“อเมลี โมเรสโม” โค้ชหญิงผู้เปิดประตู ความเท่าเทียมทางเพศในโลกเทนนิส

จั่วหัวต้นปีมาก็มีรายการกีฬาระดับเมเจอร์หลายรายการให้ติดตามกัน และเป็นธรรมดาที่แฟนเทนนิสจะได้ประเดิมด้วยออสเตรเลียน โอเพ่น ซึ่งมาพร้อมอุณหภูมิร้อนระอุทั้งในสนามและเรื่องราวที่น่าสนใจตามมาจากการแข่งรอบก่อนรองชนะเลิศฝ่ายชาย ซึ่งลูคัส พูลล์ จากฝรั่งเศสผ่านเข้ารอบตัดเชือกได้เป็นครั้งแรก แต่โฟกัสไม่ได้อยู่ที่ลูคัส เท่านั้น

ผลงานของ ลูคัส พูลล์ ที่เอาชนะมิลอส ราโอนิช 3-1 เซต ส่งให้ลูคัส วัย 24 ปี อีกหนึ่งนักกีฬาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในต้นปีควบคู่ไปกับหญิงสาวอีกหนึ่งรายที่เป็นโค้ชของลูคัส นักเทนนิสหนุ่มแดนน้ำหอมมีอเมลี โมเรสโม อดีตนักเทนนิสหญิงชาวฝรั่งเศสที่เคยขึ้นถึงมืออันดับ 1 ของโลกมาเป็นโค้ชให้ ผลงานในครั้งนี้ทำให้อเมลี ได้รับเครดิตไปด้วย แถมยังทำให้เกิดกระแสแฟนและคนในวงการหันมาสนใจเธออีกครั้ง

หลังจากอำลาสนามในฐานะนักกีฬาเมื่อปี 2009 อเมลี มาทำงานด้านฝึกสอนและให้คำแนะนำนักกีฬาโดยเฉพาะการเล่นคอร์ตหญ้า เธอถือเป็นโค้ชหญิงอันดับต้น ๆ ที่เริ่มมาทำงานฝึกสอนและแนะนำให้นักเทนนิสชายเมื่อปี 2014 จากงานที่เธอโค้ชให้ แอนดี้ เมอร์เรย์ ขณะที่ในวงการเทนนิสซึ่งนักกีฬาบางคนยังเชื่อว่า ฝ่ายชายมีศักยภาพที่เหนือกว่า ผลงานกับลูคัส พูลล์ ครั้งล่าสุด หรืออาจย้อนกลับไปถึงกรณีแอนดี้ เมอร์เรย์ เริ่มทำให้คติข้างต้นนี้กร่อนลงไปแล้ว

แวดวงเทนนิสช่วง 2 ปีมานี้ มีโค้ชผู้หญิงเช่นกันแต่จำนวนไม่มากนัก นักเทนนิสหญิง 100 อันดับแรก มีแค่ร้อยละ 8 ที่ทำงานกับโค้ชหญิงแบบเต็มรูปแบบ และจำนวนยิ่งหดลงอีกเมื่อตีกรอบเจาะจงไปที่ผู้เล่นหญิงด้วยกันเองที่ติด 10 อันดับแรกของโลก เมื่อปลายปี 2018 มีนักเทนนิสหญิงใน 10 อันดับแรก มีโค้ชเป็นผู้หญิงไม่เกิน 2 คน ยังไม่ต้องพูดถึงนักเทนนิสชาย (ระดับท็อป) ที่จะมีโค้ชหญิงว่าจะน้อยแค่ไหน (นักกีฬาชายที่มีโค้ชหญิง ส่วนมากฝ่ายหญิงก็เป็นเครือญาติกันอยู่แล้ว)

หากพูดถึงโค้ชหญิงที่ทำงานให้โค้ชชาย ทุกคนยกเครดิตให้กับอเมลี โมเรสโม ซึ่งฉีกกรอบเดิมจากงานกับแอนดี้ เมอร์เรย์ เมื่อปี 2014 ในช่วงเวลานั้นเมอร์เรย์ ถูกผู้เล่นยุคเดียวกันแซวการตัดสินใจครั้งนั้นว่าเป็นไปตามปกติในกระแสยุคที่คนสนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (เมอร์เรย์

เป็นนักกีฬาที่แสดงออกเรื่องความเท่าเทียมชัดเจน) แฟนบางรายถามแรงกว่านั้นด้วย ขณะที่เมอร์เรย์ และคนรอบข้างนักหวดสกอตต้องออกมาปกป้องและวิจารณ์มุมมองเชิงลบที่คนมีต่อโมเรสโม เพียงเพราะเธอเป็นโค้ชเพศหญิง

