ก้าวไปด้วยพลังฝัน ! “เจมส์ วรายุทธ” ซีอีโอ mu Space ภารกิจโลกอนาคต “ดาวเทียม-เที่ยวอวกาศ”

เรื่องโดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา / ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
“เวลาผมมองดวงดาว มันไม่ใช่เเค่อยากดู เเต่เป็นความรู้สึกอยากไปหามันเเละคิดว่าทำอย่างไรจะเดินทางไปถึงได้” 

นี่คือความคิดไม่ธรรมดาของหนุ่มผู้หลงใหลในอวกาศอย่าง “เจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง” ผู้ก่อตั้งเทคสตาร์ตอัพสัญชาติไทย “mu Space”   ที่เพิ่งจับมือกับ Blue Origin ของ “เจฟฟ์ เบโซส์” ส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจรด้วยจรวด New Glenn

กับภารกิจยิ่งใหญ่ที่จะพาคุณไปท่องเที่ยวอวกาศ  ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี…เพื่อคนทุกคน

“ผู้คนจะรู้สึกมีความหวังในอนาคต จรวดเเต่ละนัดที่ยิงขึ้นไป กลายเป็นตัวผลักดันให้เราต้องรีบทำ”

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” เปิดใจทุกมิติกับหัวเรือใหญ่แห่ง mu Space วัย 33 ปี พูดคุยกลยุทธ์ แผนงาน เป้าหมาย เรื่องราวชีวิตและแพชชั่น ที่จะปลุกพลังในตัวคุณให้ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อโลกอนาคต  …ขอให้ “ล้มแล้วต้องลุกได้” และเรื่องอวกาศจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป

แม้จะเป็นหน้าใหม่ในวงการสื่อสารโทรคมนาคมไทย แต่ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการเทคโนโลยีโลก เขาเคยทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทใหญ่อย่าง Northrop Grumman ก่อนตัดสินใจลาออกมาตั้งสตาร์ตอัพเล็กๆ

“เป็นความฝันที่ผมคิดวางแผนไว้ว่าจะทำตั้งเเต่เด็ก จากความหลงใหลในเรื่องราวของอวกาศ โดยคิดว่าต้องลองทำงานกับบริษัทใหญ่ในต่างประเทศก่อนสัก 3 ปี เพื่อศึกษาองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัยเเละระบบการจัดการ เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย”

Sometimes you Win, Sometimes you Learn

“เจมส์” จึงได้ทดลองทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน ดาวเทียม อาวุธเเละเรือต่างๆ รวมไปถึงด้านเฮลธ์แคร์เเละพลังงาน ถือว่าเป็นการวางพื้นฐานการทำงานบริษัทใหญ่ เพื่อหาประสบการณ์และค้นหาวิธีการใหม่ๆ อยู่เสมอ

“ผ่านไป 6-7 ปี ผมก็คิดว่าถึงเวลาสมควรเเล้ว เพราะอายุตอนนั้นก็ 29 ปี จึงเข้ามาอยู่ในสิ่งที่ตัวเองถนัด สิ่งที่มาจากเเพชชั่นของเราจริงๆ ผมท่องไว้ในใจเสมอว่า  Sometimes you Win, Sometimes you Learn “ เบื้องหลังความสำเร็จต้องใช้เวลานาน ต้องทำงานหนักเเละเรียนรู้ทั้งสิ่งดีเเละข้อผิดพลาด  นี่จึงเป็นจุดประกายสำคัญให้สร้างบริษัทของตัวเองขึ้นมา”

แต่ทุกอย่างก็ย่อมมีอุปสรรค ด้วยการเริ่มต้นสร้างสิ่งใหม่ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เขาเล่าย้อนไปในช่วงนั้นให้ฟังว่า

“ตอนสร้างสตาร์ตอัพ การอยู่การกินต้องธรรมดาสุดๆ ผมเคยขายบ้านเอาเงินมาทำทุน กู้ยืมก็มี ขายสิ่งของหลายอย่าง เงินส่วนตัวเเรกๆ เริ่มต้นประมาณ 10 กว่าล้านบาท เป็นก้อนเเรกที่หามาตั้งเเต่ทำงาน ตอนนั้นคิดว่าถ้าพลาด ไปไม่รอดอย่างน้อยก็ยังมีบ้านหลังเล็กๆ ในต่างประเทศอยู่ ก็เริ่มจากตรงนั้น ก่อนจะมีการลงทุนกับครอบครัวเเละเปิดระดมทุนกันต่อมา”

โดยในเดือนกันยายน ปี 2560 เจมส์ วรายุทธได้เปิดตัวบริษัท บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ mu Space ขึ้นมา ด้วยทุนของตัวเองและการสนุบสนุนจากคุณพ่อ คือ พล.อ.วิลาศ เย็นบำรุง และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ “ดาวเทียมสื่อสาร” รายที่ 2 ของไทย ต่อจากบริษัทไทยคม จากกสทช. และขณะนิ้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

สำหรับทีมงานชุดแรกของ mu Space นั้น เริ่มบุกเบิกจากกลุ่มเล็กๆ 6-7 คน ปัจจุบันขยายเป็น 20 กว่าคน โดยตั้งเป้าจะสร้างทีมตามแผนงานให้ได้ราว 30-50 คน

ที่มาของชื่อ  mu Space นั้นความหมายลึกซึ้งเเต่คงความเรียบง่าย คือ “สำหรับทุกคน” โดยโลโก้แบรนด์จะมีเครื่องหมายเท่ากับด้านซ้าย เเละไม่เท่ากับด้านขวา เป็นความคู่ตรงข้าม เช่น ความดีก็ต้องมีความไม่ดี ขาวก็ต้องมีดำ ผู้ชายก็ต้องมีผู้หญิง เป็นหยินหยาง

และ “mu” หากพิมพ์ลงโปรเเกรม mu คือค่า average ค่าเฉลี่ยของทุกคน เหมือนให้ทุกคนเข้าถึงเเละสร้างอีโคซีสเต็มรอบๆ ตัวมัน ส่วนภารกิจสำคัญก็คือ Space นั่นเอง

โรดเเมป 10 ปี ลุยภารกิจเเห่งอนาคต

กระแสตอบรับดีเกินคาด…แต่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เจมส์อธิบายว่า ช่วง 2-3 ปีเเรกถือเป็นการเรียนรู้ โดยมีโรดเเมปที่วางไว้ 10 ปี “mu Space” มีเป้าหมายที่เเน่ชัดที่จะไปให้ไกลให้ได้ เเม้จะมีอุปสรรคที่ผ่านมาในช่วงนี้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ

“การที่เราทำสิ่งที่เราเเพชชั่น ทำสิ่งที่เราฝันอยู่นั้น ทำให้ยิ่งมีกำลังใจในการแก้ปัญหามากขึ้น การมาตั้งบริษัทบุกเบิกเรื่องอวกาศในประเทศไทยนั้น มีความจำเป็นที่เราต้องหาทรัพยากรมนุษย์เก่งๆ มาซัพพอร์ตจุดนี้ เเละต้องติดต่อกับทางภาครัฐเเละเอกชน อีกทั้งช่วงนี้ยังต้องสื่อสารให้คนทั่วไปได้รู้จัก mu Space มากขึ้นด้วย ว่าในระยะยาวมันคือภารกิจของเราทุกคน เป็นภารกิจเเห่งอนาคต”

ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจก็มีความเเตกต่างจากต่างประเทศพอสมควร เราจึงต้องปรับเเละเสริมให้เข้ากับไทยมากขึ้น

ด้านกฎหมาย ทางบริษัทมีทีมผู้เชี่ยวชาญดูเเลด้านนี้ โดยเขามองว่าคงต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายค่อนข้างเยอะ เพราะกฎหมายต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจกำหนดใช้มากกว่า ซึ่งพื้นฐานของเเต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถนำรูปแบบของสหรัฐหรือจีน มาใช้ได้ทั้งหมด

