“แอร์ไลน์” เอเชียขยับแรง ! รุกผนึกพันธมิตรขยายเน็ตเวิร์ก

การเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณผู้โดยสารทางอากาศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการปริมาณเครื่องบินใหม่ของสายการบินต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างชัดเจน

จากการคาดการณ์ของโบอิ้งระว่าระหว่างปี 2557-2576 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความต้องการเครื่องบินเพิ่มขึ้นถึงราว 12,820 ลำ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 36% ของความต้องการทั่วโลก

“สกู๊ต” ควบรวม “ไทเกอร์แอร์” 

จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจสายการบินทั่วภูมิภาคทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในฟากของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยับตัวครั้งใหญ่กันอีกระลอก

เริ่มจากสายการบิน “สกู๊ต” (Scoot) โลว์คอสต์ภายใต้การบริหารงานของ สิงคโปร์แอร์ไลน์ กรุ๊ป ได้ทำการควบรวมกับสายการบินไทเกอร์แอร์ สิงคโปร์ แบบเบ็ดเสร็จเมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

หลังจากที่เริ่มต้นรวมกิจการทั้ง 2 สายการบินให้มีอยู่ภายใต้บริษัทผู้ถือหุ้นเดียวกันคือ Budget Aviation Holding ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

หลังจากควบรวมแล้วทั้ง 2 สายการบินทำการบินภายใต้แบรนด์ “สกู๊ต” ทั้งหมด และใช้โค้ชบิน TR ด้วยฝูงบินรวมทั้งหมดจำนวน 37 ลำ ทำการบินไปยังเดสติเนชั่นต่าง ๆ รวม 60 เส้นทาง ใน 17 ประเทศ และกำลังจะเพิ่มเส้นทางบินไปยังฮาร์บิน เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมืองกวนตันและเมืองกูชิง มาเลเซีย และเมืองปาเล็มบัง อินโดนีเซีย เส้นทางใหม่ดังกล่าวนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการครบทั้ง 5 เส้นทางภายในกลางปี 2561 นี้

นอกจากนี้ “สกู๊ต” ยังมีเครื่องบินที่อยู่ในระหว่างการสั่งซื้ออีก 75 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ 6 ลำ และแอร์บัส เอ320 นีโอ อีก 39 ลำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา “สกู๊ต” ยังได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรสายการบินราคาประหยัดชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรวม 8 สายการบิน ประกอบด้วย เซบูแปซิฟิก (รวมถึงสายการบิน Cebgo) เจจูแอร์ นกแอร์ นกสกู๊ต สกู๊ต ไทเกอร์แอร์ สิงคโปร์ ไทเกอร์แอร์ ออสเตรเลีย และสายการบินวานิลลาแอร์ เปิดตัว Value Alliance ที่ให้บริการในเส้นทางที่ครอบคลุมจุดหมายปลายทางกว่า 160 แห่งในเอเชีย-แปซิฟิก

ผู้โดยสารสามารถเลือกเที่ยวบินและสำรองบัตรโดยสารได้โดยตรงจากเว็บไซต์ของแต่ละสายการบิน และสำรองที่นั่งจากสายการบินหนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ของสายการบินในกลุ่มพันธมิตรได้ และยังรวมถึงตัวเลือกผลิตภัณฑ์และบริการเสริมอีกจำนวนมากจากทุกสายการบินในกลุ่ม ซึ่งเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางให้กับผู้โดยสารด้วยเมืองปลายทางที่มากขึ้น เส้นทางที่หลากหลายขึ้น และยังได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น

เวียตเจ็ทผนึกเจแปน แอร์ไลน์

และในวันเดียวกันกับที่ “สกู๊ต” ประกาศควบรวมกิจการกับไทเกอร์แอร์นั้น “เวียตเจ็ท” สายการบินเอกชนรายแรกของเวียดนาม และ “เจแปน แอร์ไลน์” ได้ร่วมลงนามในสัญญาพันธมิตรธุรกิจ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงาน และความสะดวกสบายของผู้โดยสาร รวมถึงการเพิ่มมูลค่าแก่องค์กรทั้ง 2 ฝ่ายด้วย

ทั้ง 2 สายการบินได้หารือร่วมกันในหลายวาระ ถึงการขยายเครือข่ายการบินเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้โดยสารในประเทศเพื่อนบ้านของเวียดนามและภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางระหว่างญี่ปุ่นและเวียดนามที่กำลังเติบโตขึ้น จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว

โดยเจแปน แอร์ไลน์ พร้อมให้บริการเที่ยวบินตรงทุกวันในเส้นทางโตเกียวสู่โฮจิมินห์ และฮานอย รวมถึงเส้นทางโตเกียว (ฮาเนดะ) สู่โฮจิมินห์ด้วย

สำหรับการร่วมมือกันในขั้นแรกระหว่าง “เวียตเจ็ท-เจแปน แอร์ไลน์” นั้น จะเริ่มต้นด้วยการใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกันสำหรับทุกเที่ยวบินระหว่างญี่ปุ่นและเวียดนาม รวมถึงเที่ยวบินภายในประเทศของเจแปน แอร์ไลน์ และเที่ยวบินภายในประเทศของเวียตเจ็ท ตลอดจนเที่ยวบินระหว่างเวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 สายการบินจะยังพยายามมองหาโอกาสอื่น ๆ ในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อพัฒนาความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินสำหรับพันธมิตร การปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาอากาศยาน ตลอดจนงานบริการภาคพื้น และการฝึกอบรม

“แอร์เอเชีย” ขยายด้วยตัวเอง

ขณะที่ในฟากของกลุ่ม “แอร์เอเชีย” ซึ่งมีฐานการบินใหญ่อยู่ที่ประเทศมาเลเซียนั้น ยังคงมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายด้วยตัวเองเป็นหลัก โดยปัจจุบันกลุ่ม “แอร์เอเชีย” มีเครือข่ายอยู่ในเกือบทุกประเทศของภูมิภาค อาทิ แอร์เอเชีย เบอร์ฮัด (มาเลเซีย) แอร์เอเชียอินโดนีเซีย ไทยแอร์เอเชีย ฟิลิปปินส์แอร์เอเชีย แอร์เอเชีย เซสต์ แอร์เอเชียอินเดีย แอร์เอเชีย เจแปน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายที่ให้บริการเส้นทางบินระยะไกล ภายใต้แบรนด์ “แอร์เอเชีย เอ็กซ์” ซึ่งประกอบด้วย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ เบอร์ฮัด (มาเลเซีย) ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และอินโดนีเซีย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ด้วยฐานการบินที่ครอบคลุมในเกือบทุกประเทศของภูมิภาค ทำให้ “แอร์เอเชีย” เป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ให้บริการบินสู่ 120 ปลายทาง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “แอร์เอเชีย” ได้ลงนามกับแอร์บัสเพื่อสั่งซื้อเพิ่มเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ320 อีก 14 ลำ เสริมศักยภาพฝูงบินและยุทธศาสตร์ระยะสั้นในการขยายเครือข่ายให้บริการในงานปารีสแอร์โชว์ 2017

โดยหลังจากลงนามสั่งซื้อลอตล่าสุดนี้ไปแล้วส่งผลให้ยอดการสั่งซื้อเครื่องบินในตระกูลแอร์บัส เอ320 ของแอร์เอเชียเพิ่มเป็น 592 ลำ จากปัจจุบันที่มีเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ320 จำนวน 171 ลำ และเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ320 นีโอ จำนวน 8 ลำ

ความเคลื่อนไหวของสายการบินยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของการแข่งขันนับจากนี้เป็นต้นไป…