“แอร์เอเชีย” ลุย OTA (หวัง) เป็นมากกว่า “สายการบิน”

(Photo by Faris Hadziq/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

หลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ของสายการบินต้นทุนต่ำเบอร์หนึ่งของภูมิภาค “แอร์เอเชีย” ก็ปรับโครงสร้าง พา “airasia.com” ลูกคนเล็กจับมือกับ “kiwi.com” เปลี่ยนเว็บไซต์เป็นออนไลน์ แทรเวล เอเย่นต์ หรือ OTA เต็มตัว

แม้ว่าหลายฝ่ายบอกว่าเสี่ยง แต่ “โทนี่ เฟอร์นานเดส” ซีอีโอกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียเชื่อว่า “คุ้ม”

“โทนี่” บอกว่า ตั้งแต่การเปิดให้บริการของสายการบินแอร์เอเชีย เมื่อปี 2544 แอร์เอเชียไม่คิดว่าจะมีวันที่จะต้องขายตั๋วของสายการบินอื่น แต่ในวันนี้กลุ่มบริษัทแอร์เอเชียได้แยก “สายการบินแอร์เอเชีย” ออกจากเว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอม (airasia.com) เพื่อเปิดไลน์ธุรกิจใหม่และสร้าง airasia.com ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ผ่านการจับมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวอย่าง “กีวีดอตคอม” (kiwi.com)

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการค้นหาบนเว็บไซต์แอร์เอเชียที่มีจุดเด่นในเรื่อง “ราคาที่ถูกที่สุด” ให้ผู้ใช้สามารถใช้สำหรับค้นหาบริการสายการบินแอร์เอเชียและสายการบินอื่น ๆ ซึ่งเว็บไซต์แอร์เอเชียจะสามารถเสิร์ฟราคาที่พิเศษสุดให้กับผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลายจากจำนวนผู้ให้บริการจำนวนมากรวมถึงขายสินค้าและบริการทางด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่พาร์ตเนอร์อย่างกีวีดอตคอมมีอยู่ในระบบ อาทิ โรงแรมที่พัก รถเช่า รถบัส รวมถึงกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ให้กับผู้ใช้บริการในฐานะ OTA เช่นกัน

โดยส่วนที่สำคัญที่สุด คือ “ฐานข้อมูล” ที่แอร์เอเชียจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนระบบสู่การเป็น OTA เนื่องจากจะมีข้อมูลไหลเวียนอย่างมหาศาล รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เพื่อที่จะนำข้อมูลทางการตลาดเชิงลึกที่มีมาใช้ประโยชน์ในแนวทางอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลต่อไป

ทั้งนี้ เว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอมจะจำหน่ายตั๋วเครื่องบินจากสายการบินอื่น ๆ ไปยังจุดหมายปลายทางยอดนิยมนอกเอเชียอย่างลอนดอน ดูไบ มาดริด และโอกแลนด์ ฯลฯ รวมมากกว่า 100 สายการบิน ทั้งสู่จุดหมายปลายทางในยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง และอเมริกาแล้ว รวมถึงจะจำหน่ายสินค้าด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์เช่นเดียวกับ OTA

อย่างไรก็ตาม การแยก “เว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอม” ออกจากสายการบินแอร์เอเชียครั้งนี้เท่ากับการแยกบริษัทออกจากกัน กลายเป็น “2 บริษัท 2 โปรดักต์” ดังนั้น สายการบินที่จะมาอยู่บนเว็บไซต์ของแอร์เอเชียไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการทำโค้ดแชร์ร่วมกันแต่อย่างใด เพราะเว็บไซต์แอร์เอเชียจะทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางการขายอย่างเต็มรูปแบบไม่เกี่ยวข้องกับสายการบินอีกต่อไป

“วันนี้คือจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ในขณะที่ทั้งแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะยังคงเดินหน้าทำในสิ่งที่ควรทำต่อไป” โทนี่ย้ำ

พร้อมทั้งมองว่า ในส่วนของธุรกิจสายการบินนั้น การแข่งขันทางการตลาดกับสายการบินอื่น ๆ เป็นเรื่องปกติของธุรกิจการบิน โดยผู้ใช้บริการก็มีการเปรียบเทียบราคาระหว่างแต่ละแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเว็บไซต์แอร์เอเชียเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ผู้ใช้ก็ยังสามารถค้นหาและเปรียบเทียบราคาได้ด้วยตัวเองเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าผู้ใช้จะต้องเลือกเฉพาะบริการของแอร์เอเชีย เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ของแอร์เอเชียดอตคอม

และเพื่ออำนวยความสะดวกสู่การทำงานของแอร์เอเชียดอตคอม แอร์เอเชียได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในเพื่อแยกเว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอมออกจากสายการบินเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีแผนเปิดสำนักงานใหญ่สำหรับแอร์เอเชียดอตคอมอย่างเต็มรูปแบบใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

นับเป็นการมองหาโอกาสและสร้างการเติบโตจากธุรกิจใหม่ ๆ โดยอาศัยความแข็งแกร่งของพันธมิตรที่อยู่ในเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวและการบินอื่น ๆ ทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก…