โอกาสใหม่ภาคบริการไทย ชู “Medical Tourism” ห่วงขาดเเคลนพยาบาล-เลือด เเนะปฏิรูปจริงจัง

18 ม.ค. 2561 รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 “Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”

โดย รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ กล่าวถึงงานวิจัยในประเด็น “ภาคบริการของไทยกับบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ว่า การพึ่งพาภาคบริการที่มากขึ้น ตามยุคโลกาภิวัฒน์เเละเทคโนโลยีที่ทันสมัยในช่วง 20ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคบริการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการใช้ภาคบริการที่หมุนเร็วเกินไปก็อาจจะส่งผลเสีย ผลการวิจัยพบว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา กิจกรรมในภาคบริการของไทย “ไม่เปลี่ยนเเปลง” ไปมากนัก โดยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมในลักษณะของ “กองหนุน” ทางเศรษฐกิจ ที่ความต้องการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมอื่น มีบางกิจกรรมเท่านั้นที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะที่ในด้านเเรงงาน พบว่าเเรงงานไทยหลั่งไหลเข้าไปทำงานในภาคบริการด้วยความนิยมชมชอบ เเม้ว่าจะได้ค่าเเรงต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นก็ตาม เพราะเห็นว่ามีโอกาสต่อยอดทักษะได้มากกว่า

“เมื่อเเรงงานเลือกที่จะไม่เข้าภาคการผลิตอย่าง การเกษตรเเละอุตสาหกรรมที่เป็นเสมือนหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะส่งผลให้ในระยะสั้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอลง เเละทำให้ความต้องการด้านบริการลดลงตามเป็นลูกโซ่เเละในที่สุดก็จะนำไปสู่ปัญหาเลิกจ้างในภาคบริการตามไปด้วย จากนั้นเเรงงานภาคบริการจะไม่สามารถหลั่งไหลกลับไปยังภาคเกษตรเเละอุตสาหกรรมได้ดังเดิม เเละจะทำให้เกิดการว่างงานในวงกว้าง กลายเป็นระเบิดเวลาที่เศรษฐกิจไทยต้องระมัดระวัง”

สำหรับสัดส่วนใน GDP ของภาคบริการไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 56 ในปี 2016 ในขณะที่ภาคหัตถอุตสาหกรรมมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 31 มาเป็นร้อยละ 27 ในช่วงเวลาเดียวกัน

รศ.ดร.อาชนัน เปิดเผยว่า เมื่อภาคบริการส่วนใหญ่ยังเป็นกองหลัง การก้าวหน้าครั้งสำคัญของ “Medical Tourism” เป็นกรณียกเว้นที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นกองหน้าทางเศรษฐกิจไทยได้ เเต่ต้องระมัดระวังผลข้างเคียงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขในประเทศ เช่น เมื่อบุคลากรทางการเเพทย์มีอยู่ในจำนวนจำกัด ก็จะเกิดการเเย่งทรัพยากร ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ต้องใช้บริการสุขภาพในประเทศมากขึ้น จึงต้องคำนึงถึงกลไกเพื่อเกลี่ยผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รศ.ดร.อาชนัน กล่าวอีกว่า

กิจกรรมส่วนใหญ่ของ “Medical Tourism” จะเกี่ยวกับการผ่าตัดต่างๆ การรักษาโรคหัวใจ มะเร็ง ทันตกรรมเเละศัลยกรรมที่ต้องการการพักฟื้นเเละมีเม็ดเงินตกอยู่ในประเทศจำนวนมาก เเต่กิจกรรมเหล่านี้ ต้องการเเรงงาน โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งไทยกำลังขาดเเคลนเเละส่วนใหญ่ต้องใช้ “เลือด” ซึ่งภาครัฐยังไม่ได้ข้อสรุปว่าไทยขาดเเคลนเลือดหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้กระจ่างก่อนการเดินหน้า “Medical Tourism” อย่างเต็มตัว

ทั้งนี้ อัตราส่วนทางการเเพทย์ต่อประชากรเฉลี่ย ระหว่างปี 2550-2557 ต่อประชากรหนึ่งหมื่นคนของไทย จำนวนเเพทย์อยู่ที่ 3.9 ทันตเเพทย์เเละวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง 2.6 เภสัชกรเเละวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง 1.3 ส่วนพยาบาลอยู่ที่ 20.8

โดยข้อเสนอเเนะต่อการเดินหน้า “Medical Tourism” อย่างไรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยื่นนั้น รศ.ดร.อาชนันชี้ว่า จำเป็นต้องมีปฎิรูปอย่างจริงจัง เริ่มจากการทำข้อมูลให้เป็นระบบ มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของเเต่ละเซกเมนต์ใน Medical Hubs พร้อมแก้ปัญหาด้านขาดกำลังคนมีทักษะ โดยเฉพาะพยาบาลเเละวัตถุดิบทางการเเพทย์อย่างเป็นรูปธรรม เเละการมีกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อที่ไทยจะได้เข้าถึงเทคโนโลยีการเเพทย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับข้อพิพาทระหว่างผู้ป่วยเเละโรงพยาบาล โดยการพัฒนากลไกระงับปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจนในเรื่องการฟ้องร้องหากการรักษาผิดพลาด เป็นต้น