อพท. พัฒนาสุโขทัย-น่าน รับนโยบายเที่ยวเมืองรอง

“อพท.” ใส่เกียร์เร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว-คน-กิจกรรมชุมชนในพื้นที่พิเศษ “สุโขทัย-น่าน” รองรับกระแสส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม-รับผลประโยชน์จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว หวังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เพื่อตอบรับนโยบายส่งเสริมให้เดินทางท่องเที่ยวเมืองรองของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อพท. ในฐานะดูแลรับผิดชอบการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นเมืองรองตามโครงการดังกล่าว จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ การพัฒนาคนและชุมชนให้รู้จักการเป็นเจ้าบ้านที่ดี รู้จักการนำเสนอกิจกรรมทางการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมและรับผลประโยชน์จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว รวมทั้งได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนากิจกรรม สำรวจและจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพิ่มเติม

โดยในส่วนของจังหวัดสุโขทัย มีการพัฒนาสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับลายสือไท ปรับปรุงสวนสมุนไพรที่เขาหลวง อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติและสมุนไพร (herb trail) สำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพชุมชน เช่น สวนส้มแม่สิน น้ำตกและเส้นทางเดินป่า ตำบลแม่สาน อำเภอศรีสัชนาลัย รวมถึงพัฒนาชุมชนวุ้งกะสัง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

สำหรับจังหวัดน่านนั้น นายทวีพงษ์ กล่าวว่า อพท. มีแนวทางการพัฒนาให้เป็น “น่านเมืองเก่าที่มีชีวิต” ด้วยความโดดเด่นในด้าน วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม โดยอพท.จึงดำเนินการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน การอนุรักษ์อาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งศึกษาเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่าน ภายใต้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะภาคชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ บูรณะวัดกู่คำตำบลในเวียง เพื่อแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นน่าน บูรณะวัดมณเฑียร ซึ่งเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดน่าน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของพระสงฆ์จังหวัดน่านในอดีต

บูรณะวัดสถารศ ตำบลในเวียง เพื่อเป็นแหล่งเรียนภูมิปัญญาท้องถิ่นทางศิลปกรรมช่างสกุลน่าน และการแกะสลักพระพุทธรูปไม้ สำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงภูมิทัศน์ศาสนสถานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง วัดพระธาตุเขาน้อย วัดสวนตาล วัดมหาโพธิ วัดดอนมูล วัดศรีบุญเรือง วัดเชียงยืน วัดบ่อสวก วัดนาซาว โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมท้องถิ่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ตลอดจนเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ให้แก่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในทุกพื้นที่ของการพัฒนา อพท.จะร่วมดำเนินงานกับภาคีเครือข่าย และชุมชน และต้องอยู่บนพื้นฐานอัตลักษณ์ของถิ่นนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวต่อไป