30 สมาคมท่องเที่ยวระดมสมอง จัดทำ White Paper แผนพัฒนาท่องเที่ยวระยะยาว

30 สมาคมในภาคธุรกิจท่องเที่ยว

เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยสู่เป้าหมายผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งในเชิงรุกและเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง สำหรับสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือเฟตต้า (FETTA) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวมกว่า 30 สมาคม

จากช่วงเริ่มต้นที่มีเพียง 7 สมาคมใหญ่ในส่วนกลางเมื่อกลางปี 2566 คือ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพฯ และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)

ระดมสมองทำ White Paper

ล่าสุด “เฟตต้า” พร้อมเครือข่ายสมาคมท่องเที่ยวทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกว่า 30 สมาคมได้จัดประชุมระดมสมอง รวบบรวมความเห็นในด้านปัญหา อุปสรรค และแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโลก หรือ Thailand Tourism Hub

พร้อมรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการหารือในครั้งนี้จัดทำ Tourism White Paper หรือสมุดปกขาว นำเสนอให้รัฐบาลเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศในระยะยาว

“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ตัวแทนสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือเฟตต้า บอกว่า การประชุมหารือเพื่อจัดทำ Tourism White Paper ครั้งนี้ทางสมาพันธ์ และเครือข่ายได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทางวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มาช่วยกำหนดกรอบ

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และทำให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลายในระยะยาว เกิดการท่องเที่ยวเพื่อความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และนำไปสู่สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์
ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์

เน้นพัฒนาฝั่งซัพพลายไซด์

“ดร.อดิษฐ์” บอกด้วยว่า ประเด็นหลัก ในการหารือคือ การ Re-positioning ท่องเที่ยวไทย เช่นการเชื่อมต่อด้านการเดินทางจากเมืองหลักไปเมืองรอง ทั้งทางบก-ทางอากาศ การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ แรงงาน การปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค รวมถึงเรื่องความยั่งยืนและกรีนทัวริซึ่ม

โดยย้ำว่าที่ผ่านมาประเด็นหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ เรื่องของรายได้จากการท่องเที่ยว การเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการกระตุ้นฝั่งดีมานด์เป็นหลัก ขณะที่ด้านซัพพลายไซด์ยังไม่ได้รับการพัฒนา และวางแผนพัฒนารองรับในระยะยาว

แนวทางที่เป็นอยู่นี้จะทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตวิ่งตามดีมานด์ แต่ขาดการดูแลด้านซัพพลายไซด์ ซึ่งไม่ใช่แนวทางการเติบโตของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

มี KPI วัดความสุขคนในพื้นที่

โดยประเด็นหลักที่จะผลักดันคือ การจัดทำศักยภาพ หรือ Capacity การรองรับนักท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวหลัก เพื่อวางแผนกระจายตัวนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองอย่างมีเป้าหมาย และตามศักยภาพการรองรับของพื้นที่

หรือทำอย่างไรที่จะทำให้มีสายการบินให้บริการเส้นทางการบินสู่เมืองรอง และทำให้นักท่องเที่ยวบินตรงเข้าสู่เมืองรอง หรือการเตรียมพัฒนาสนามบิน ระบบการขนส่ง คมนาคมในส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเสนอให้มี KPI หรือตัวชี้วัดความสุขของคนในพื้นที่ หรือค่ามาตรฐานในฝั่งซัพพลายไซด์ว่ารองรับได้แค่ไหน หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพื่อรักษาสมดุลให้กับการท่องเที่ยวทั้งระบบ ไม่ใช่วัดกันที่ตัวเลขรายได้ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนที่ผ่านมาเท่านั้น

Re-positioning เพื่อสิ่งที่ดีขึ้น

ด้าน “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เพิ่มเติมในประเด็น “Re-positioning ท่องเที่ยวไทย” ด้วยว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยขาดการวางแผนระยะยาว การระดมสมองครั้งนี้จึงมีเป้าหมายทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเกิดความยั่งยืน

และ Re-positioning ท่องเที่ยวไทย ให้ทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลายมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยโจทย์หลักคือการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาคหรือเมืองรอง ซึ่งหากจะโปรโมตเมืองรองรัฐก็ต้องยกระดับเมืองด้วย

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

“อยากให้รัฐให้ความสำคัญ และมีอินเซนทีฟ หรือมาตรการจูงใจผู้ประกอบการให้ปรับตัว หรือมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว เช่น มาตรการด้านภาษี หรือมาตรการทางการเงินการคลังสำหรับผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อน Sustainable Tourism เป็นต้น”

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ปลดล็อกกฎหมายบางตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เช่น อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวสำหรับตำแหน่งงานที่คนไทยไม่ทำ เป็นต้น และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในบางตัว เช่น กำหนดให้อาคารที่พักแบบ Airbnb หรือที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม ขึ้นทะเบียนที่พักตามกฎหมาย

รวมถึงการตั้งกองทุนสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น

ส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศ

“ธเนศ ศุภรสหัสรังสี” นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี เสริมว่า ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่เสนอคือ ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เนื่องจากในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ การท่องเที่ยวภายในประเทศถือเป็นขาหลักที่ช่วยผู้ประกอบการ

โดยโจทย์ที่เสนอคือ ทำอย่างไรให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงวันธรรมดา เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดยาวเท่านั้น รวมถึงการดูแลราคาตั๋วโดยสารสายการบินภายในประเทศไม่ให้สูงเกินไปจนมีผลทำให้คนไทยหันไปเที่ยวต่างประเทศแทน

เช่นเดียวกับ “ชัยพฤกษ์ ทองคำ” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ที่บอกว่า ประเด็นที่อยากให้เน้นคือการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง และอยากให้รัฐใช้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้ประสานงาน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ลงไปในทุกเซ็กเตอร์อย่างทั่วถึง

ธเนศ ศุภรสหัสรังสี

“ดร.อดิษฐ์” ในฐานะตัวแทน “เฟตต้า” เพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากนี้ ยังผลักดันในประเด็นการใช้ท่าอากาศยานเมืองรอง รวมถึงการขยายและลงทุนสร้างใหม่ในพื้นที่นำร่อง และปรับ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ในด้านการจราจรของระบบขนส่งสาธารณะ และ พ.ร.บ.ด้านความปลอดภัยและสาธารณสุข เพื่อยกระดับมาตรฐานในด้านการบริการของภาคการท่องเที่ยว

พร้อมย้ำว่า ข้อมูลที่จะนำเสนอเป็น White Paper นี้เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวต้องการจริง ๆ โดยคาดว่าจะรวบรวมเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567 นี้ จากนั้นจะส่งต่อไปยังรัฐบาล

โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลนำแผนที่จัดทำเป็น White Paper นี้ไปกำหนดเป็นแผนการทำงานระยะยาว และทันกับการพิจารณางบประมาณสำหรับปี 2568