ถ้าหมดยุค “แอนดี้ เมอร์เรย์” โลกเทนนิส-กีฬาบริติชจะเปลี่ยนอีกหน

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

คงเป็นเรื่องที่แดนผู้ดีต้องทำใจรับเมื่อพวกเขามีแนวโน้มได้เห็นแอนดี้ เมอร์เรย์ นักเทนนิสที่น่าจะเป็นอีกหนึ่งนักกีฬาที่ถือว่าเป็นหน้า

เป็นตาและสร้างสีสันให้ผู้คนบริติชจากการโลดแล่นในคอร์ตเทนนิส และประสบความสำเร็จในรายการแกรนด์สแลมในถิ่น 2 สมัย แต่ด้วยอาการบาดเจ็บสะโพกเรื้อรัง เขาถึงกับยอมรับด้วยน้ำตาระหว่างการแถลงข่าวว่า รายการออสเตรเลียน โอเพ่นอาจเป็นรายการสุดท้ายในอาชีพก็ได้

เมอร์เรย์เปิดเผยว่า อาการบาดเจ็บสะโพกนี้เรื้อรังมานานหลายปีแล้ว เมื่อย้อนไทม์ไลน์ไปจะเห็นว่าเมื่อปี 2017 หลังจากตกรอบวิมเบิลดันแล้ว นักหวดชาวสกอตก็รูดม่านฤดูกาลของตัวเองไปพักฟื้นร่างกาย

จากนั้นก็เข้าผ่าตัดเมื่อเดือนมกราคม 2018 ซึ่งช่วงนั้นเมอร์เรย์ยังเชื่อว่าเขาน่าจะกลับมาแข่งขันอาชีพได้อีก

แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังไว้ ภายหลังต่อมาเมอร์เรย์เปิดเผยว่า เขารู้สึกเจ็บสะโพกทุกวัน แม้แต่การสวมถุงเท้าและจูงสุนัขไปเดินเล่นก็ยังมีอาการปวดอยู่ การรักษาอาการบาดเจ็บเรื้อรัง

ข้อสะโพกในนักกีฬามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชื่อดังชาวอเมริกันที่รักษานักกีฬาอเมริกันเกมให้กลับมาเล่นได้หลายราย แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย

การผ่าตัดรักษาอาการนี้ แพทย์จะฝังเหล็กลงเพื่อช่วยรักษาอาการ ถึงการผ่าตัดจะแก้ปัญหาอาการปวดได้ แต่ชิ้นส่วนเหล็กก็มีแนวโน้มเสื่อมสภาพหลังใช้งานไปแล้วประมาณ 10-15 ปี หากผู้ป่วยใช้งานหนักก็ยิ่งเสื่อมสภาพเร็วมากขึ้น เมื่อนั้นก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดอีก และการผ่าตัดปรับปรุงมีความเสี่ยง ผลลัพธ์ที่ออกมามักไม่น่าพอใจ

แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะกลับมาใช้ชีวิตได้แบบปกติโดยไม่มีอาการเจ็บปวดอีก สามารถเล่นกีฬาได้เหมือนคนปกติ แต่ยังไม่เคยมีใครที่เป็นนักกีฬาเทนนิส โดยผู้ป่วยจากสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ที่รับการผ่าตัดนี้มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ขณะที่เมอร์เรย์เพิ่งอายุ 31 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน่าเสียดายมาก เพราะเส้นทางนักกีฬาประเภทเทนนิสนั้นยังสามารถมีโอกาสโลดแล่นไปจนถึงช่วงปลาย 30 ได้

คนในครอบครัวของเมอร์เรย์เล่าว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินใจคือการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีและดูแลลูกทั้ง 2 คนของเขา ที่สำคัญคนในครอบครัวก็หวังให้อย่างน้อยเมอร์เรย์สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติทั่วไปโดยไม่มีอาการเจ็บปวดรบกวน

