มุ่งสู่สมาร์ท ซิตี้! “อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต” ส่งเสริมการอ่าน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์

โดย กนกวรรณ มากเมฆ ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สำหรับ Phuket Smart City ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานอัจฉริยะต้นแบบ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะพัฒนาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ทันสมัย มีการสร้างอินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของการตั้งเป้าเป็นเมืองอัจฉริยะก็คือการพัฒนาการศึกษาให้เป็น Smart Education นั่นเอง

โดยเฉพาะเทศบาลนครภูเก็ต ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนในทุกๆ เรื่อง สำหรับการพัฒนาการศึกษาให้เป็น Smart Education นอกจากยังพัฒนาการเรียนการสอนทั้งในเรื่องภาษา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มีระบบติดตามนักเรียนแบบดิจิทัล ล่าสุด ยังเปิดตัว “อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต” หรือ PK Park ที่ตั้งใจจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Life Long Learning Center และ อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ พาผู้อ่านชมอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ตทั้ง 2 ที่ เริ่มจาก อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Life Long Learning Center คือพื้นที่ห้องสมุดประชาชนหลังเดิม ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2522 ตั้งอยู่ที่ ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เรียกว่าอยู่ในย่านโอลด์ทาวน์ของภูเก็ตเลยก็ว่าได้ ภายนอกและภายในอาคารมีการปรับปรุงอาคารหลังเก่า บรรยากาศเหงาๆ ให้น่าใช้กว่าเดิม รวบรวมหนังสือและอีบุ๊คกว่า 20,000 เล่มทั้งใหม่และเก่าให้ชาวภูเก็ตทุกช่วงวัยมาหยิบยืมอ่านกันได้

โดยแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นล่างประกอบไปด้วยโซนแรกก็คือโซนจัดนิทรรศการที่จัดแสดงเรื่องราวของภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ความเป็นมา อาชีพ การแต่งกาย วัฒนธรรมของชาวภูเก็ตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โซนถัดมาคือหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน นวนิยายไทย นวนิยายจีน ที่เชื่อว่าต้องถูกอกถูกใจวัยผู้ใหญ่แน่นอน

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของชั้นล่าง คือ ห้องเด็กศึกษา ที่แบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสำหรับเด็กอายุ 0-6 ขวบ ภายในมีของเล่นหลากหลายสำหรับเสริมทักษะการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ตามพัฒนาการของช่วงวัย และอีกห้องหนึ่งสำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี ประกอบไปด้วยหนังสือสำหรับเยาวชนน่าอ่านมากมาย นอกจากนี้ ในบางครั้งจะมีการจัดกิจกรรมศิลปะ หรืองานประดิษฐ์จากบรรณารักษ์ด้วย

เดินขึ้นบันไดบริเวณโถงกลางมายังชั้นบน สิ่งที่น่าสนใจคือชั้นวางนวนิยายจีนไว้อย่างเด่นชัด และมีจำนวนหนังสือค่อนข้างมากเลยทีเดียว เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้อ่านชาวภูเก็ต บริเวณทางเดินมีโซฟาเล็กๆ ให้นั่งเป็นระยะๆ นอกจากนี้ โดยรอบของโถงกลางชั้นบนมีการติดตั้งแผงเหล็กลายชิโน-ยูโรเปียนเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันเด็กตกลงไปด้านล่างอีกด้วย

นอกจากหนังสือหลากหลายหมวดที่รอผู้อ่านมาเปิดอ่านเสริมความรู้ ชั้นบนของอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Life Long Learning Center ยังประกอบด้วยห้องพระ, ส่วนจัดนิทรรศการเล็กๆ ที่จะเป็นนิทรรศการเวียนจากบรรณารักษ์ เทศบาลต่างๆ หรือ TK Park นอกจากนี้ยังมีห้องประชุม ที่เด็กหรือใครก็ตามที่อยากหาพื้นที่ประชุมแบบเป็นส่วนตัวก็สามารถเข้ามาใช้งานได้

