อาเซียนจัดฟุตบอลโลก เป็นไปได้ไหม? แล้วจะคุ้มหรือไม่?

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ความยิ่งใหญ่ของมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกเป็นเรื่องที่ทุกประเทศใฝ่ฝันจะได้เป็นเจ้าภาพและประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ยิ่งเมื่อฟีฟ่าปรับระเบียบการแข่งรอบสุดท้ายให้มี 48 ทีม โดยเริ่มในปี 2026 โอกาสในการเป็นเจ้าภาพร่วมยิ่งมีมากขึ้น และนั่นทำให้ชาติอาเซียนสนใจเสนอตัวรับหน้าที่นี้ แต่คำถามที่สำคัญ คือ จะเป็นไปได้หรือไม่ และเรื่องนี้ได้หรือเสียมากกว่ากัน

ในการประชุมผู้นำเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีข่าวว่า ที่ประชุมมีมติสนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ในปี 2034 ซึ่งถือเป็นงานยักษ์ใหญ่ที่ต้องเคลียร์เส้นทางอีกมากมาย

หากมองในแง่โอกาสสำหรับจัดแข่ง แนวทางจับมือกัน 3-4 ประเทศร่วมกันเสนอเป็นเจ้าภาพมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มจำนวนทีมที่แข่งรอบสุดท้าย เมื่อมีทีมเพิ่มขึ้นก็ต้องมีแมตช์มากตามไปด้วย จำนวนสนามและความพร้อมในการรองรับจำนวนประเทศที่มากขึ้นก็ย่อมน่าสนใจสำหรับการพิจารณาของฟีฟ่า โดย จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า ยืนยันแนวการเป็นเจ้าภาพร่วมทั้งในแง่วาจาและตัวอย่างผลจากมุมมองขององค์กรดังที่ให้สิทธิสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และเม็กซิโก เหนือโมร็อกโก เพียงชาติเดียว

ฟีฟ่ายังมองว่า การเป็นเจ้าภาพร่วมโดยประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกด้วย ดังนั้น การจับมือร่วมกันเสนอตัวเป็นผู้จัดก็ถือว่าเข้าข่ายที่ฟีฟ่าจะสนใจทั้งด้านทฤษฎีและแง่ปฏิบัติ อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่า ฟีฟ่าอาจเลือกเจ้าภาพในกลุ่มภูมิภาคที่แปลกใหม่ หลังมีกระแสโจมตีเรื่องความไม่โปร่งใสในการโหวตเลือกกาตาร์ เป็นเจ้าภาพปี 2022

อย่างไรก็ตาม การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เพียงต้องมีความพร้อมแง่ทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย การรวมตัวเป็นเจ้าภาพย่อมทำให้มีทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องสิทธิประโยชน์ที่เสนอให้ฟีฟ่า ก็ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการสำหรับการพิจารณาลงคะแนนเลือกเจ้าภาพ

ฟีฟ่ามีเกณฑ์เรื่องสนามที่จะใช้จัดแมตช์ฟาดแข้งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายแบบละเอียดยิบ ตั้งแต่เรื่องความจุผู้ชม สนามที่จัดพิธีเปิดและปิด ต้องมีความจุมากกว่า 8 หมื่นที่นั่ง รอบรองชนะเลิศต้องมากกว่า 6 หมื่นที่นั่ง แมตช์ทั่วไปต้องมีอย่างน้อย 4 หมื่นที่นั่ง

ลักษณะเก้าอี้ผู้ชมในสนาม ระยะทางจากสนามบินมาถึงสนามแข่ง สถานที่พักรับรอง ลงไปถึงระดับลักษณะตาข่ายและเสาประตู แม้แต่มาตรฐานของสนามฝึกซ้อมก็มีรายละเอียดเป็นเกณฑ์ชัดเจนไม่แพ้กัน ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศที่น่าจะพร้อมสำหรับเจ้าภาพฟุตบอลโลกแล้ว ยังต้องมีแผนยุทธศาสตร์รองรับ

เมื่อหันมามองความพร้อมในไทยจะพบว่า เรื่องความจุสนามก็มีเพียงแค่ราชมังคลากีฬาสถาน ที่จุได้ประมาณ 5 หมื่นที่นั่ง ขณะที่ประเทศที่ดูจะพอเข้าทางได้ ก็มีอินโดนีเซีย ซึ่งมีสนามที่ความจุเกิน 4 หมื่นที่นั่ง ไม่ต่ำกว่า 5 สนาม และหลังจากการประชุมอาเซียนก็มีข่าวว่าสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย กำลังหารือร่วมกับสหพันธ์ฟุตบอลออสเตรเลีย ในการร่วมมือเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034

ไม่เพียงแค่อินโดนีเซีย และออสซี่เท่านั้น ชาติมหาอำนาจในเอเชียก็เล็งเสนอตัวชิงสิทธิจัดด้วย อย่างเช่น จีน การเพิ่มเป็น 48 ทีม ไม่เพียงส่งผลต่อเรื่องการเตรียมความพร้อม ยังมีผลต่อด้านอื่นโดยเฉพาะรายได้ของฟีฟ่า ที่เดิมทีเชื่อว่าทำรายได้มากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อทัวร์นาเมนต์

ก็น่าจะเพิ่มขึ้นด้วย แต่เมื่อมามองดูเรื่องความพร้อมและความคุ้มค่าในประเทศกำลังพัฒนาแล้ว อาจต้องคิดหนักกับการลงทุนด้านโครงสร้างและการบริการต่าง ๆ รวมมูลค่าแล้วไม่น่าจะต่ำกว่าแสนล้านบาท (ค่าสนามที่ต้องสร้างอีกอย่างน้อย 2-3 แห่ง ก็ไม่น่าจะต่ำกว่าหมื่นล้านแล้ว)

ตัวอย่างครั้งล่าสุด ฟุตบอลโลกที่รัสเซีย แดนหมีขาวใช้งบประมาณไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก CNBC) แม้รัฐบาลรัสเซียคาดการณ์ว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี) ช่วยให้เกิดการจ้างงานอีก 220,000 ตำแหน่ง แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ถูกชี้แจงแยกย่อยออกมาอย่างละเอียด ซึ่งก็ยังยากจะวัดผลได้และถูกวิจารณ์เรื่องรายได้ก้อนโตที่ไปสู่ฟีฟ่า

หากมองในแง่การเข้าร่วมลงแข่งในฐานะเจ้าภาพ ซึ่งไม่เคยมีชาติอาเซียนผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากโควตารอบคัดเลือกมาก่อน การได้ลงแข่งในมหกรรม

ลูกหนังระดับนี้ก็เป็นสิทธิที่ถูกมองว่าน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม โควตาของประเทศจากเอเชียมีเพียง 8 ที่นั่ง ในฟุตบอลโลก 2026 เป็นต้นไป ชาติในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ คงไม่สามารถเป็นเจ้าภาพได้หมด และเหลือเพียง 3-5 ประเทศที่จะได้ตั๋วในฐานะเจ้าภาพกรณีเป็นเจ้าภาพร่วม แต่ที่ยากกว่านั้นคือการเจรจาให้ลงตัวกันภายในประเทศ และระดับองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาค กระบวนการที่ว่านี้ก็ยากเย็นไม่แพ้กัน