ญี่ปุ่น-ไต้หวัน สุดฮอต! ยอดจองไตรมาส 4 แน่น แอร์ไลน์รุกเพิ่มไฟลต์

ญี่ปุ่น-ไต้หวัน

หลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2565 โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นได้รับการยกเว้นวีซ่า ซึ่งรวมถึงคนไทย เช่นเดียวกับไต้หวันที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวและฟรีวีซ่า ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2565 ทำให้บรรยากาศการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของไทยคึกคักขึ้นอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นเดสติเนชั่นอันดับ 1 ในใจคนไทยนั้น ได้กลับมามีสีสันอีกครั้ง ซึ่งบรรดาบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ ได้นำเสนอขายแพ็กเกจทัวร์กันล่วงหน้า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2565 และยังทำโปรแกรมลากยาวไปถึงมีนาคม-เมษายน 2566 กันแล้ว

แน่นอนว่าการประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบของญี่ปุ่นและไต้หวันทำให้ผู้ประกอบการสายการบินมีความมั่นใจและพร้อมกลับมาให้บริการเส้นทางบินแล้วเป็นจำนวนมากแล้ว

คนไทยแห่เที่ยว “ญี่ปุ่น”

“เอนก ศรีชีวะชาติ” นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น และประธานบริษัท ยูนิไทย แทรเวล จำกัด บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้กระแสการท่องเที่ยวญี่ปุ่นดีขึ้นเป็นอย่างมาก ชาวไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมายังไม่มีเสียงบ่นด้านลบ

โดยสถานการณ์ในขณะนี้พบว่าการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น มากกว่าคนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามายังประเทศไทย และนักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ยังคงนิยมเดินทางด้วยตนเอง

หรือหากเดินทางกับบริษัททัวร์จะมีลักษณะเป็นกรุ๊ปเล็ก 3-10 คน ต่างจากเดิมที่จะเป็นกรุ๊ปนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ 30-40 คน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่อาจติดปัญหาด้านการจองบัตรโดยสาร ที่พัก

ยอดจองแพ็กเกจทัวร์ Q4 แน่น

“เอนก” ประเมินด้วยว่า ในช่วงปลายปีนี้คนไทยน่าจะเดินทางไปญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความอัดอั้นอยากเดินทาง ขณะที่คนญี่ปุ่นยังค่อนข้างกังวลต่อการระบาด จึงอาจต้องใช้เวลาเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเอง ยังไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่

“ตอนนี้เป็นกรุ๊ปเล็ก ข้อดีคือเขาอยากไปไหน เราก็จัดให้ได้ มีความคล่องตัวสูง จัดการจองตั๋วโดยสาร โรงแรม รวมถึงบริการอื่น ๆ ได้ง่าย บริษัทก็มีความคล่องตัวมากขึ้น และมองว่ากรุ๊ปเล็กเช่นนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

และบอกด้วยว่า ปัจจุบันแพ็กเกจทัวร์ที่เดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม มียอดจองเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ วันหยุดยาว นักท่องเที่ยวได้จองแพ็กเกจเข้ามาจนเกือบเต็มแล้ว

โดยจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ยังเป็นเมืองที่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศไทยให้บริการ เช่น โตเกียว โอซากา ตามด้วยฮอกไกโด ฟูกูโอกะ ขณะที่เมืองที่ยังไม่มีเที่ยวบินตรงให้บริการ อาจมีต้นทุนค่าเดินทางที่สูงกว่า ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่สอบถามมามากนัก

ราคาตั๋วบินสูง-ดีมานด์ (ก็) สูง

“เอนก” ระบุด้วยว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้จองการเดินทาง อาจพบว่าราคาแพ็กเกจการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ประการคือ บัตรโดยสารสายการบินและค่าที่พักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยราคาบัตรโดยสารสายการบินบางเส้นทางปรับตัวสูงขึ้นถึง 25-30% ซึ่งการปรับขึ้นของราคาบัตรโดยสารอาจสะท้อนว่าเส้นทางญี่ปุ่นยังมีอุปสงค์หรือดีมานด์การท่องเที่ยวอยู่มาก

จึงมองว่าสายการบินควรปรับและเพิ่มความถี่เที่ยวบินให้เหมาะสมกับดีมานด์ของตลาด เพราะหากราคาบัตรโดยสารมีระดับราคาสูงเกินไป อาจทำให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอื่นได้