 Trust And Believe ทีมคือสิ่งสำคัญที่สุด

“ที่ทำงาน สำหรับผมไม่คิดว่ามันเป็นงาน คิดว่าเรากำลังทำภารกิจของชีวิตที่ต้องใช้เวลา เเล้วจุดนี้ก็ถือว่าไปไวพอสมควร Trust And Believe สำคัญที่สุด  ตอนนี้ก็กำลังไปต่อในเรื่องเเบรนด์เเละการมีส่วนร่วมของคนในสังคม สื่อให้คนเข้าใจได้”

โดยเจมส์บอกว่า สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดตอนนี้คือ “ทีมเวิร์ก” โดยเฉพาะวิธีการที่จะสื่อสารกันในเรื่องไอเดียของเเต่ละคน ด้วยพื้นฐานของคนไทยยังเป็นในรูปแบบเกรงใจ ทำให้ยังไม่เปิดการสื่อสารต่อกันมากนัก จึงต้องคำนึงตรงนี้ให้มาก และคิดสเกลให้เล็กลงเข้ากับทีมที่เล็กลง

“ผมใช้เวลากับทีมเยอะมาก เพื่อให้มี vision เดียวกัน ต้องอธิบายให้เเน่ชัด เหมือนสอนวิธีเล่นเกมให้ลูกทีม พอรู้เทคนิคเเล้วให้พวกเขาไปลองทำกันเลย เชื่อมั่นในทีม เพราะถ้าไม่เชื่อใจก็จะไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำตามเป้าหมายลำบาก”

เมื่อถามว่าเคยท้อบ้างไหม ซีอีโอแห่ง mu Space ตอบทันทีว่า  เขาคิดถึงตอนทำงานกับบริษัท ช่วงนั้นเกิดความรู้สึกท้อบ่อยมา เพราะต้องทำตามเป้าหมายของคนอื่น เเต่พอมาเป็นของตัวเองก็กลายเป็นว่ากลับมีพลังเยอะ อยากทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเจออุปสรรคอะไร ต้องมีกระบวนการ อย่าใจร้อน พยายามคิดโซลูชั่นใหม่ๆ มาปรับปรุงทีม

“คนเราทุกคนมีความ bias พอเราจับอะไรซ้ำๆอย่างเรื่องอวกาศ การตัดสินใจของผมก็จะเอนเอียงไปทางนั้น เเต่ข้อดีคือจะตัดสินใจได้เเม่นยำกว่าคนที่ไม่ได้หมกมุ่นกับเรื่องนี้ unbiased technology มันเป็นเรื่องที่ทำได้เเต่ต้องเซ็ต fundamental ให้ถูกต้องตั้งเเต่เริ่มต้น”

จับมือ Blue Origin ส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจร

ล่าสุดกับการประกาศจับมือกับ “Blue Origin” ของเจ้าพ่ออเมซอน “เจฟฟ์ เบโซส์” เตรียมส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวด New Glenn เที่ยวแรกในปลายปี 2563

“mu Space และ Blue Origin มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งการที่จะถึงจุดนั้นได้เราต้องไปในอวกาศ มุ่งไปในดินแดนในความฝันที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อนซึ่งจะเป็นภารกิจที่เปลี่ยนชีวิตเราในอนาคต”

ปัจจุบัน mu Space กำลังมุ่งมั่นในการสนับสนุนความต้องการที่เติบโตมากขึ้นในเรื่องบ้านอัจฉริยะ รถยนตร์อัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ ทั่วเอเชีย-แปซิฟิค และมีแผนงานที่จะขยายไปทั่วโลก ให้ทุกพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเตอร์เน็ต พร้อมเสริมสร้างและเร่งการพัฒนา Smart applications ต่างๆ โดยในระยะยาวบริษัทจะส่งดาวเทียมของตัวเองไปในวงโคจรในปี 2563 มีพื้นที่ให้บริการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย

นอกจากนี้ วรายุทธพูดถึง การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทย ว่า มีการเข้าถึงในระดับหนึ่ง จากนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมทำให้เข้าถึงได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ

