AOT ยกระดับสนามบินทุกมิติ รองรับ “ท่องเที่ยว-การบิน” เติบโต

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ประกาศพร้อมเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวโลกอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศจำนวน 6 แห่ง ด้วยการให้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้ผู้โดยสาร รวมถึงเดินหน้าพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

“ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการพัฒนาท่าอากาศยานในเครือข่ายรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวไทย ดังนี้

ลงทุนรับผู้โดยสารในอนาคต

“ดร.กีรติ” บอกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนเที่ยวบินที่บินเข้า-ออก และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปี 2567 นี้ปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิน่าจะกลับมาอยู่ในระดับ 65 ล้านคนใกล้เคียงกับปี 2562 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายของการเป็นผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานที่ดี ทอท.จึงต้องเตรียมพร้อมทั้งด้านกำลังคน อุปกรณ์ รวมถึงขยายศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

รวมถึงการประสานงานกับผู้ให้บริการและร้านค้าเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานให้มีความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารด้วยเช่นกัน เพื่อให้การขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เดินหน้าควบคู่กันได้อย่างสมดุล

18 สายการบินปักหมุด SAT-1

“กีรติ” ให้ข้อมูลว่า สำหรับในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (Satellite 1) หรือ SAT-1 ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2566 พบว่า ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการอยู่รวม 18 สายการบิน อาทิ การบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไทยเวียตเจ็ท ฯลฯ มีเที่ยวบินเฉลี่ยประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน

โดย ทอท.มีแผนผลักดันให้เพิ่มเป็น 120 เที่ยวบินต่อวันภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า และเพิ่มให้ได้ 400 เที่ยวบินต่อวันภายในปี 2567 (ศักยภาพรองรับเต็มที่ 400 เที่ยวบินต่อวัน)

“เรากำลังเคลียร์เรื่องพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ SAT-1 เพราะจนถึงตอนนี้เรามีร้านค้าเข้ามาใช้พื้นที่ประมาณ 60% ของพื้นที่ที่มี ศูนย์อาหารยังไม่มี ทุกคนยังรอประเมินสถานการณ์ เพราะปริมาณเที่ยวบินยังมีเพียงแค่ประมาณ 20% ของคาพาซิตี้ของอาคาร จุดนี้เราต้องเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเพื่อให้ผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์เกิดความมั่นใจ”

หนุนสุวรรณภูมิรับ 150 ล้านคนต่อปี

“กีรติ” บอกด้วยว่า เดิมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี หลังเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ทำให้เพิ่มศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารรวมได้ 60 ล้านคนต่อปี

แต่คาดการณ์ว่าปี 2567 ผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะกลับไปอยู่ที่ 65 ล้านคนต่อปีใกล้เคียงปี 2562 ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มจะเห็นว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นและเริ่มแออัดแล้ว โดยเฉพาะผู้โดยสารที่จะเดินทางระหว่างประเทศ

โดยในปี 2567 นี้ ทอท.มีแผนลงทุนสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 9,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคน/ปี ขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับแบบก่อสร้าง คาดเปิดประมูลในเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนระยะยาว ทอท.จึงมีแนวคิดที่จะทบทวนแผนแม่บทขยายขีดความสามารถสนามบินของ ทอท. ในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้ (2568-2578) ใหม่ จากเดิมที่มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ หรือ Domestic ก่อน

โดยจะปรับแผนเป็นก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศใต้ (South Terminal) ซึ่งอาคารจะรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี

“ตอนนี้ความหนาแน่นของปริมาณผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นผู้โดยสารที่จะเดินทางระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยภายในปี 2567 นี้ ทอท.คาดว่าจะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินฉบับใหม่ และได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการเดินหน้าแผนได้ภายในต้นปี 2568”

ดันดอนเมืองเฟส 3

สำหรับท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นปีนี้มีแผนขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3 มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (International Terminal) บริเวณพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเดิม (ด้านทิศใต้ติดกับคาร์โก้) ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ และเปิดประมูลได้ไม่เกินปลายปี 2567

และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาทไปแล้ว เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารจากปัจจุบัน 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี

จากนั้นมีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ) เพื่อให้บริการรองรับผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2

“ที่ดอนเมืองเรายังมีที่เหลือคือ จุดที่เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง ตรงกลางระหว่างอาคารภายในประเทศและอาคารระหว่างประเทศ (หลังใหม่) เรามีแผนสร้างเป็นอาคารที่เรียกว่า Junction Terminal มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ทำหน้าที่รับคนจากรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วกระจายเข้าไปยังอาคารผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในรูปแบบการให้สัมปทาน 30 ปี”

และย้ำว่า ต่อไปท่าอากาศยานดอนเมืองจะไม่ใช่ Low-cost Airport แต่จะเป็น Point to Point Airport

พร้อมโตควบคู่อุตสาหกรรมการบิน

นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศท่าอากาศยานภูเก็ต หรือแผนลงทุนท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงิน 8,300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะประมูลสร้างประมาณไตรมาส 2 ปี 2568 เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี

พร้อมทั้งลงทุนอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท สำหรับขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคนต่อปี

“กีรติ” ยังบอกอีกว่า การลงทุนของ ทอท.นั้น ส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัทเป็นหลักก่อน ไม่ใช้เงินกู้เนื่องจากจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน ทอท.มีกระแสเงินสดในมือราว 4,000-5,000 ล้านบาท

และจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กลับมาเติบโตอีกครั้ง ทำให้คาดว่าทั้ง 6 ท่าอากาศยานในความดูแลของ ทอท. จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10-20% ทำให้คาดว่าในปี 2567 นี้ บริษัทจะมีกระแสเงินเข้ามาอีกกว่า 70,000 ล้านบาท

ทอท.จึงพร้อมที่จะลงทุนและพร้อมที่จะเติบโตไปควบคู่กับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวโลกในอนาคต