ทอท.เดินหน้าโมเดล BCP แผนการต่อเนื่องทางธุรกิจ

นิตินัย ศิริสมรรถการ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ได้ปรับประมาณการจำนวนผู้โดยสารสำหรับปี 2565-2567 อีกครั้ง โดยใช้ฐานผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในปี 2565 ประกอบกับข้อมูลการขอจัดสรรตารางการบินฤดูหนาว (winter schedule) ในเดือนตุลาคม 2565 โดยคาดว่าปี 2565 จะมีผู้โดยสารรวม 45.60 ล้าน ฟื้นตัวคิดเป็นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปี 2562

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของไทย ถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงแผนรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้ดังนี้

“ดีมานด์” เดินทางโลกทยอยฟื้น

“นิตินัย” บอกว่า ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงพีก ๆ จำนวนผู้โดยสารจาก 6 ท่าอากาศยานหลักของ ทอท. คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่ (สงขลา) เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) มีจำนวนประมาณ 4 แสนคนต่อวัน (เข้า-ออก) ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 2 แสนคนต่อวัน (เข้า-ออก)

“ตอนนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT อยู่ในกระบวนการจัดสรรสลอตการบินสำหรับตารางบินฤดูหนาว หรือ winter schedule ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังใช้เกณฑ์ 50 : 50 สายการบินไหนยกเลิกเที่ยวบินเกิน 50% จะถูกยึดสลอตการบินในปีหน้าหากใครไม่สามารถทำการบินได้และคืนสลอตก่อนเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะถือว่าไม่ผิดระเบียบ ซึ่ง CAAT กำลังพิจารณาว่าจะกำหนดเกณฑ์ที่ 4 สัปดาห์ หรือ 6 สัปดาห์”

จากการสอบถามเบื้องต้นคาดว่าสายการบินต่าง ๆ มีแนวโน้มขอสลอตการบินกลับมาที่ประมาณ 85% เมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือมีปริมาณผู้โดยสารรวมประมาณ 3.6-3.7 แสนคนต่อวัน หรือต่ำสุดที่ประมาณ 2.8-2.9 แสนคนต่อวัน (รอตารางบินอีกครั้ง)

“เรื่องดีมานด์การเดินทางผมไม่ห่วงเลย โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่ห่วงคือ ตลาดจีน ที่เดิมเคยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งยังต้องลุ้นกันอีกหลายยกว่าจะกลับมาเดินทางได้เมื่อไหร่”

ปรับตัวเลขผู้โดยสาร-เที่ยวบิน

ทั้งนี้ ล่าสุด ทอท.ได้ปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ใหม่ โดยประเมินว่าโดยสารจีนออกเดินทางได้ในช่วงปีใหม่ 2566 พร้อมทำรายงานประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศใหม่ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดย ทอท.คาดว่าในปี 2565 จะมีจำนวนผู้โดยสาร 45.60 ล้านคน มีปริมาณเที่ยวบิน 402,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 33 และ 45 ส่วนปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 95.70 ล้านคน มีปริมาณเที่ยวบิน 664,796 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 68 และ 74

และปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 141.51 ล้านคน มีปริมาณเที่ยวบิน 892,414 เที่ยวบิน ฟื้นตัวร้อยละ 99 และ 99 หรือเท่ากับปี 2562

“การทบทวนประมาณการผู้โดยสารและเที่ยวบินยังคงมีหลายปัจจัยที่ยังต้องติดตามเช่น นโยบายการเปิดประเทศของจีน โอกาสการกลับมาระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือโรคระบาดอื่น ๆ รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน”

เตรียมแผน “BCP ธุรกิจ”

“นิตินัย” บอกด้วยว่า ประเด็นที่ ทอท.เป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้คือ ฝั่งของซัพพลาย ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน บริการภาคพื้น หรือกราวนด์เซอร์วิส บริการคาร์โก้ ฯลฯ

“ผมแยกธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ ผู้ให้บริการสนามบิน ซึ่งปัจจุบัน ทอท.มีความพร้อมในทุกด้าน และเคยรองรับผู้โดยสารได้ถึง 142 ล้านคนต่อปี ส่วนที่ 2 คือ คู่ค้า หรือ stakeholder อาทิ สายการบิน ผู้ให้บริการภาคพื้น ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาพอสมควร และส่วนที่ 3 คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งทั่วโลกเริ่มกลับมาแล้ว”

“นิตินัย” อธิบายว่า ปัจจุบันธุรกิจส่วนที่ 1 และส่วนที่ 3 ไม่มีอะไรน่าห่วงส่วนที่เป็นห่วงคือ ส่วนที่ 2 เพราะหากผู้ให้บริการไม่พร้อมจะส่งผลกระทบและทำให้การส่งต่อผู้โดยสารจะธุรกิจส่วนที่ 1 ไปถึงส่วนที่ 3 สะดุด เช่น ผู้โดยสารมาถึงแล้วแต่กระเป๋ายังไม่ถึง เป็นต้น