“เข้าถึงโดยใครเป็นคนจ่าย ? “ นี่คือโจทย์สำคัญที่ mu Space เข้ามาทำในด้านนี้ โดยเน้นไปที่ความยั่งยืน มีรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน

ดังนั้น “การเข้าถึง” จึงเป็นจุดเริ่มต้น ต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ต้องต่อยอดไปให้ได้ ถ้าความคิดไม่ได้หยุดในลักษณะที่จะเอากำไรครั้งเดียวเเล้วจบ เเต่เลือกความยั่งยืนเพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ smart village ซึ่งเริ่มวัดได้จากเทคโนโลยีที่ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีโรคภัยน้อยลง การศึกษาดีขึ้น เกษตรกรรมมีคุณภาพมากขึ้น เป็นต้น

เปิดทัวร์อวกาศแห่งแรกในเอเชีย เล็งตะลุยดวงจันทร์ เป็นดวงแรก

เที่ยวในประเทศ เที่ยวต่างประเทศ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป เมื่อเร็วๆนี้กำลังจะมีการท่องเที่ยวประเภท “ทัวร์อวกาศ” ขึ้นมา

ซีอีโอ mu Space กล่าวถึงภารกิจยิ่งใหญ่นี้ว่า ตอนนี้ทีมใหญ่ยุ่งกับภารกิจเกี่ยวกับดาวเทียม ทำให้ต้องเดินเรื่องกับทีมเล็ก โดยกำลังจะเทรนด์เรื่องเเผนงานกันอีกรอบ เพราะยิ่งเเผนชัดเจนเท่าไหร่ ทุกอย่างจะไปได้รวดเร็ว จังหวะของ mu Space ในตอนนี้จึงจะเน้นไปที่ “ความเเม่นยำ” มากกว่า จึงต้องมีการประกาศ space travel mission ออกมาให้เห็นก่อน เเละจะมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

“หวังว่าเเพลตฟอร์มของเราจะเป็นพิมพ์เขียวให้รุ่นน้องคนร่นใหม่ได้สามารถนำไปพัฒนา space travel ได้ในอนาคต โดยเเผน 10 ปีของเรา เเน่นอนชัดเจนว่าเราวางเป้าหมายไว้ที่ “ดวงจันทร์” ก่อนไปดาวที่ห่างไกลกว่านั้น”

เปิดระดมทุน…เพื่อการเปลี่ยนเเปลง

ด้วยความที่เป็นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล และในปัจจุบันก็มีแต่บริษัทใหญ่ที่มีมหาเศรษฐีเป็นเจ้าของ ก้าวต่อไปของสตาร์ตอัพเล็กๆอย่าง mu Space จะเป็นอย่างไร

“เราจะมีการระดมทุนเพิ่มอีกรอบในปีนี้ เพราะมันตอบโจทย์กับตัวภารกิจที่เราต้องทำ ให้ดำเนินไปได้เร็วขึ้น โดยต้องขอบอกว่าเราจะเอาเท่าที่จำเป็น เพื่อให้มันไปต่อได้ด้วยตัวมันเอง  fundamental to change สิ่งที่มีในวันนี้อาจไม่มีในวันหน้า นักลงทุนต้องการความชัดเจน ความเสี่ยงที่คาดเดาได้ ถ้า mission เราเคลียร์ พื้นฐานดี นักลงทุนก็กล้าลงทุนมากขึ้น เป็นการเดินไปตามสเต็ปอย่างยั่งยืน

ความคิดของเราไม่เคยเอาเงินเป็นตัวตั้ง เรามองนักลงทุนที่มี ecosystem บางอย่าง เช่นองค์ความรู้ 50-80 ปี ที่เราไม่สามารถใช้เงินซื้อได้ ดังนั้นนักลงทุนก็ควรจะได้เงินตอบเเทนสูง ถ้ายอมรับความเสี่ยง”

