“ดีดี” บินไทย โชว์กำไร-ฝูงบินใหม่ แผน “ไทยสมายล์-นกแอร์”

สายการบินแห่งชาติ ต้อง “บิน” ให้ทันคู่แข่งด้วยตัวเลขกำไร และศักยภาพของ “ฝูงบิน” เป็นลมใต้ปีก

“อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” บินตรงสู่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อจัดทัพ “แอร์บัส” เสริมทัพ “บินไทย” อีก 12 ลำ

ฝันต่อไปคือฝูงบิน 122 ลำ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

“การบินไทย” พลิกบัญชีจากขาดทุนสู่กำไร ด้วยชั่วโมงบิน “อุษณีย์”

Q : เก้าอี้รักษาการดีดีจนถึงตอนนี้

ได้จัดทำแผนปฏิรูปองค์กรมาตั้งแต่ปี 2559 ถึงตอนนี้อยู่ในระยะที่ 4 ของการปฏิรูป คือการพัฒนาพนักงานให้มีศักยภาพ เติบโตอย่างยั่งยืน หลังที่ได้ปฏิรูปสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันมาแล้ว ซึ่งทำให้มีรายได้ 180,557 ล้านบาท เป็นรายได้เฉพาะบริษัท 1.75 แสนล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 4,071 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนขาดทุน 1,304 ล้านบาท ที่ห่วงมากตอนนี้คือพนักงานขาดการพัฒนาไปนานมาก เพราะไม่ได้รับพนักงานใหม่เข้ามาเลยเป็นเวลา 10 ปี จึงต้องเริ่มมองหาผู้จะสืบทอด มีศักยภาพพอจะพัฒนาให้เป็นผู้บริหารต่อไปในอนาคต ตอนนี้ทำได้ 70% สิ้นปีนี้น่าจะเสร็จเรียบร้อยหมด

ขณะเดียวกันก็ต้องคัดคนครีม ๆ ไว้ ไม่งั้นไม่มีผู้สืบทอด ภายในปีสองปีนี้การบินไทยจะหมดผู้บริหาร ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะทำให้บุคลากรของเรารวมทั้งธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

Q : การบริหารจัดการเรื่องรายได้

แผนรายได้ ตอนนี้นำระบบบริหารจัดการรายได้ RMS (Revenue Management System) เข้ามาช่วยในการขายตั๋ว เพราะ 80% ของรายได้มาจากการขายตั๋ว และระบบบริหารจัดการเครือข่าย NMS(Network Management System) นำมาช่วยพัฒนาเว็บไซต์ โมบาย เพิ่มช่องทางการจัดหารายได้ให้มากที่สุด ให้ทันกับตลาดโลก จะปล่อยไม่ได้ต้องมอนิเตอร์ตลอดเวลา และต้องให้เร็วด้วย อย่างน้อยคิดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งจะเน้นรายได้ในต่างประเทศ

Q : ไตรมาสที่ผ่านมาตัวเลขตกลงไป

จริง ๆ แล้วไตรมาส 2 และ 3 เป็นโลว์ซีซั่น ปกติติดลบอยู่แล้ว ส่วนไตรมาส 4 เป็นไฮซีซั่นทำกำไรได้มาก แต่ตัวเลขไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ไม่น่าติดลบ ค่อนข้างดีกว่าปีที่แล้ว เพราะมีการเตรียมตัวไว้ ก็พยายามแก้ ปลายปีนี้คิดว่ารายได้จะเป็นบวก ส่วนจะบวกเท่าไหร่ บอกไม่ได้

Q : โดนว่าเรื่องซื้อเครื่องบิน 28 ลำ

การซื้อเครื่องบินเป็นแผนรัฐวิสาหกิจที่วางไว้เป็นไปตามไทม์เฟรมอยู่แล้ว เครื่องบินที่เราจะเอาออกจากฟีดอายุจะ 17 ปีแล้ว มันเก่า ต้องหาเครื่องใหม่ทดแทน ไม่ใช่ว่าซื้อเพราะอยากซื้อ หรือซื้อมาแล้วหาเส้นทางบินใหม่ ขณะนี้ฝูงบินของการบินไทยแผน 5 ปีต้องมีไว้ 100 ลำ อีก 5 ปีต่อไปต้องขยายฝูงบิน ต้องมี 122 ลำ ที่สั่งซื้อ 28 ลำก็เพื่อทดแทนเครื่องเก่าในฝูงบิน เท่ากับเรามีเท่าเดิม แล้วสั่งซื้อกว่าจะได้เครื่องใหม่มาก็ใช้เวลา 2 ปีเป็นอย่างน้อย ถ้าไม่สั่งซื้อไว้ตอนนี้แล้วจะเอาที่ไหนมาบิน

Q : ทิศทางต่อไปที่วางไว้

อย่างหนึ่งที่ต้องทำ คือการบริการต้องปรับไปเรื่อย ๆ ให้ทันสายการบินอื่น อีกอย่างคือการให้พนักงานทำงานเป็นทีมเวิร์ก ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้จับมาทำเวิร์กช็อปให้เขารักกัน เอาบริษัทเป็นที่ตั้ง ให้เข้าใจเหมือน ๆ กัน รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เขาคุยกันมากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มากขึ้น การทำงานถ้าเราอยากได้นายแบบไหน ก็ต้องทำตัวแบบนั้นกับลูกน้อง การแก้ปัญหาบางครั้งก็นึกไม่ออกหรอกว่าจะทำอย่างไร ก็ต้องเชิญมาประชุมกันทั้งหมด ให้มาแก้ปัญหาด้วยกัน เพราะฉะนั้นเลยต้องมี “ดีดี คอมมานด์ เซ็นเตอร์” ทุกเช้า 8 โมงถึง 9 โมง หัวหน้าทุกฝ่ายจะมาคุยกัน ตลอด 24 ชม.ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง

สถานการณ์โลกเป็นยังไง มีข่าวอะไร มีปัญหาอะไรบ้าง แล้ววิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน ได้ประโยชน์มาก ทำให้ผู้บริหารได้คุยกันมากขึ้น ระดมสมองร่วมกันได้มากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว และรักกันมากขึ้นด้วย

Q : นโยบายไทยสมายล์

คงต้องใส่ใจให้มากขึ้น เพราะเวลานี้เป็นบอร์ดไทยสมายล์ด้วย ก็รู้ว่าทำไมรายได้ถึงติดลบ ไม่ค่อยดี ก็เพราะต่างคนต่างทำ สิ่งที่เราทำคือจับมารวมกัน ตอนนี้ซีอีโอก็ส่งไปจากการบินไทยจะได้บริหารด้วยกัน ทุกอย่างมาแชร์ด้วยกันหมด ตั้งแต่ 1.วางแผนด้วยกัน 2.ขายด้วยกัน 3.การส่งต่อผู้โดยสาร การโควตราคาตั๋วก็ดูด้วยกัน อันไหนที่เป็นจุดแข็งของเขาเราก็คงไว้ จุดอ่อนเราก็เอากลับไปแก้ไข ต้องบอกก่อนว่าที่ตั้งไทยสมายล์ขึ้นมาก็เพื่อสนับสนุนรองรับบริษัทแม่ คือการบินไทย ไม่ใช่มาเป็นโลว์คอสต์ ต้องให้ทุกคนเข้าใจว่านี่คือเราถือหุ้น 100% แผนที่วางไว้แต่เดิมมันผิดหมด ที่ถูกคือต้องมาช่วยกันสนับสนุนบริษัทแม่ เท่าที่ดูดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ สิ้นปีนี้คาดว่าผลประกอบการน่าจะเป็นบวก

Q : การแก้ปัญหานกแอร์

เป็นอะไรที่เราต้องทำงานกันหนักมาก เราก็ไม่อยากทิ้งนกแอร์ เพราะร่วมสร้างกันมาและถือหุ้นตั้ง 39% ที่ผ่านมาไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน ตลาดก็คนละตลาด จริง ๆ ที่คิดไว้แต่เดิม คือสายการบินของไทยทีจี ไทยสมายล์ นกแอร์ ให้นกแอร์เป็นตลาดหลักที่ดอนเมือง แล้วไทยสมายล์ย้ายไปสุวรรณภูมิเพื่อเสริมทีจี นี่คือยุทธศาสตร์ เพื่อปกป้องตลาดของเราและแข่งกับสายการบินอื่น วันนี้ถือหุ้น 39% เราเป็นบอร์ดก็จริง แต่ไม่มีสิทธิ์เลือกซีอีโอ เลือกคนทำงาน แต่ก็ยังเป็นบอร์ดนกแอร์อยู่ ที่จริงเรายื่นข้อเสนอเข้าไปว่าจะทำยังไง แต่นกแอร์ไม่ตอบอะไรมา เป็นบอร์ดนกแอร์เดือนเดียวปวดหัวมาก เครียด ! (หัวเราะ)

Q : นโยบายไทยกรุ๊ปก็เป็นไปไม่ได้

ยังเป็นไปได้…มีอะไรเราก็ส่งให้เขา ยังเป็นโค้ดแชร์กันได้ เพราะไม่ได้เป็นคู่แข่ง คือเขาก็มีแผนของเขา เขาจ้างที่ปรึกษาอยู่ตอนนี้ ต้องดูว่าแผนออกมาจะเป็นอย่างไร ที่จริงเราอยากครอบคลุมจุดบินให้มากที่สุด อย่างจุดบินประเทศอื่นที่เราไม่มี ก็ไปทำกับสายการบินอื่นได้ เช่น ยูไนเต็ด เป็นการต่อยอดการขายที่เราไม่ได้บิน สามารถขายให้กันได้ นี่คือยุทธศาสตร์ เพราะธุรกิจการบินเราไม่ได้อยู่คนเดียวแล้ว

สำหรับปีนี้เป้าหมายตั้งไว้ว่า เราต้องมีกำไร 5-10% มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ปัจจัยที่หนุน คือการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ได้ผลมากขึ้น มีการจัดการต้นทุนและราคาขายอย่างมีประสิทธิภาพ

Q : เรื่องจับมือแอร์บัสเปิดศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา

ตอนนี้อยู่ระหว่างทำ MOU เพื่อศึกษา แอร์บัสต้องดูว่ามาลงทุนร่วมกับเราเขาคุ้มทุนไหม ที่สิงคโปร์เขาก็มี แต่อยากได้พื้นที่ใหญ่กว่าเดิม ถ้าสำเร็จไทยจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่เราก็ไม่ได้จำกัดแค่แอร์บัส โบอิ้งอยากมา ก็มาได้ เรามีพื้นที่อยู่แล้วส่วนเขาก็มาลงทุน