เปิด “สังกะสี” ห้องซ้อมดนตรีของ “กบ-โอ๊ค Big Ass” ธุรกิจที่ “เจ๊ง” ยับตั้งแต่เริ่มทำ

โดย ธรรมธวัช ศรีสุข
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

www.prachachat.net

“ห้องซ้อมดนตรี” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงดนตรีมากมาย ตั้งแต่วงเล็กที่เล่นเพื่อความสนุกสนาน จนถึงวงดนตรีอาชีพแถวหน้าระดับประเทศ ล้วนผ่านประสบการณ์ ความทรงจำ และเรื่องราวในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ นี้มาแล้วนับไม่ถ้วน

ทว่าในยุคสมัยที่ศิลปินรุ่นใหม่นิยมสร้าง “โฮมสตูดิโอ” แบบบ้านๆที่สามารถซ้อม อัดเดโม และมิกซ์เสียงด้วยโปรแกรมกันได้ที่บ้าน เป็นเส้นทางลัดด้วยการอัดคลิปเพลงลงโซเชียล เพื่อเตะตาค่ายเพลงให้มาสนใจ จนแจ้งเกิดมาแล้วหลายรายอีกครั้ง … ที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านของวงการเพลง ในแง่ชีวิตนักดนตรี ห้องซ้อมยังจำเป็นหรือไม่ และทางธุรกิจ มันได้ตายลงไปแล้วหรือยัง?


“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” มีนัดกับสองสมาชิกวงบิ๊กแอส “กบ ขจรเดช พรมรักษา” และ “โอ๊ค พงษ์พันธ์ พลสิทธิ์” ที่ “สังกะสี สตูดิโอ” ธุรกิจห้องซ้อมดนตรีเล็กๆ ของพวกเขา ย่านเกษตร-นวมินทร์ ที่เปิดให้บริการได้ 1 เดือนเศษ ทั้งสอง …จะวางทฤษฏีทางดนตรี เบสตัวเก่ง และไม้กลองคู่ใจ มาพูดคุยแบบสบายๆ

ถึงการทำธุรกิจที่มาเติมเต็มความฝันในวัยเด็ก ที่พวกเขานิยามว่า “เจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ” แต่มี “ความสุข” เป็นผลกำไร มากกว่าเม็ดเงิน ซึ่งกบและโอ๊คมองว่า ถึงธุรกิจห้องซ้อมดนตรีจะประสบความสำเร็จยาก แต่ก็ยังสำคัญ และจำเป็นสำหรับชีวิตนักดนตรีทุกคน


จุดเริ่มต้นธุรกิจเติมเต็มความฝัน

แม้จะเป็นมือกลองแถวหน้าระดับประเทศ แต่กบเล่าว่า ธุรกิจดังกล่าวเริ่มจากความเก็บกดในวัยเด็ก ที่ไม่มีกลองให้ซ้อม แม้กระทั่งออกอัลบั้มช่วงแรกกับวง “บิ๊กแอส” ยังต้องเช่าห้องอัดยาว 10-20 วัน เพื่อทำเพลง กระทั่งมีกลองเป็นของตัวเอง ก็ไม่ค่อยมีที่ให้ซ้อมเท่าไหร่นัก เลยอยากมีที่ซ้อมกลองเป็นของตัวเอง จึงชักชวน “โอ๊ค” เพื่อนสมาชิกวงบิ๊กแอส ที่มีไอเดียตรงกันว่า อยากมีสถานที่เอาไว้สร้างไอเดียในการทำเพลง
และสามารถอัดเดโมได้แบบง่ายๆ จึงรวบรวมเครื่องดนตรี เครื่องมือที่ไม่ได้ใช้ มาลงทุนเปิดห้องซ้อมดนตรี
“สังกะสี Studio” ขึ้นมา ก่อนจะพบว่า สามารถต่อยอดเปิดเป็นห้องซ้อมเพื่อบำบัดความฝันของนักดนตรีทุกคนได้

“อาชีพนักดนตรีอย่างเรามันอาจอยู่ไม่ยาวนาน ก็ไปทำนู่นทำนี่ เคยลงทุนเปิดร้านเหล้า ร้านอาหาร จนสุดท้ายแล้วมันไม่มีความสุข แต่พอห้องซ้อมเราเป็นรูปเป็นร่าง เวลาเห็นน้องๆ มาซ้อม คุยกันเรื่องเพลง ได้ยินเพลงที่เค้าซ้อม เห็นสีหน้าแววตา เห็นความพยายามในการมาซ้อม ทำให้นึกถึงตัวเองสมัยเด็กๆ สุดท้ายการเปิดห้องซ้อมมันไม่ได้เพื่อใครเลย แต่มันมาเติมฝันเราเอง เราอยู่วงการนี้มานาน บางทีก็หมดไฟ พอได้มาเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆ มันมีชีวิตชีวา ได้เห็นเด็กรุ่นใหม่มาซ้อม มาทำเพลงกัน เราก็แอบนั่งฟังตลอดนะ (หัวเราะ)” กบและโอ๊คเล่าถึงที่มาของห้องซ้อมดนตรีแห่งนี้

