5 เหตุผลที่เราควรกิน “อาหารท้องถิ่น” ในยุคหลังโควิด

คุณเป็นคนที่มักจะเลือกทานอาหารที่นำเข้าจากแหล่งผลิตชื่อดังระดับโลกเท่านั้นหรือเปล่า แอปเปิลต้องเป็นแอปเปิลจากอเมริกา จากนิวซีแลนด์เท่านั้นไหม เนื้อวัวต้องมาจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา เท่านั้นหรือเปล่า

ในยุคก่อนหน้านี้ พฤติกรรมและรสนิยมความชอบทานอาหารชั้นดีจากแหล่งผลิตชื่อดังของโลก คงจะไม่เป็นปัญหาอะไรสำหรับผู้บริโภคที่พอมีกำลังซื้อ หรือคนที่มีเงินเหลือเฟือที่จะจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน…แต่นั่นจะไม่ใช่วิถีที่ปกติในอนาคตหลังจากนี้ เพราะต่อให้คุณมีกำลังซื้อมากขนาดไหน บางที อาจไม่มีสินค้าให้คุณซื้อ!

การปิดเมือง และข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย-เดินทาง ในช่วงที่โควิดระบาดส่งผลกระทบต่อการขนส่ง-การกระจายสินค้า หนักไปจนถึงขั้นการขนส่งสินค้าหยุดชะงัก ทำให้สินค้าบางอย่างไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในบางพื้นที่ ถ้าในอุตสาหกรรมก็มีปัญหาการขนส่งวัตถุดิบ หรือวัสดุชิ้นส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้การผลิตต้องหยุดชะงัก ดังนั้นจึงมีการพูดกันว่า หลังจากนี้ผู้ผลิตสินค้าจะต้องเปลี่ยนมาหาซัพพลายเออร์ในประเทศ แทนการใช้ซัพพลายเออร์จากต่างประเทศ หรือถ้าหาในท้องถิ่นได้เลยก็ยิ่งดี เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตเสี่ยงต่อการหยุดชะงักน้อยลง

สำหรับห่วงโซ่อุปทานอาหารก็ไม่ต่างกัน ยิ่งห่วงโซ่สั้นยิ่งมีโอกาสเกิดปัญหาน้อยกว่า ดังนั้นหลาย ๆ ฝ่ายจึงมองว่า การเลือกกินอาหารในท้องถิ่น หรือ local food น่าจะเป็นคำตอบสำหรับโลกยุคหลังจากนี้

มีบทความใน Forbes นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า World Economic Forum ให้คำแนะนำว่า ยุคหลังโควิดเป็นยุคที่ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารจากแหล่งผลิตในท้องถิ่น ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานสั้นกว่า มีความยุติธรรมและความใสสะอาดในห่วงโซ่อุปทานมากกว่า และเป็นการให้ความสำคัญกับท้องถิ่นด้วย

ขณะที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวถึงผลกระทบของโควิดต่อระบบอาหารท้องถิ่นว่าเป็น “บทบาทใหม่ในเรื่องความมั่นคงทางอาหารของโลก” ซึ่งบทบาทใหม่ที่ว่านี้ก็ถูกแสดงออกมาให้เห็นแล้วในทั่วโลก อย่างในสหราชอาณาจักรมีการสำรวจโดยบริษัทวิจัยตลาดชื่อ Ipsos MORI และสำนักงานมาตรฐานอาหาร สหราชอาณาจักร พบว่า ร้อยละ 35 ของผู้บริโภคซื้ออาหารท้องถิ่นมากขึ้นกว่าตอนก่อนเกิดวิกฤตโควิด

บทความชิ้นนี้ยกเหตุผล 5 ข้อมาอธิบายว่า ทำไมเราควรกินอาหารจากแหล่งผลิตในท้องถิ่น และทำไมโครงการอาหารท้องถิ่น เช่น การทำเกษตรกรรมในเมือง, สวนชุมชน และตลาดสินค้าเกษตรในชุมชน จึงเป็น “วิถีแห่งอนาคต”