“ลุงชม” ชาวภูเก็ตวัย 74 ปี กล่าวว่า มาใช้บริการห้องสมุดประชาชนทุกวันตั้งแต่เปิด ชอบอ่านเพชรพระอุมา และหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะข่าวกีฬา พอที่นี่ปรับปรุงเป็นอุทยานการเรียนรู้แล้วก็ดูทันสมัย น่าใช้บริการมากขึ้น และจะยังคงมาใช้บริการทุกวันต่อไป

“น้องอั้ม” นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ไม่เคยใช้บริการห้องสมุดประชาชนมาก่อน เพิ่งมาที่นี่เป็นครั้งแรก รู้สึกว่าน่าสนใจมาก มีหนังสือน่าอ่านมากมาย และจัดวางได้ดึงดูดกว่าที่โรงเรียน นอกจากนี้ ที่นี่ยังไม่ไกลจากโรงเรียน ต่อไปจะมาใช้บริการบ่อยๆ

จากอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Life Long Learning Center ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เราเดินทางมาอีกส่วนหนึ่งของอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือมีชื่อว่า “อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center” ตั้งอยู่ ต.วิชิต อ.เมือง หรือเรียกว่าย่านสะพานหิน ซึ่งไม่ไกลจากที่แรกมากนัก

โดยอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center ปรับปรุงมาจากศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต โดยแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นล่าง ประกอบไปด้วย ลานอินเทอร์เน็ต ที่มีคอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้ให้บริการแก่สมาชิก ซึ่งเน้นเยาวชนเป็นหลัก โดยให้ใช้ได้คนละ 2 ชั่วโมง/วัน

บริเวณด้านล่างยังประกอบด้วยห้องสมุดย่อมๆ สำหรับรองรับผู้ปกครองที่มารอรับลูกๆ ได้อ่านระหว่างรอ ในพื้นที่เดียวกันยังมีโต๊ะประชุมที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ Working Space ได้ นอกจากนี้ยังมี ลานกิจกรรม สำหรับจัดกิจกรรมหรือเล่นเกมในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ รวมไปถึง ห้องนวัตกรรม ที่จะจัดแสดงผลงานนวัตกรรมต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ จากโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้มาเรียนรู้

อีกไฮไลท์หนึ่งของชั้นล่างก็คือ ห้องเกม ที่มีเกมโดยเฉพาะอี-สปอร์ต (E-sport) และบอร์ดเกมหลากหลายประเภท เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเล่นเกมเป็น ชนิดที่ไม่ใช่การติดเกม และรู้จักใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น

เมื่อเน้นด้านไอที ชั้นบนของที่นี่จึงประกอบด้วย ห้องอบรมคอมพิวเตอร์ มีการจัดการสอนโปรแกรมพื้นฐาน เช่น Microsoft Office Word ทุกวันพฤหัสบดี ส่วนวันอื่นๆ จะมีโรงเรียนในเขตเทศบาลมาใช้งานเพื่อพัฒนาทักษะของเด็กนักเรียน

บริเวณชั้นบนยังมี ห้องประชุมใหญ่ ที่ดัดแปลงเป็นห้องจัดอบรมหนังสั้น ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดอบรมการทำภาพยนตร์ให้กับเยาวชนที่สนใจ โดยมีผู้กำกับชื่อดังอย่างเช่น ปรัชญา ปิ่นแก้ว มาเป็นวิทยากรให้ความรู้

ไฮไลท์ของอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center คือส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่อย่าง ห้องสมุดดิจิทัล ที่ให้เด็กๆ ที่มีหนังสือแนวจุดประกายไอเดียสร้างนวัตกรรม เพื่อก้าวเข้าสู่วงการสตาร์ตอัพ