เจ๊งตั้งแต่ตัดสินใจทำ ลงทุน 6 แสน แต่บริหารงานแบบ “เด็กเล่นขายของ”

แม้จะโดดลงมาทำธุรกิจควบกับเล่นดนตรีอาชีพ ซึ่งทั้งสองคนลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 5-6 แสนบาท แต่การบริหาร จัดการค่าใช้จ่ายพวกเขากลับทำงานแบบ “เด็กเล่นขายของ” ไม่มีแบบแผน ไม่มีการทำบัญชีเป็นเรื่องเป็นราว พร้อมนิยามการทำ “ห้องซ้อมดนตรี” ครั้งนี้ ว่า “เจ๊งตั้งแต่วันแรก” ที่ตัดสินใจทำ

“ไม่บ้าก็ต้องบ้ามากๆ ไม่มีทางได้กำไรเลย ถึงจะเก็บค่าชั่วโมง 600-700 ก็ไม่ได้กำไร แต่เราไม่คิดว่าทำธุรกิจ เรากำลังทำความฝันของตัวเองและความฝันของคนอื่น ชั่วโมงละ 250 ค่าเช่าเดือนหนึ่งก็ไม่พอแล้ว ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าซ่อมบำรุง คนคุมห้องซ้อม

แต่มันเป็นรายจ่ายที่เรามีความสุข รายจ่ายแบบไม่ต้องคิด และเป็นธุรกิจที่ตลกมาก สองคนเรา เวลาจะซื้ออะไร ไม่ใช่กูออก 50 มึงออก 50 มึงอยากจะซื้ออะไรก็ซื้อมา อะกูซื้ออันนี้ เอ้า โอนตังค์ให้หน่อย
แล้วตกลงต้นทุนมันเท่าไหร่วะ (หัวเราะ) กบเล่าถึงการทำธุรกิจแบบเด็กเล่นขายของแต่เต็มไปด้วยความภูมิใจ

“เราไม่คิดเลยว่าต้นทุนแค่ไหน กำไรเท่าไหร่ เราอยากจะให้อะไรกับคนซ้อมมากกว่า อยากให้เค้าเล่นในแบบที่เราเล่น ตู้แอมป์ ลำโพง อยากให้ทุกคนได้ยินเสียงที่ดี ถ้าเค้าแฮปปี้กับที่เค้าซ้อม ออกมายิ้มแย้ม พอใจกับซาวด์ที่มันดีมากๆ ผมว่านี่แหละ คือกำไรที่ผมได้ (หัวเราะ) เรามีความสุข และเงินไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่างเสมอไป อย่างอื่นที่แย่กว่านี้เรายังเคยลงทุนมาแล้ว ทำร้านเหล้า ลงไป3-4 แสน ได้มาแค่โต๊ะเก้าอี้” กบและโอ๊คย้ำถึงธุรกิจที่เจ๊งตั้งแต่เริ่มทำ


“ส่วนเหตุผลที่หลายๆ ห้องซ้อมไปไม่รอด เหตุผลไม่เหมือนกัน เค้าอาจคิดในแง่ธุรกิจจนเกินไป อันนี้ก็ไม่รู้ อีก 3-4 ปีจะมาตอบใหม่ (หัวเราะ) แต่ที่รู้ๆ คือเราเจ๊งอยู่แล้วในเรื่องเงิน แต่เรากำไรในเรื่องชีวิตแน่ๆ ถ้ามีเด็กมาสร้างงานที่นี่ แล้วอนาคตเค้ามีชื่อเสียง เราก็จะภูมิใจ และโม้ได้…เฮ้ยมันเคยมาซ้อมห้องกู (หัวเราะ)”