ดังนั้น ประเด็นใหญ่ที่ ทอท.จำเป็นต้องเตรียมพร้อมคือ การทำแผน BCP : Business Continuity Plan หรือแผนการต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อไม่ให้การบริหารในภาพรวมสะดุดหรือมีปัญหา

ทอท.จึงเริ่มขยายฐานธุรกิจเข้าในส่วนที่ 2 ด้วยการตั้งบริษัทลูกมาบริหารแทนผู้ประกอบการรายเดิมที่มีปัญหา อาทิ 1.บริษัท AOTTO ดำเนินกิจการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับภาคเอกชนภายใต้ชื่อ AOT Tafa Operator

2.บริษัท AOTGA หรือบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด ให้บริการด้านกราวด์เซอร์วิส และ 3.บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AVSEC : Aviation Security นอกจากนี้ ยังลงทุนในระบบไอทีต่าง ๆ ด้วย

พร้อมย้ำว่า แนวทางดังกล่าวนี้ ทอท.ไม่ได้อยากเข้าไปแย่งธุรกิจใคร แต่จำเป็นต้องขยาย เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานด้านการบินอยู่รอด และเกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวเดินทาง

2566 ปีแห่ง “การเปลี่ยนผ่าน”

ต่อคำถามว่า ทอท.ประเมินว่าภาพรวมของการเดินทางทั่วโลกจะกลับมาได้ใกล้เคียงปี 2562 หรือก่อนวิกฤตโควิดได้ในปีไหน “นิตินัย” บอกว่า หากดูจากตัวเลขจากการประมาณการจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานั้นเป็นที่แน่นอนแล้วว่าปี 2565 นี้ จำนวนผู้โดยสารจะกลับมาประมาณ 33% หรือประมาณ 45 ล้านคน

ส่วนปี 2567 ทั้ง ทอท. IATA และ ICAO ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเท่ากับปี 2562 เนื่องจากสลอตการบินน่าจะกลับได้ทั้งหมด

ประเด็นอยู่ที่ปี 2566 ซึ่งหลายหน่วยงานเสียงแตก แต่ ทอท.มองว่าจะเป็นปีของการเปลี่ยนผ่านในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งผู้ให้บริการ (supply) รูปแบบการให้บริการ สัญชาติของผู้โดยสาร ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องซัพพลายที่คาดว่ารายเดิมบางส่วนจะล้มหายตายจากไปบ้าง และจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาอีกบางส่วน

“ผมเปรียบวิกฤตฝั่งซัพพลายนี้เป็นเหมือนรูพรุน ๆ ของปะการัง ที่เรายังมองเห็นว่ามีตัวตนอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าตรงไหนจะแตกหักเมื่อไหร่ เพราะไม่รู้ว่าคนที่มีชีวิตอยู่รอดตอนนี้หายใจด้วยปอดตัวเองได้อยู่หรือไม่ หรือว่าใช้ถังออกซิเจนช่วยหายใจเพราะปอดไม่ทำงานแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าความไม่แน่นอนทั้งหมดจะจบได้ภายในปี 2566 เพราะคนที่ปรับตัวไม่ได้จะตายหมด

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ ทอท.ต้องเตรียมแผน BCP หรือแผนการต่อเนื่องทางธุรกิจ

โครงสร้างรายได้ “เปลี่ยน”

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ยังบอกอีกว่า จากนโยบายเดินหน้าแผน BCP หรือแผนการต่อเนื่องทางธุรกิจ ด้วยการให้บริการในภาพรวมด้วยการจัดตั้งบริษัทลูกดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายด้านการบินอยู่รอด และไม่เกิดปัญหาแล้วยังจะทำให้โครงสร้างรายได้ของ ทอท.เปลี่ยนไปอีกด้วย

โดยช่วงก่อนโควิด ทอท.มีรายได้จากธุรกิจการบินประมาณ 57% และธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (non-aero) ประมาณ 43% แต่หลังจากปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ประเมินว่าผู้โดยสารจะกลับมา 100% นั้น คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจการบิน 43% และธุรกิจ non-aero 57%

กล่าวคือ จำนวนผู้โดยสาร 142 ล้านคนในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 57% แต่ด้วยจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะกลับมาเท่ากันคือ 142 คนในปี 2567 นั้น จะคิดเป็นสัดส่วนรายได้เพียงแค่ประมาณ 43%

เรียกว่า โครงสร้างรายได้ของ ทอท.หลังจากปี 2567 เป็นต้นไปสัดส่วนรายได้หลัก หรือประมาณ 60% มาจากธุรกิจ non-aero และโครงสร้างนี้จะอยู่ต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี และแน่นอนว่าโครงการใหม่นี้จะทำให้ ทอท.มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น