และอีกส่วนคือ ห้องเมกเกอร์ เน้นให้ความรู้และพัฒนานวัตกรรม IoT (Internet of Things) โดยจะมีวิทยากรซึ่งเป็นวิศวกรประจำอยู่ในห้องนี้ พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น วงจรไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการจัดคอร์สให้เด็กๆ มาแปลงไอเดียสู่ของจริง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“น้องบอส” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง กล่าวว่า เคยมาใช้บริการที่อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center มองว่าที่นี่มีอุปกรณ์หลากหลาย มีครูสอน ซึ่งเคยมาเรียนบอร์ดคอมพิวเตอร์อย่าง Raspberry Pi ชอบตรงที่ที่นี่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ต่อไปอยากให้มีอุปกรณ์ที่ดีขึ้น หรือเป็นรุ่นที่ดีขึ้น

“สมใจ สุวรรณศุภพนา” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เด็กเทศบาลเป็นเด็กที่อยู่ในสังคมแห่งความเป็นจริง คือมีหลายสถานะ ตั้งแต่ยากจนมาก ครอบครัวปานกลาง และครอบครัวมีอันจะกิน ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต มีจำนวนโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามีสูง ดังนั้น เทศบาลนครภูเก็ตจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เด็กๆ ในเขตก้าวทันการศึกษา เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

“เราเริ่มพัฒนาการศึกษามาตั้งแต่ปี 2542 เน้นการปูพื้นฐานด้านไอทีและภาษา นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมทั้งในด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เจอเด็กสามารถค้นหาศักยภาพของตัวเองได้แบบไม่ต้องเรียนพิเศษ และจะทำให้เราเจอเด็กเก่งจากหลากหลายด้าน”

“สมใจ” กล่าวอีกว่า เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ล่าสุดจึงร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK Park หน่วยงานในสังกัดสำนักบริการและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ตขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการอ่านสำหรับคนทุกช่วงวัย และพัฒนาทักษะนวัตกรรมเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ รองรับการเป็นสมาร์ท ซิตี้ ของภูเก็ต

“ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล” ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park : ทีเค พาร์ค) กล่าวว่า เป็นภารกิจของทีเค พาร์ค อยู่แล้วที่ต้องพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของแต่ละท้องที่ ซึ่งการพัฒนานั้นจะขยายผลไปตามบริบทของแต่ละแห่ง อย่างของ จ.ภูเก็ต มีห้องสมุดประชาชนเป็นฐานเดิม มีทำเลที่ดีที่อยู่ในย่านชุมชน ใกล้สถานศึกษา เหมาะแก่การพัฒนาเป็นอุทยานการเรียนรู้ จึงเข้ามาปรับปรุงในเรื่องของกายภาพ และเติมหนังสือและสื่ออื่น พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้ที่นี่กลายเป็นที่พบปะสำหรับผู้ปกครองที่มารอบุตรหลาน และมีหนังสือเหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

“ส่วนอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center เดิมเป็นศูนย์ไอซีทีที่ทีเค พาร์ค ร่วมงานกับ SIPA หรือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อยู่แล้ว ทำให้ส่วนนี้จะเน้นไปที่ทักษะด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีการเติมหนังสือและสื่อด้านไอทีและความคิดสร้างสรรค์เข้าไป พร้อมมีการจัดอบรม-เวิร์คช็อปความรู้และทักษะด้านไอทีด้วย”

ดร.ทัศนัยกล่าวอีกว่า นอกจากได้เรียนรู้แล้ว ที่นี่ยังให้เด็กๆ ได้ลงมือทำจริง สร้างประสบการณ์ตรง เป็นเหมือนการสร้าง Kid Startup เตรียมพร้อมเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยไม่ได้สนใจเงินอย่างเดียว แต่จะมีการสอนเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย เพื่อให้มีความคิดสร้างสรรค์แบบถูกกฎหมาย

ใครสนใจลองไปใช้บริการอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ตกันได้ สำหรับ Life Long Learning Center เปิดให้บริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-19.00 น. และ Creativity & Innovation Center เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30-19.30 น. อัตราค่าสมาชิกคนละ 100 บาท/ปี