ห้องซ้อมศิลปินรุ่นใหญ่ คือ “ความกดดัน” ที่ย้อนมาหาตัวเอง

แม้จะมีชื่อเสียง และเครดิตในวงการดนตรีมานับไม่ถ้วนกับนามสกุล “Big Ass” ที่พ่วงท้ายชื่อพวกเขาอยู่ ทำให้คนอาจมองว่า “สังกะสี Studio” จะต้องเยี่ยมยอด ห้องใหญ่ อุปกรณ์ไร้ที่ติ และดึงดูดให้นักดนตรีมาซ้อมกันมากมาย แต่ทั้งสองคนกลับมองว่า เป็น “ความคาดหวัง” ที่แสน “อันตราย” เนื่องจากห้องซ้อมเป็นสเกลเล็ก และมีเพียงแค่ห้องเดียว อีกทั้งเป็นการบริหารงานแบบ “มือใหม่” ที่พร้อมจะเรียนรู้ ผิดพลาด และมีการบ้านให้แก้เพิ่มทุกวัน กบและโอ๊คเล่าให้ฟังว่า


“ผมเองกลัวความคาดหวัง เพราะมันอันตรายมาก โอ้โห … ห้องซ้อมของพี่กบ พี่โอ๊ค กลองแม่งต้องจัดหนักดิวะ สองกระเดื่อง แฉ 20 ใบ แต่มาถึง หืมม … แค่นี้หรอ กลัวคนคาดหวังเยอะ ย้อนไปเด็กๆ เราเปิดดูห้องซ้อมจากนิตยสารดนตรี นั่งรถไป 3-4 ต่อ จากลาดพร้าวไปพระโขนง แต่พอไปถึง อ้าว… แค่นี้เองหรอ?

ผมตั้งสโลแกนว่า “ห้องซ้อมเล็กๆ อารมณ์เด็กมัธยม” เรารู้ว่าไม่ได้เปิดมาเพื่อเอากำไร ค่อยๆ เจียมเนื้อเจียมตัว มันง่ายในแง่คอนเนคชั่น แต่เราอยากให้ห้องซ้อมมันเป็นกระแสปากต่อปาก เพราะแต่ละวงเองชอบไม่เหมือนกัน

ทุกห้องจะมีเอกลักษณ์ของเค้า ซึ่งเราเลือกแบบนี้ เลือกที่จะเป็นห้องเล็กๆ ชื่อเสียงเราอาจจะมีส่วน แต่สุดท้ายห้องซ้อมมันจะพิสูจน์ตัวเอง … แต่ถ้าเค้ามาแล้วไม่ชอบ เรายิ่งโดนด่าหนักเลยนะ (หัวเราะ)”


“แต่เราก็พยายามทำการบ้านตลอด ทุกวันมีปัญหาใหม่ๆ ให้แก้บางคนมาแต่ตัว กีตาร์ไม่มี เอฟเฟคไม่มี เราก็เตรียมอุปกรณ์เตรียมให้บางส่วน มันท้าทายดีได้พัฒนาการทำงานร่วมกับคนอื่น บางคนคนที่ต้องการมาอัดเดโม เพราะเราเองก็ไม่คาดคิดว่า การอัดเดโมมิกซ์เสียง มันจะมีผลต่อการใช้บริการห้องซ้อมมากๆ ในตอนนี้ เราต้องกลับไปทำการบ้านว่าเราจะวางระบบตรงนี้ยังไงให้ดี”

“นิสัย” ของห้องซ้อม หัวใจสำคัญไม่แพ้อุปกรณ์

วงบิ๊กแอส ขึ้นชื่อว่าเป็นวงที่ซ้อมหนักและผ่านห้องซ้อมมานับไม่ถ้วน พวกเขาย้ำว่า อะไรที่เคยไม่ชอบในวัยเด็ก ก็จะไม่ทำแบบนั้นกับคนที่มาซ้อมกับความสำคัญของ “นิสัย” ห้องซ้อม ที่มีผลไม่แพ้อุปกรณ์ราคาแพง

“พื้นฐานอุปกรณ์ต้องดีระดับหนึ่งแต่สำคัญที่สุดคือ “นิสัย” ของห้องซ้อม เราผ่านห้องซ้อมมาเยอะ เราไม่ชอบอะไรในวัยเด็ก ก็อย่าไปทำแบบนั้น เมื่อก่อนเจอป้ายติด “ห้องนี้ห้ามเล่นเพลงแนวเฮฟวี่” เพราะกลัวเครื่องดนตรีพัง ตีๆ อยู่เจ้าของห้องเปิดประตูมาด่า เหลือเวลาอีก 5 นาทีมาเปิดประตูไล่ พี่จะเป๊ะอะไรขนาดนั้น ขออีกเพลงสองเพลงก็ไม่ได้ เราว่านิสัยก็สำคัญไม่แพ้อุปกรณ์ อย่างล่าสุด วงที่ซ้อม โอ๊คมันเพลินมาก จนขอให้ซ้อมต่อหน่อย อยากฟังเพลง ก็ให้เค้าอีก 10-15 นาที รวมถึงบรรยากาศ ที่สำคัญคือ ความสนุกจะเกิดจากบรรยากาศของห้องซ้อมนั้นๆ ไม่ใช่แค่ข้างใน แต่รวมเจ้าของห้องด้วย”