เป็นเรื่องน่าเสียดายและอาจน่าเจ็บปวดสำหรับแฟนกีฬา โดยเฉพาะกลุ่มบริติชที่เคยส่งเสียงเชียร์แอนดี้ เมอร์เรย์ ให้ชูแชมป์วิมเบิลดันและเห็นหนุ่มสกอตรายนี้ประสบความสำเร็จก้าวขึ้นมามีประกายในกลุ่มบิ๊กโฟร์ของวงการเทนนิสยุคนี้

นอกเหนือจาก โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, ราฟาเอล นาดาล และ โนวัค ยอโควิช

วงการลูกสักหลาดมี แอนดี้ เมอร์เรย์ เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ทำให้การแข่งขันมีสีสันและเข้มข้น เฟดเอ็กซ์จะเข้าวัย 38 ในเดือนสิงหาคมนี้ เทียบกับเมอร์เรย์แล้วหากเขาไม่มีอาการบาดเจ็บ นักหวดสกอตยังอยู่ให้แฟนได้เชียร์ไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี

นั่นหมายถึงแกรนด์สแลมรวมไม่ต่ำกว่า 20 รายการที่จะได้ดูเมอร์เรย์ลงแข่ง

ใจจริงแล้วเมอร์เรย์วางเป้าแขวนแร็กเกตหลังจบศึกวิมเบิลดันในปีนี้ อย่างไรก็ตาม

สถานการณ์ที่เหลืออาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด ความทรงจำในช่วงวิมเบิลดันปี 2013 ที่เมอร์เรย์สามารถคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้เป็นแชมป์แกรนด์สแลมที่ 2

ของชีวิต และเป็นชาวบริติชคนแรกที่ได้แชมป์ชายเดี่ยววิมเบิลดันในรอบกว่า 70 ปี ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเมอร์เรย์เป็นอีกหนึ่งขุมกำลังนักกีฬาในสหราชอาณาจักรที่ทำให้วงการกีฬาแดนผู้ดีเข้าสู่ยุคทองอีกหนึ่งยุค (ในแง่ความสำเร็จจากผลการแข่ง)

สำหรับวงการเทนนิสแล้ว เกือบ 2 ทศวรรษที่โลกได้รู้จักกับคู่ปรับอย่างนาดาล-เฟเดอเรอร์ กระทั่งทศวรรษหลังมีโนเล (ยอโควิช) นักหวดเซิร์บก่อนที่เมอร์เรย์จะแทรกเข้ามาเบียดชิงอันดับโลกและแชมป์รายการเมเจอร์แห่งโลกเทนนิสควบคู่กับขาใหญ่ได้อย่างสนุก กลายเป็นยุคแห่งบิ๊กโฟร์วงการเทนนิส

ยุคนี้เป็นยุคที่เทนนิสชายผลัดกันลุ้นกันเข้มข้น (น่าเสียดายที่บางรายพักแข่งไปนานจากอาการบาดเจ็บเช่นกัน) ด้วยสายเลือดสกอต เมอร์เรย์คือนักสู้ที่ก้าวมาขับเคี่ยวกับยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมานาน เมอร์เรย์พยายามถึง 8 ครั้งก่อนจะสัมผัสวิมเบิลดัน ตามมาด้วยเหรียญทองโอลิมปิก และยังเป็นกำลังสำคัญให้สหราชอาณาจักรได้แชมป์เดวิส คัพเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936

บุคลิกความเป็นนักสู้ของเมอร์เรย์ ทำให้เขาแตกต่างจากนักกีฬารายอื่น รายได้ต่าง ๆ ที่เมอร์เรย์ได้มาจากการเป็นนักกีฬาอาชีพ ส่วนหนึ่งก็มาจากผู้สนับสนุนที่เล็งเห็นถึงความแตกต่างที่โดดเด่น หากเมอร์เรย์ต้องจำใจตัดสินใจเดินออกจากเส้นทางนักเทนนิสอาชีพ เขาย่อมมีมรดกเป็นเงินรายได้ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านปอนด์ แฟน ๆ ก็คงได้แต่เก็บความทรงจำเอาไว้ และรับรู้ว่ายุคสมัยแห่ง

บิ๊กโฟร์ของเทนนิสกำลังจะเปลี่ยนและเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิดเช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างในโลกทุกวันนี้