จูดี้ เมอร์เรย์ แม่ของแอนดี้ และอดีตกัปตันทีมเฟด คัพ เชื่อว่า การตัดสินใจครั้งนั้นเปิดประตูใหม่ให้คนได้กล้าเดินออกจากกรอบเดิมตามกันมา หากมองในแง่ความสามารถ นักกีฬาจำนวนไม่น้อยยอมรับกันว่า โมเรสโม เป็นผู้เชี่ยวชาญคอร์ตหญ้า เธอเริ่มงานเบื้องหลังจากการทำงานเป็นที่ปรึกษา (และโค้ช) ให้กับ มิเกล โลดร้า นักเทนนิสเพื่อนร่วมชาติในช่วงเข้าทัวร์นาเมนต์คอร์ตหญ้า

และเคยโค้ชให้ มาริยง บาร์โตลี รุ่นน้องสาวฝรั่งเศส ตามด้วย วิกตอเรีย อซาเรนก้า อีกหนึ่งอดีตมือ 1 ของโลกฝ่ายหญิง เมื่อมาทำงานกับเมอร์เรย์ ในช่วงขาขึ้น เมอร์เรย์ เข้าชิงออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อปี 2015 และเข้าถึงรอบตัดเชือกในแกรนด์สแลมอีก 2 รายการอย่างวิมเบิลดัน และเฟรนช์ โอเพ่นมาถึงต้นฤดูกาล 2019 โมเรสโม กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อเธอพาลูคัส พูลล์ เข้ารอบตัดเชือก

เป็นนักเทนนิสฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 8 ปีที่เข้ารอบรองชนะเลิศ ซึ่งลูคัส ก็ให้เครดิตกับโมเรสโม ชัดเจน เมื่อผู้ชายโค้ชผู้หญิงได้ ทำไมผู้หญิงจะโค้ชผู้ชายไม่ได้

ในทางกลับกัน ด้วยบทบาทและมาตรฐานทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศ นักกีฬาหญิงบางรายเล่าประสบการณ์ทำงานกับโค้ชชายว่า พวกเธอไม่อยากทำงานกับโค้ชชายเนื่องจากเป็นเพศที่มักเข้าถึงอำนาจที่เหนือกว่าด้วยวิธีกดอีกฝ่ายเพื่อยกตนขึ้นเหนือฝ่ายตรงข้าม ประสบการณ์เหล่านี้หรือเหตุการณ์อื่นนำมาสู่การก่อตั้งสมาคมโค้ชหญิงขึ้นเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนและให้ความรู้โค้ชชายว่าควรทำงานกับผู้หญิงที่บางรายอาจไม่ใช่นักกีฬาห้าวตามภาพพจน์ไปหมด นักกีฬาหญิงจำนวนไม่น้อยก็อ่อนไหวเหมือนผู้หญิงทั่วไป

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีโค้ชหญิงในวงการเทนนิสน้อยยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของโค้ชที่ต้องเดินทางตลอดเวลา ส่วนใหญ่โค้ชมักเป็นอดีตผู้เล่นที่อำลาสนามมา และมีจำนวนไม่น้อยที่มีลูก แต่ที่เป็นช่องโหว่สำคัญคือความเข้าใจและการยอมรับ เมื่อยังมีนักกีฬาที่มองว่าเพศชายยังเหนือกว่า ตำแหน่งงานที่เปิดรับก็ยังไม่เต็มสูบ เม็ดเงินค่าตอบแทนที่ลงมาในตลาดก็ยังต้องต่อสู้กันอีก

ถึงแม้เส้นทางโค้ชหญิงในโลกเทนนิสจะยังขรุขระ แต่อย่างน้อยยังมีคนที่กล้าเริ่มทดลองเบิกทางและเรียกร้องสิ่งที่พึงจะเป็นในวงการตามแนวคิดที่มีฐานจากหลักเหตุผลที่พิสูจน์ได้จากผลงาน อเมลี โมเรสโม

คือบุคคลสำคัญที่เบิกทางเอาไว้ให้โค้ชหญิงจนถึงเคาะกรอบแนวคิดเดิมของคนกีฬาบางกลุ่มที่ยังมองเรื่องเพศเป็นกรอบบ่งชี้ศักยภาพอยู่ เชื่อว่า ถ้ามีคนเดินหน้าต่อ และมีคนรุ่นหลังเดิมตาม เส้นทางในอนาคตจะเปิดกว้างและสดใสขึ้น