เจมส์ เห็นว่านักลงทุนที่มีเป้าหมายเดียวกันจะทำให้คุยกันง่ายขึ้น เพราะนอกจากจะโฟกัสไปเรื่องของอวกาศเเล้ว ก็ต้องมีความโอบอ้อมอารีด้วย คิดถึงคนหมู่มากเเละมีกำลังที่จะลงทุนพอสมควร

“ตอนนี้บริษัทเราจะอยู่ในหลัก 100-200 ล้าน ขั้นต่อไปต้องคูณด้วยร้อย สเกลก็จะอยู่ที่ 1,000-2,000 ล้าน  พอทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีลูกค้าจากส่วน space travel และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชิพหลายบริษัท พร้อมขยายไปยังเเถบอาเซียน โดยกลยุทธ์ที่จะให้ความสำคัญช่วงนี้ คือเน้นสร้าง quality product เเละ Customer experience”

เปิดมุมไลฟ์สไตล์…ตรรกะความคิด เเบ่งชีวิตเเละการทำงาน

และอีกหนึ่งความน่าสนใจในเรื่องราวชีวิตของ “เจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง” ความฝันยิ่งใหญ่ไกลถึงอวกาศ ก่อนจะหล่อหลอมมาเป็นซีอีโอแห่ง mu Space ในวันนี้…โดยเขาได้เล่าถึงไลฟ์สไตล์ส่วนตัวแบบชิลๆ กับ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” วิธีจัดการเวลางาน-เวลาเล่น อย่างไรให้ลงตัว

“ผมชื่นชอบเรื่องดูดาวตั้งเเต่เด็ก ตอนนั้นอาจไม่ถึงขั้นดาราศาสตร์ที่ส่องกล้อง แต่เวลาผมมองดวงดาว มันไม่ใช่เเค่อยากดู เเต่อยากไปหามันเเละคิดว่าทำอย่างไรเดินทางไปถึงได้” 

ส่วนเวลาดูหนังสตาร์ วอร์ส หรืออนิเมชั่นที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เจมส์คิดเสมอว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ จากนั้นเขาก็จะคิดหาวิธีเข้าใกล้มัน โดยเคยวาดผังเครื่องบิน ฐานปล่อยยาน ห้องส่วนตัวก็จะมีเเต่รูปภาพดาวเทียม หุ่นยนต์จักรกลต่างๆ

“นิสัยตอนเด็กผมไม่ค่อยชอบทำตามระบบ เช่นตอนต่อเลโก้ ก็จะสร้างเเบบใหม่ ไม่เอาตามเเผน เเต่ไม่ได้ประกอบไม่เร็ว เน้นช้าเพราะคิดเยอะ พอประกอบเเล้วมีฟังก์ชั่นที่เเปลกออกมา เพื่อนมาดูก็ต้องบอกว่าไม่เหมือนกัน จากนั้นก็เลือกเรียนสายวิทย์ เพราะไม่เก่งภาษาไทย สะกดคำช้า ผมพูดช้านะ เเต่พอให้เขียนอธิบาย ให้วาดเมื่อไหร่จะไวมาก สมองจะเเล่นไปหมด”

วรายุทธ จบปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aerospace, Aeronautical and Astronautical  และก็ต่อปริญญาโท ในคณะเดิม แต่เป็นสาขา Mechanical Engineering  ที่ University of California, Los Angeles (UCLA)  โดยหลังจากอยู่ต่างประเทศมา 14 ปีตั้งแต่สมัยไฮสคูล จึงกลับเมืองไทยหันมาชิมลางสตาร์ทอัพอวกาศแห่งแรกของเอเชีย

“ย้อนกลับไปตอนเริ่มไปอยู่เมืองนอก ตอนอายุ 14 ปี เจอสังคมเเตกต่างเยอะเเต่พยายามปรับตัวได้ เพราะตอนอยู่ไทยผมมักจะตั้งคำถามเเละชอบดีเบต หาเหตุเเละผลจากโครงสร้างระบบ เช่นทำไมเด็กต้องเรียนพิเศษ ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องทำอย่างนั้น ไม่ใช่ไม่ฟังผู้ใหญ่นะ เเต่ผมมีเหตุผลอย่างนี้”