“นึกถึงเมื่อก่อน กำลังซ้อมมันส์ๆ เฮ้ยหมดเวลาแล้วหรอวะ ต้องกลับแล้วก็เหมือนเราส่องกระจกตัวเอง ว่าเมื่อก่อนเป็นยังไง ไปตีแฉเค้าแตกแล้ววิ่งหนี สายเบสขาด ก็ชิ่งก่อน เจอป้ายห้ามเล่นเพลงเฮฟวี่ ก็หวดไปเต็มเหนี่ยว แต่ครั้งหน้าก็อย่าเจอกันอีก หายหน้าไป ก็มีสิ่งแย่ที่เราทำกับเค้า และเค้าทำกับเรา บางทีโทรไปจองแต่เปลี่ยนชื่อวง โทรจองแล้วไม่ไป จนเค้าจำเสียงได้ (หัวเราะ)” โอ๊คเสริมวีรกรรมในอดีต

ห้องสี่เหลี่ยมที่มากกว่าการซ้อมดนตรี

แม้ธุรกิจห้องซ้อมจะกลายเป็นสิ่ง”ต้องห้าม”หากหวังถึงกำไรแต่ในแง่ของ “นักดนตรี” กบและโอ๊คย้ำว่า “การซ้อม”นั้นโคตรจะสำคัญสำหรับนักดนตรี ไม่ว่าจะซ้อมที่บ้าน หรือ ห้องซ้อม โดยเฉพาะ “วงดนตรี” ที่ทุกประสบการณ์ เหตุการณ์ อย่างจะหล่อหลอมเข้าด้วยกัน ทั้งการทำงานเป็นทีมทะเลาะเบาะแว้ง และการใช้ชีวิตภายใต้ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แห่งนี้

“วงดนตรี มันจำเป็นมากที่ต้องมาซ้อมด้วยกัน ขนาดวงเราเป็นวงที่ขึ้นชื่อเรื่องการซ้อมบ่อยมาก เหตุผลเพราะพวกเราลืมกันง่าย (หัวเราะ) แต่ข้อดีของการได้ซ้อมบ่อยๆ ไม่ใช่แค่ซ้อม แต่เรามาใช้ชีวิตร่วมกัน แชร์ชีวิต ได้เจอกันมากกว่าบนเวทีและหลังเวที การซ้อมดนตรีร่วมกัน มันสะท้อนนิสัยได้หลายคนอาจจะมองข้ามตรงนี้ แต่ผมมองว่ามันมีเสน่ห์ บางคนนัดบ่ายสอง มาสี่โมงเย็นเปิดเสียงดังไม่เอาเพื่อนเลย ซึ่งเด็กทุกวันนี้ก็ยังเป็นกันอยู่ มันคลาสสิคมากนี่คือชีวิตวงดนตรี”

ส่วนโอ๊คเล่าว่า สังเกตง่ายๆ ห้องซ้อมนี้มันเล็กมาก ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคเราจะรู้ว่าคนนี้เปิดเบาไปหรือดังไป เราจะเล่นยังไงให้อยู่ในบาลานซ์เดียวกัน มันคือการเรียนรู้แต่ละตำแหน่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ห้องซ้อมจะช่วยในการฟังซึ่งกันและกัน

สุดท้าย … เราไม่ใช่แค่ทำห้องซ้อม แต่เราอยากอยู่ใกล้ๆ ความฝันของพวกเค้า เวลาอยู่ใกล้คนมีความฝัน หรือแรงบันดาลใจ มันจะส่งกลับหาเราอย่างรุนแรง ได้ยินเค้าซ้อม ด่ากัน แชร์ชีวิตกัน มันส่งกลับมาหาเรามหาศาล และเราได้แนะนำเค้าบ้าง มาซ้อมก็ติได้เลย เราพร้อมรับ เรากำลังเรียนรู้ อีกอย่างห้องซ้อมมันทำให้เราใกล้ชิดกับเด็กรุ่นใหม่ ในฐานะพี่น้อง ไม่ใช่นักดนตรีกับแฟนเพลงที่เจอกันบนเวที เราแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้เรื่องดนตรีกันมากขึ้นกบและโอ๊คทิ้งท้าย