ย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน แฟนบอลทีมไหนก็ตามต่างตั้งตารอคอยเกมเอล กลาซิโก้ ในลาลีกา สเปน อย่างใจจดใจจ่อ ศึกดวลฝีเท้าระหว่างเรอัล มาดริด กับบาร์เซโลนา ไม่เพียงแต่เดือดในฐานะบทพิสูจน์ศักดิ์ศรีความเป็นหนึ่งตั้งแต่อดีตมาเท่านั้น แต่ยังเดือดด้วยการวัดฝีเท้าระหว่างดาวดังแห่งยุคไปจนถึงกึ๋นของยอดผู้จัดการทีมแถวหน้าสุดของโลก 2 คน แต่มาถึงวันนี้ เอล กลาซิโก้ ในภาพรวม กระแสนอกสเปนช่างเงียบเหงาเมื่อเทียบกับเมื่อ 7-8 ปีก่อนนี้
ต้องยอมรับก่อนว่า อีเวนต์ใหญ่ของโลกกีฬาแต่ละปีมีมากมายหลายรายการ และเอล กลาซิโก้ ก็ไม่ได้เป็นเกมที่มีผู้ชมสูงสุดอยู่แล้ว แม้ว่าลาลีกาจะประกาศว่า เกมอมตะที่เป็นจุดขายของลีกจะมีแนวโน้มจำนวนผู้ชมสูงสุดได้มากถึง 650 ล้านคน จากผู้ชม 185 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว สื่อกีฬาส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าผู้ชมเกมเอล กลาซิโก้ ในช่วงที่คอบอลยังมีประเด็นคลาสสิกเรื่อง “เมสซี่ VS โรนัลโด้” เป็นหัวข้อถกเถียงกันทุกปีอยู่ เกมเอล กลาซิโก้ มีผู้ชมโดยเฉลี่ยประมาณ 75 ล้านคนทั่วโลก
ขณะที่ตัวเลขผู้ชมซูเปอร์โบว์ล นัดชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล ในส่วนผู้ชมทั่วโลกเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านราย (อ้างอิงจากตัวเลขในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 100 ต้น ๆ มีแค่ปี 2017 ที่ตัวเลขพุ่งไปที่สถิติ 172 ล้านราย) เรียกได้ว่ามากกว่าเอล กลาซิโก้ 2 เท่า
สถิติที่ว่ามานี้ยังเป็นช่วงที่มี “เมสซี่ VS โรนัลโด้” อยู่ และกุนซือของทีมยังเป็นคู่อย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่า VS โจเซ่ มูรินโญ่ หรือคู่อื่นบ้างในช่วง 2-3 ปีหลัง
สำหรับแฟนบอล (โดยเฉพาะสเปน) เกมนี้ย่อมคู่ควรกับวลีว่าเกมใหญ่ที่สุดในโลก กระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2018 เป็นสัญญาณแรกที่พูดถึงจุดจบของเอล กลาซิโก้ ยุค “เมสซี่ VS โรนัลโด้” ซึ่งเกมเมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่ในศึกคู่ปรับแดนกระทิงดุไม่มีดาวดังทั้งสองคน
ในแง่เกมอาจยังเป็นเรื่องราวที่ดุเดือดอยู่ ถึงแม้เกมเมื่อ ต.ค. มีประตูรวมถึง 6 ลูก แต่ในเชิงสถิติโดยรวมแล้ว อาจพอชี้ผลกระทบให้เห็นภาพได้มากขึ้น เกมเอล กลาซิโก้ เมื่อมีดาวเตะทั้งคู่ลงพร้อนกันในสนาม มีประตูเพิ่มขึ้น 49.5 เปอร์เซ็นต์ ประตูรวมที่บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด ทำได้ในเกมเอล กลาซิโก้ ในรอบ 30 เกมหลังสุดที่มีเมสซี่ และโรนัลโด้ ลงเล่น มีมากถึง 101 ประตู โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนประตูที่ว่านี้ต้องมีเมสซี่หรือโรนัลโด้ มีส่วนกับประตู
หากพอเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงและอิทธิพลของคู่นักเตะนรกแตกแห่งยุคแล้ว กลับมาที่เกมเอล กลาซิโก้ เกมที่ 2 ของฤดูกาล 2018-2019 เป็นเกมรอบรองชนะเลิศ เลกแรกในศึก
โคปา เดล เรย์ ฟุตบอลถ้วยในประเทศของสเปน อาจเป็นเกมที่เรียกได้ว่ากระแส ข่าวคราว ประเด็นที่น่าพูดถึงในเกมเจือจางไปไม่น้อยกว่าครึ่งจากเสน่ห์ของเกมเอล กลาซิโก้ ในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา
ความสำคัญของเกมชิงถ้วยในประเทศระดับนี้ก็ไม่ใช่ว่าเป็นถ้วยระดับที่สโมสรแถวหน้าจะเมิน ยิ่งเมื่อเป็นศึกเอล กลาซิโก้ ด้วยแล้ว ย่อมต้องสำคัญสำหรับทีมทั้งสองฝ่าย หากพูดตรงไปตรงมา สำหรับแฟนบอลสเปนแล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีดาวเตะทั้งสอง ศึกนี้ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเขาอยู่ดี บรรยากาศ ตัวเลขแฟนบอลที่เข้ามาในสนามกว่า 9 หมื่นราย อยู่ในมาตรฐานตัวเลขเดิมเป็นเครื่องการันตีได้ดี และตัวเลขประตูในเกมเมื่อเดือนตุลาคมก็บ่งบอกได้
ความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ความทะนงในศักดิ์ศรี และความรักที่แฟนบอลมีให้สโมสรที่เชียร์นั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงจากขุนพลในสนามเท่านั้น แต่คงต้องยอมรับว่า รสชาติ สีสัน บรรยากาศการลุ้นเชียร์ในเกมที่ผู้เล่นตัวจริงไม่มีทั้งชื่อโรนัลโด้ และเมสซี่ (เริ่มเกมในม้านั่งสำรอง) ออกจากจืดชืดไปหน่อย
สิ่งที่คงเหลือไว้คือคุณภาพของเกม แท็กติกที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือความยอดเยี่ยมของผู้เล่นระดับโลกในสโมสรที่ลือลั่นไปทั่วยุโรป
ผู้เล่นที่น่าสนใจอย่างมัลคอม ปีกบราซิเลียน ที่เรียกว่าทำผลงานในเกมเอล กลาซิโก้ ซึ่งอาจเป็นเกมที่เขาต้องจดจำไปอีกนาน เมื่อเขาคือคนที่ทำประตูตีเสมอในเกมเลกแรก ในคัมพ์นู ตัวเลขสถิติชี้วัดฟอร์มของมัลคอม ยังดูเหนือกว่าเฟลิเป้ คูตินโญ่ แนวรุกเพื่อนร่วมชาติที่เล่นในตำแหน่งปีกอีกฟากของสนาม
ฝั่งบาร์เซโลนา อาจโดนนำไปก่อน แต่ฟอร์มการเล่นของผู้เล่นบาร์ซ่ามีประเด็นให้พูดถึงหลังเกมพอสมควร เช่นเดียวกับฝั่งเรอัล มาดริด ที่มีช่วงเวลาโดดเด่นของตัวเองด้วย
เชื่อว่าแฟนบอลทุกคนจะคิดถึงคู่ปรับตลอดกาลแห่งยุคไปอีกหลายปี ที่คงเหลืออยู่ยังมีแค่เมสซี่เท่านั้น ขณะที่โอกาสที่จะหวนคืนเกมเอล กลาซิโก้ อย่างเป็นทางการคงต้องบอกว่าแทบไม่มีแล้ว ยุคสมัยแห่งลูกหนังกำลังพัดผ่านเข้าสู่ช่วงแห่งการผลัดใบเปลี่ยนผ่าน จากผู้เล่นดาวดังก็ใกล้จะเป็นตำนานอีกหนึ่งบท หลงเหลือเพียงความทรงจำให้ได้รำลึกกัน อีกด้านหนึ่งก็เป็นประตูบานใหม่สำหรับดาวโรจน์ยุคใหม่จะขึ้นมาฉายแวว ติดตามกันให้ดี เอล กลาซิโก้ ก็ยังเป็นศึกเดิม ที่เปลี่ยนคือคน