เขาบอกว่า ทัศนะส่วนตัวจึงเป็นการผสมกันระหว่างวัฒนธรรมไทยที่มีดีอยู่เยอะ วัฒนธรรมนิวซีเเลนด์ วัฒนธรรมอเมริกา เเละประเทศอื่นๆที่ได้เดินทางไปทำธุรกิจ ซึ่งมีส่วนทำให้ได้เรียนรู้เเละมีทัศนคติที่กว้าง มองออกว่าจะทำอะไรให้คนหมู่มาก จากคนไทยไปทั่วโลก

“ผมไม่มีไอดอลเป็นพิเศษ ชื่นชอบหลายคน ยกตัวอย่างคนที่ผมสนใจเรื่องราวชีวิต คือ “เซอร์เกย์ บริน” ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล จุดน่าสนใจคือมุมของเขากับพ่อ เพราะคล้ายกับผมที่มีคุณพ่อคอยเเนะ คอยปูพื้นฐานให้ สอนให้เราทุ่มไปที่การพัฒนาคน รวมไปถึงชีวิตของความเป็นผู้อพยพ ซึ่งมีอุปสรรคที่ทำให้คิดถึงตัวเองตอนไปเมืองนอกเเรกๆ ที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ การทำวีซ่าที่ยุ่งยากเเละการหาทางอยู่รอดในสถานที่ใหม่ให้ได้

“ผมไม่ค่อยเปลี่ยนจากช่วงวัยรุ่นมากนัก เป็นคนง่ายๆ พยายามเหมือนเดิมเพราะรู้สึกว่าไม่เสียดายในสิ่งที่ตัดสินใจไป อาจจะมีเรื่องที่ทำให้เสียใจบ้าง เเต่ก็คิดว่าเราทำเต็มที่สุดๆ กับมันเเล้ว

เราต้องรู้ตัวเองว่าเราเครียดก่อน บางกรณีต้องจัดการมันอย่างรวดเร็ว เเต่บางทีต้องใช้เวลา คิดเป็นระบบมากขึ้นก็จะรู้สึกดี ช่วงนี้งานหนัก ผมคิดว่าต้องเริ่มให้เวลากับการไปออกกำลังกายบ้าง เจอเพื่อนให้บ่อยขึ้น เพราะเจอเพื่อนที่ไรได้ไอเดียใหม่ทุกที”

ซีอีโอ mu Space เล่าถึงความชื่นชอบด้านกีฬาว่า เขาชอบเล่นเทนนิสที่สุด รองลงมาคือตีกอล์ฟ ชอบวิ่งในสวน และเคยเป็นทีมฟุตบอลสมัยยังเด็ก

“พอเริ่มทำธุรกิจก็เริ่มไม่มีเวลา น้ำหนักก็ขึ้นเอาๆ ผมทำงาน 7 วัน ไม่มีวันหยุดนะ เเบ่งเป็นวันธรรมดาก็ทำงานกับทีม เสาร์-อาทิตย์จะเป็นวันคิดไอเดีย บางทีก็จะมีเรียกคนในทีมมาบ้าง นั่งคุยกัน หาจังหวะกระตุ้นพวกเขา นัดกินข้าวกินกาเเฟ เเล้วคิดว่าจะชวนไปออกกำลังกายกันด้วย วิ่งไปคุยไป”

สุดท้าย “เจมส์ วรายุทธ” ได้ฝากถึงสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่กำลังทำตามความฝันว่า ขอให้มี vision ที่ไกล สร้างทีมที่เเข็งเเกร่ง จงเเน่วเเน่เเละเชื่อมั่น กล้าล้มเเละลุกขึ้นมาสู้ใหม่ คิดถึงอนาคตและส่วนรวม สร้างเเพลตฟอร์มเพื่อให้คนรุ่นหลังได้พัฒนาต่อไป

นี่คือความไม่ธรรมดาของ…. mu Space