“ตลาดการท่องเที่ยวเปิดแล้ว ราคาตั๋วโดยสารการบินก็ควรจะสมเหตุสมผล ไม่ควรแพงเกินไป น่าจะปรับให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้ ขณะเดียวกัน อยากให้สายการบินบางแห่งผ่อนปรนกฎเกณฑ์บางประการ เช่น การวางมัดจำจำนวนมาก เป็นต้น เพื่อให้บริษัททัวร์มีความคล่องตัวมากขึ้น”

“บินไทย” เสริมฝูงบินรูตญี่ปุ่น

ด้านผู้ประกอบการสายการบินนั้น รายงานข่าวจากการบินไทยระบุว่า ปัจจุบัน (ตารางการบินฤดูหนาว ปี 2565-2566) การบินไทยให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารสู่ญี่ปุ่นรวม 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน 2.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน

3.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นาโกยา ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน 4.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โอซากา ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน 5.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฟูกูโอกะ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน และ 6.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบินวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป)

ทั้งนี้ ได้เตรียมใช้เครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER 3 ลำใหม่ที่เข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทในปี 2565 นี้ มาให้บริการในเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่โตเกียว (นาริตะ) และโอซากา รวมถึงทยอยนำเครื่องบินของบริษัทแบบแอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำกลับเข้ามาให้บริการในเส้นทางฟูกูโอกะและโตเกียว (ฮาเนดะ) ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

กลุ่ม “แอร์เอเชีย” บุกหนัก

ด้านแหล่งข่าวจากสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” บอกว่า สายการบินได้เปิดเส้นทางบินใหม่สู่ญี่ปุ่นแล้วคือ เส้นทางดอนเมือง-ฟูกูโอกะ ความถี่เที่ยวบิน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” นั้น ปัจจุบันให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ สู่โตเกียว และโอซากา แล้ว และมีแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางบินดอนเมือง-ซัปโปโร ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

“สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้ข้อมูลว่า เส้นทางดอนเมือง-ฟูกูโอกะ ถือเป็นการเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นครั้งเเรกของไทยแอร์เอเชีย และเป็นจังหวะการเปิดที่ดีมากที่คนไทยทุกคนจะเดินทางได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องวีซ่า หรือมาตรการขั้นตอนที่ยุ่งยาก รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางด้วย

“แอร์ไลน์”แห่เพิ่มไฟลต์สู่ไต้หวัน

และไม่เพียงแต่ตลาดญี่ปุ่นเท่านั้นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ หลังจากที่นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไต้หวันโดยไม่ต้องมีวีซ่า และไม่ต้องกักตัวเมื่อเดินทางถึงไต้หวัน ตลาดไต้หวันก็เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยอีกครั้ง

โดยจะพบว่าขณะนี้มีสายการบินจำนวนหนึ่งได้เร่งเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่ไต้หวันแล้วเช่นกัน

“ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท บอกว่า ภายหลังจากไต้หวันประกาศเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าไต้หวันโดยไม่ต้องกักตัวและไม่ต้องขอวีซ่า สายการบินไทยเวียตเจ็ทจะเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ไทเป เป็นทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

“เส้นทางบิน กรุงเทพฯ-ไทเป ได้รับเสียงตอบรับที่ดี เราจึงเดินหน้าปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อเตรียมรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง พร้อมมอบทางเลือกการเดินทางที่สะดวกสบายและราคาบัตรโดยสารที่เข้าถึงได้แก่นักท่องเที่ยวในไทยและไต้หวัน”

ขณะที่ “นันทพร โกมลสิทธิ์เวช” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบิน “ไทย ไลอ้อนแอร์” ที่บอกว่า สำหรับตลาดไต้หวันนั้น สายการบินเตรียมกลับมาให้บริการเส้นทางดอนเมือง-ไทเปอีกครั้งตั้งแต่ 17 ธันวาคมนี้ 2565 เป็นต้นไป ด้วยความถี่ 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

เช่นเดียวกับ “ไทยแอร์เอเชีย” ที่ระบุว่า สายการบินเตรียมกลับมาให้บริการเส้นทางเชียงใหม่-ไทเป (เถาหยวน) อีกครั้งแน่นอน โดยวันและตารางของเที่ยวบินจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ “ธนพล ชีวรัตนพร” อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) หรือสมาคมทัวร์เอาต์บาวนด์ (นักท่องเที่ยวขาออก) ระบุว่า ขณะนี้บรรยากาศ “คนไทยเที่ยวนอก” คึกคักมาก โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนแน่นอน..