“ทีเส็บ” เปิดกลยุทธ์ ดันไทย “ฮับเทรดโชว์หุ่นยนต์อาเซียน”

ทีเส็บทุ่ม 50 ล้านต่อปี รุกเพิ่มสัดส่วนเทรนโชว์หุ่นยนต์ ช่วยออแกไนซ์บิดงาน อุดหนุนค่าใช้จ่ายเอ็กฮิบิซเพิ่ม หวังเป็นฮับการจัดแสดงเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์อาเซียน เชื่อไมซ์ช่วยดึงนักลงทุน-แพร่เทคโนโลยีกว้างขวางสู่ SME ปี 2562 นี้ดันจัด 5 งาน พร้อมยก AUTOMATION Expo เรือธงดันโต

 

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ สายงานธุรกิจ เปิดเผยว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มงานจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition) ถือว่ามีการเติบโตตามกลไกตลาดที่ดี โดยมีนักเดินทางไมซ์กลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 233,228 คนต่อปี สร้างรายได้ 16.7 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมที่ผ่านมา มีการเติบโตของจำนวนนักเดินทางไมซ์กว่า 60% และสร้างรายได้เพิ่มกว่า 44.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แคมเปญ 360 องศาดันเทรดโชว์หุ่นยนต์

ทีเส็บที่พร้อมสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าในไทยที่รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล จึงมีความพร้อมที่จะยกระดับการจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในวงกว้างมากขึ้น ภายใต้แบรนด์ใหม่ของทีเส็บ “Thailand Redefine Your Business Events” ที่ทีเส็บจะมีส่วนร่วมกับการจัดแสดงมากกว่าเดิม และได้เตรียมรันแคมเปญ “360 องศา” เพื่อสนับสนุนการจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ทำการสนับสนุนทั้ง 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดง

ตั้งแต่ฝ่ายผู้จัดงาน (Organizer) ซึ่งเป็นพันธมิตรหลัก ทีเส็บจะเข้าไปช่วยในการดึงงานใหม่เข้ามาจัดในประเทศมากขึ้น (Bidding New Show) ฝ่ายผู้จัดแสดง (Exhibiz) จะสานสัมพันธ์พร้อมมอบสิทธิพิเศษเป็นเงินหรืออื่นๆ เพื่อดึงผู้ที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอยู่ในมือเข้ามาจัดแสดงงาน และฝ่ายผู้ร่วมงาน (Visitor) ที่จะมอบ “Asean+6 Previllage” มอบเงินสนับสนุน 100 ดอลล่าสหรัฐ เมื่อสมาพันธ์หรือสมาคมต่างๆ สามารถนำผู้เข้าร่วมเจรจาซื้อขายขั้นต่ำ 10 ราย และมีจำนวนครั้งของการพบปะเจรจามากกว่าสามครั้งต่อคน

ดันฮับเทรดโชว์หุ่นยนตร์อาเซียน

พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนงานจัดแสดงและนิทรรศการเฉลี่ยปีละ 8 งานต่อปีอย่างสม่ำเสมอ และดันสัดส่วนของการจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่สัดส่วน 10% ของการจัดแสดงทั้งหมดให้เพิ่มประมาณ 10-15% ต่อปี พร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็น ศูนย์กลางของงานแสดงสินค้าด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งงบประมาณไว้ปีละ 50 ล้านบาท และเชื่อว่าการผลักดันการจัดแสดงดังกล่าวนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศมากเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งช่วยผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในการหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการผลิต

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าการที่ประเทศไทยไม่ได้มีการผลิตนวัตกรรมของตัวเองไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดึงงานมาจัดแสดง แต่จะทำให้การดึงงานเข้ามาสู่ผู้ใช้จริงในประเทศทำได้ง่ายขึ้น ด้วยปัจจุบันนี้เองไทยเป็นเบอร์ 1 ด้านศูนย์จัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน โดยมีขนาดพื้นที่สุทธิในการจัดงาน 550,000 ตารางเมตร และกว่า 24 งาน ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์อุตสาหกรรมการแสดงสินค้าโลก (UFI) นอกจากนั้นไทยยังมีการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อย่างมาก

ดัน AUTOMATION Expo เรือธง

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีงานแสดงสินค้าด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อย่างน้อย 5 ราย มีพื้นที่ใช้งาน (net space) รวมกัน 90,000 ตารางเมตร และล้วนเป็นงานระดับภูมิภาคอาเซียน โดยประกอบด้วย INTERMACH งานที่นำเสนอเทคโนโลยีระดับสูง เช่น AI หุ่นยนต์ สำหรับตลาดอาเซียน มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2562

งาน Propak Asia งานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย ด้านกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2562 งาน Manufacturing Expo งานชั้นนำของอาเซียนด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสำหรับภาคการผลิต มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน 2562 และงาน METALEX งานเทคโนโลยีและเครื่องจักรด้านโลหะการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2562 โดยในปีนี้ เตรียมจัดแสดงเทคโนโลยีระดับสูงสำหรับงานโลหะการที่ทันสมัยที่สุด

และในปีนี้ AUTOMACH งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใหญ่สุดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) จะปรับโฉมและเปลี่ยนชื่อเป็นงาน AUTOMATION Expo ที่มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2562 ตั้งเป้ายกระดับเป็นเวทีชั้นนำและเป็นเรือธงสำคัญที่ช่วยขยายการจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนั้น ในปีนี้ที่ไทยจะมีการจัดประชุม 86th UFI Global Congress ในวันที่ 6-9 พฤศจิกายน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นงานที่มีจำนวนผู้จัดงาน (Organizer) ขนาดใหญ่และได้มาตรฐานระดับโลกมารวมกันมากที่สุดงานหนึ่ง และจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้แสดงความโดดเด่นในฐานะแหล่งจัดไมซ์ชั้นยอดออกมา

เทรดโชว์หุ่นยนต์ผลักอุตฯ ไทยใช้เทคโน

ด้าน ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาการศึกษาบุคลากรและเทคโนโลยี สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กล่าวย้ำถึงบทบาทสำคัญของงานแสดงสินค้าต่อการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมไทยว่า งานแสดงสินค้าเป็นช่องทางสำคัญช่องทางแรกที่ช่วยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับปรุงและนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการผลิตได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย

ประกอบกับในปัจจุบันประเทศไทยมีงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่หลากหลายในระดับแนวหน้าของภูมิภาคอาเซียน จะยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทยในภาพรวมต่อไป โดยจากรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ หรือ ไอเอฟอาร์ (IFR) มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2562 ตลาดระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของไทยจะขยายตัวถึง 19% ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตมากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนและเป็นอันดับ 4 ของโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีฐานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่แข็งแกร่ง สามารถต่อยอดศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ทั่วโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมสูงถึงร้อยละ 64