ถอดส่วนผสมทีมแชมป์เจลีก และจุดเปลี่ยนของ ธีราทร บุญมาทัน

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ความสำเร็จของธีราทร บุญมาทัน ที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น ไม่เพียงแค่สร้างชื่อและความภาคภูมิให้กับวงการลูกหนังไทย ผลงานครั้งนี้ย่อมเป็นหลักไมล์สำคัญที่สะท้อนบทเรียนหลายประการจากความเคลื่อนไหวทั้งในสนามและกลยุทธ์หลากหลายแง่มุมจากเจลีก


ธีราทรไม่ได้เป็นผู้เล่นไทยคนแรกที่ค้าแข้งในญี่ปุ่น ในรอบ 3 ทศวรรษมานี้ นักเตะไทยไปค้าแข้งในลีกต่างประเทศระดับภูมิภาค หรือแม้แต่ระดับทวีปยุโรปหลายราย แต่แน่นอนว่า แบ็กซ้ายที่ฝีเท้าระดับเอเชียรายนี้เป็นแข้งไทยคนแรกซึ่งชูแชมป์เจลีกได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า น่าจะเป็นนักเตะไทยที่ไปค้าแข้งในต่างแดนเพียงไม่กี่รายที่สามารถไปได้ถึงแชมป์ร่วมกับทีมต้นสังกัด ความสำเร็จระดับนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน

องค์ประกอบที่จะหนุนนำไปสู่ความสำเร็จระดับนี้คงไม่ได้มีเพียงแค่ฝีเท้าเท่านั้น ต้องอาศัยปัจจัยมากมายทั้งภายในและภายนอก ที่สำคัญคือโอกาส และที่มาของโอกาสนี้ (ในลีกระดับสูง) ก็ถูกพูดถึงกันมาตั้งแต่ช่วงที่ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ได้ไปเล่นให้คอนซาโดเล ซัปโปโร เมื่อปี 2017

เมื่อปี 2018 เป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปี จากหายนะเมื่อปี 2008 ซึ่งญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของธนาคาร Lehman Brothers ในสหรัฐอเมริกา วิกฤตครั้งนั้นทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงินขึ้นทั่วโลก ญี่ปุ่นเองก็เจอ “Lehman Shock” กับเขาเช่นกัน ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจ อาทิ GDP, อัตราการเติบโตของ GDP และตัวเลขคนว่างงานของญี่ปุ่น ล้วนแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตการเงิน หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เจลีกญี่ปุ่นพยายามขยายฐานตลาดไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และมีโซนอาเซียนเป็นเป้าหมายด้วย

นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เจลีกสานสัมพันธ์กับลีกท้องถิ่นข้างเคียง เปิดประตูให้กับสโมสรในลีกแดนซามูไรเข้ามาเก็บข้อมูลและดึงผู้เล่นดาวเตะในย่านอาเซียน อาทิ เล กงวินห์ ตำนานกองหน้าทีมชาติเวียดนาม ที่เคยไปค้าแข้งกับคอนซาโดเล ซัปโปโร

เมื่อปี 2013 (สมัยทีมอยู่เจลีก 2) และถือเป็นนักเตะอาเซียนคนแรกที่ได้ไปเล่นให้สโมสร ตามมาด้วย อิรฟาน บัชดิม แนวรุกจากอินโดนีเซีย ที่ย้ายจากทีมในญี่ปุ่นไปเล่นให้ซัปโปโร เมื่อปี 2015

กลยุทธ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ลีกยุโรปเคยดึงผู้เล่นเอเชียกันมากมายตั้งแต่ต้นยุค 2000s ขณะที่ลีกไทยเองก็มาเริ่มต้นระบบลีกอาชีพกันอย่างจริงจังในรอบ 2 ทศวรรษหลัง และเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ความนิยม ความตื่นตัว และอัตราการพัฒนาโดยรวมก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดดด้วย

ในทางการตลาด เจลีกประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดจากการดึง ชนาธิป สรงกระสินธ์ มาเล่นในปี 2017 ลีกยังเพิ่มโควตาให้ทีมสามารถมีผู้เล่นจากชาติสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียได้อีก 1 ราย นอกเหนือจากโควตาผู้เล่นต่างชาติเดิม

แค่การลงซ้อมครั้งแรกของ “เมสซี่เจ” สโมสรสตรีมภาพไปแล้วเข้าถึงชาวไซเบอร์ได้ถึง 3 ล้านราย ขณะที่จำนวนประชากรในซัปโปโรอยู่ที่ราว 2 ล้านคน นี่คือภาพสะท้อนของประสิทธิผลนอกสนาม ขณะที่ผลงานในสนามก็เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งมาถึงในฤดูกาลนี้ หลังจากนั้นก็มีผู้เล่นระดับสตาร์ทยอยไหลมาเล่นมากขึ้น (และผู้เล่นตัวเก๋าจากยุโรปอีกหลายรายเช่นกัน)

ปี 2018 ธีราทรมาเล่นกับวิสเซล โกเบ ก่อนจะย้ายไปเล่นกับโยโกฮามา เอฟ มารินอส ด้วยดีลแบบเร่งด่วนที่เจ้าตัวใช้เวลาตัดสินใจแค่วันเดียว สโมสรโยโกฮามาเป็นอีกหนึ่งสโมสรที่อยู่ภายใต้การบริหารของธุรกิจอย่างนิสสัน ขณะที่สัดส่วนการถือครองสโมสรอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นของ “ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือครองหุ้นของสโมสรอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และอีกหลายสโมสรในเอเชีย พวกเขาเข้ามาลงทุนกับเอฟ มารินอส เมื่อปี 2014 ในฐานะพาร์ตเนอร์ กระทั่งปี 2019 เป็นปีทองของสโมสรอีกครั้ง

โยโกฮามา เอฟ มารินอส คว้าแชมป์ลีกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ภายใต้การคุมทีมของ อังเก้ ปอสเตโคกลู กุนซือออสเตรเลียนคนแรกที่มาชูแชมป์เจลีกได้เช่นกัน

เบื้องหลังส่วนผสมของความสำเร็จนี้ไม่อาจแยกกับองค์ประกอบด้านธุรกิจได้ (แน่นอนว่าธุรกิจเป็นเนื้อเดียวกับกีฬามานานแล้ว แต่มาชัดเจนมากขึ้นในช่วง 1-2 ทศวรรษหลัง) เมื่อองค์ประกอบฝั่งเกื้อหนุนลงตัว นี่คือโอกาสที่เหมาะเจาะมากสำหรับธีราทร แบ็กซ้ายทีมชาติไทยยังเล่าว่า การเล่นกับสโมสรต้นสังกัดใหม่ในเจลีกฤดูกาลนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ธีราทรให้สัมภาษณ์หลังจบเกมสุดท้ายของลีกว่า ช่วงแรกที่ตั้งคำถามกับแท็กติกของโค้ช ทำให้เขาทำผลงานไม่เข้าตา โอกาสลงเล่นมีไม่มากนัก แต่เมื่อสามารถวางคำถาม-ข้อสงสัยในการวางแผนไปก่อน และ “ลอง” ทำตามที่โค้ชสั่ง เขากลับพบว่า สามารถทำได้ดี และปรับตัวจนได้โอกาสลงเล่นมากขึ้น เขาพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มีดีพอเป็นกำลังช่วยทีมไปสู่เป้าหมายและประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

สมดุลระหว่างฝั่งธุรกิจและฟากการกีฬาน่าจะเป็นคำตอบและส่วนผสมที่ใครก็ต้องการ ประเด็นคือ การมองผ่านแว่นจากคนนอกเป็นเรื่องง่าย แต่การปฏิบัติจริงเป็นเรื่องยากหนักหนาสาหัสดังที่เห็นกันมาทั่วโลก ที่สำคัญคือ “จังหวะ” ทุกอย่างต้องพอดีด้วย และเจลีกฤดูกาลนี้คือจังหวะจากมานะของธีราทร อย่างแท้จริง