รอยเตอร์รายงาน การบินไทยอาจอยู่ระหว่างการเจรจาจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดถึง 95 ลำ ทั้งเครื่องบินลำตัวกว้างและลำตัวแคบ
วันที่ 9 กันยายน 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับโบอิ้ง และแอร์บัส สองผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายใหญ่ของโลก ในการจัดหาเครื่องบินจำนวนมากกว่า 90 ลำ เพื่อเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างและรองรับความต้องการการเดินทาง
ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน นายชาย เอี่ยมสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า บริษัทตั้งเป้าจะสรุปข้อตกลงจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้างเพิ่มเติมจำนวน 30 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบอีกจำนวนหนึ่ง ภายในสิ้นปี 2566
ล่าสุด แหล่งข่าวบอกกับสรอยเตอร์ว่า สายการบินอาจมีโอกาสจัดหาเครื่องบินเพิ่มเป็นสูงสุด 95 ลำ โดยอาจแบ่งได้เป็น เครื่องบินลำตัวแคบ จำนวน 15 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้างอีก 80 ลำ
อย่างไรก็ตาม โบอิ้งและแอร์บัส ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ด้านการบินไทย ระบุในแถลงการณ์ต่อรอยเตอร์ว่า สายการบินยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการสำรวจและศึกษาตลาด ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับกลยุทธ์ในระยะยาว โดยเฉพาะฝูงบิน และยังไม่ข้อผูกพันใด ๆ เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 2/2566 การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ทำให้ 6 เดือนแรกของปี 2566 การบินไทยมีรายได้รวม 78,889 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 56,253 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บมจ.การบินไทย และบริษัทย่อย มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินอยู่ทั้งสิ้น จำนวน 67 ลำ (รวมเครื่องบิน A320-200 ซึ่งใช้ทำการบินโดยบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด) มีเครื่องบินที่จอดระยะยาวจำนวน 7 ลำ และมีเครื่องบินที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติให้จำหน่าย ซึ่งบริษัท และผู้ซื้ออยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาและตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งสิ้นจำนวน 26 ลำ