่ลงตัว”

วัตถุประสงค์ของงานได้ผลประมาณหนึ่งแล้ว แต่ถามว่า ได้ผลเฉพาะในงานเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หรือเปล่า เมื่อออกนอกเมืองจำลองแห่งนี้ไป ผู้คนได้นำจิตสำนึกและพฤติกรรมแบบที่อยู่ในงานออกไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่ ? ประณิธานเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะยังไม่สามารถตามไปวัดผลได้

“เป็นคำถามที่เราถามตัวเองตลอด ว่าเราจะทำยังไงให้จิตสำนึกเหล่านี้มันสืบต่อไป ผมคิดว่ามันวัดยาก เราไม่มีทางรู้ แต่ตอนนี้เราเริ่มคิดว่า เราสามารถทำอะไรระหว่างปีได้บ้าง เราอยากทำมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในงาน ซึ่งก็ยังอยู่ในแผนงานว่าเราจะสร้างจุดสัมผัสระหว่างปียังไง มันจะได้เห็นได้ชัดขึ้น”

ถึงแม้ผู้จัดงานจะบอกว่าไม่ใช่เทศกาลดนตรี แต่สำหรับผู้เข้าร่วมงาน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ดนตรีเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างความสนุกสนาน และจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ สำหรับปีนี้ศิลปินที่วันเดอร์ฟรุ๊ตเลือกมาก็มากมายเหมือนทุกปี ประกอบด้วย Daniel Brandt & Eternal Something, Douglas Dare, Hatis Noit, Midori Hirano, Rival Consoles, Acid Pauli, Arp Frique & Family, Daddy G (Massive Attack), Floating Points, Gidge, Trojan Sound System, Craig Richards, Bihn, Bobby, DOTT, Felix Dickinson, Nick The Record, Powder, Sonja Moonear, Willow Breakbot & Irfane, Busy P, Myp, Yasmin, Colleen “Cosmo” Murphy ฯลฯ

งานวันเดอร์ฟรุ๊ตปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 12-16 ธันวาคม ณ เดอะฟิลด์ แอท สยามคันทรีคลับ พัทยา ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ wonderfruit.co

สำหรับใครที่จะไปชัวร์ ๆ แล้ว พีท-ประณิธาน ผู้จัดงานฝากบอกว่า ในงานมีกิจกรรมทอล์กดี ๆ ปีละหลายหัวข้อ แต่คนไทยไม่ค่อยฟังทอล์กกันเลย “จะทำยังไงให้คนไทยฟังทอล์กกันมากขึ้น ฝากเชิญชวนด้วยนะครับ”