1.อาหารที่มาจากท้องถิ่นให้ประโยชน์ทางสังคมแก่ชุมชน : การบริโภคในท้องถิ่นก่อให้เกิด loyalty ของลูกค้า และสร้างการเชื่อมโยงของคนในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต

2.อาหารที่มาจากท้องถิ่นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น : การเลิกจ้าง การปิดตัวบริษัท และข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย-เดินทางได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น เราจะเห็นว่าในช่วงโควิดระบาด เกษตรกรในทั่วทุกมุมโลกหันมาควบคุมการขายและกระจายสินค้าด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งขายภายในชุมชน และขายทางออนไลน์ โดยส่งให้ลูกค้าเองโดยตรง ซึ่งการที่คนในชุมชนซื้อสินค้าที่ผลิตโดยเกษตรกรในชุมชนนั้นส่งผลดี ทำให้เงินยังหมุนเวียนอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง

3.อาหารจากท้องถิ่นดีต่อสุขภาพและปลอดภัยกว่า : โดยทั่วไปแล้ว ผักและผลไม้ที่มาจากแหล่งผลิตในท้องถิ่นจะถูกเก็บมาในตอนที่ใกล้สุกหรือโตเต็มที่แล้ว และจะถูกบริโภคหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้ผู้บริโภคได้อาหารที่สด มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า และปลอดภัยกว่า ซึ่งข้อนี้ไม่ได้พูดกันลอย ๆ เพราะมีรายงานการศึกษาเมื่อปี 2008 ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการระหว่างประเทศว่า บรอกโคลีที่นำเข้าจากต่างประเทศมีวิตามินเพียงครึ่งหนึ่งของวิตามินที่ปลูกในประเทศ และมีข้อมูลทิศทางเดียวกันจาก Rodale Institute บอกว่า ผลไม้ ที่จะส่งไปขายในที่ไกล ๆ จะเก็บผลผลิตตอนที่ยังไม่สุก (ถ้าเป็นผักก็คือยังไม่แก่พอเหมาะที่จะทาน) เพื่อให้ผลผลิตอยู่ได้นาน แต่การที่ผักผลไม้อยู่บนต้นจนสุกหรือโตเต็มที่แล้วจึงเก็บนั้นจะมีปริมาณสารอาหารสูงกว่าผักผลไม้ที่ถูกเก็บมาในตอนที่ยังไม่โตเต็มที่ ส่วนในเรื่องความปลอดภัยนั้น อาหารที่ห่วงโซ่อุปทานสั้นกว่าก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนน้อยกว่า

4.อาหารจากท้องถิ่นมีความยืดหยุ่นต่อการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานมากกว่า : พูดง่าย ๆ ว่า อาหารในท้องถิ่นที่ห่วงโซ่อุปทานสั้น ๆ ซึ่งมีความหนาแน่นและความซับซ้อนในการขนส่งน้อย มีโอกาสที่จะเกิดการหยุดชะงักระหว่างการขนส่งน้อยกว่าอาหารจากนอกท้องถิ่นที่ห่วงโซ่อุปทานยาว ต้องขนส่งไกล ๆ ซึ่งมีองค์ประกอบซับซ้อนและมีความหนาแน่นในการขนส่ง


5.อาหารที่มาจากท้องถิ่นนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม : ตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นด้านบรรจุภัณฑ์ การแปรรูป การขนส่ง หรือการกระจาย ระยะเวลาในการเดินทางจากการผลิตไปจนถึงการบริโภคนั้น ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกจุดของห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นระยะทางและระยะเวลาที่สั้นลงจากผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภคจึงมีความสัมพันธ์กับการปล่อยคาร์บอนและของเสียที่น้อยลงตามไปด้วย นอกจากนั้นการผลิตในท้องถิ่นยังสร้างความรับผิดชอบที่มากขึ้นในหมู่ผู้ผลิต หมายความว่า ผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม