ท่องเที่ยวทรุดถึงไฮซีซั่น’63 กรุ๊ปทัวร์ลดทุกตลาดหนักสุดรอบ10ปี

ท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้านชอร์ตทั้งระบบ ! วงในคาดซบยาวถึงปลายปีหน้า สารพัดปัจจัยลบ “ค่าเงินบาท-เศรษฐกิจโลก”ยังรุมเร้า ทัวร์อินบาวนด์เจ็บหนัก กรุ๊ปทัวร์ร่วงระนาวทุกตลาด ทุบรายได้ทรุดหนักรอบ 10 ปี รถนำเที่ยวตกงาน 50% สะเทือน”โรงแรม-ร้านอาหาร” ภูเก็ต-สมุย-พัทยา-เชียงใหม่ ยังติดลบฟากทัวร์เอาต์บาวนด์โดนมรสุม “โปรไฟไหม้” บี้รายย่อยทยอยปิดตัว

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่า 3 ล้านล้านบาทในปีนี้ เป็นปีที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ประสบปัญหามากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทนำเที่ยว, รถบัสนำเที่ยว, โรงแรม รวมถึงร้านอาหารและร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่มุ่งโฟกัสจับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมีปริมาณที่ลดลงจากปีก่อนอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพฯ, ภูเก็ต, พัทยา (ชลบุรี), สมุย (สุราษฎร์ธานี), กระบี่, พังงา, เชียงใหม่ ฯลฯ

ทั้งนี้ จากรายงานของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ที่ผ่านมา จะมีอัตราการขยายตัวในทิศทางบวก โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 32.5 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.29% และมีรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.57 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.97%

ปี”62 เจ็บหนักทุกเซ็กเตอร์

“ในส่วนของเอกชนท่องเที่ยวนั้นเห็นผลกระทบมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมคาดการณ์กันว่าพอเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นปลายปีของปี 2561 และช่วงตรุษจีน 2562 แต่กลับพบว่าภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 กลับยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม โรงแรมมีอัตราการเข้าพักลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ฟากขนส่งหรือรถนำเที่ยวก็พบว่ามีความต้องการใช้รถนำเที่ยวที่ลดลงมากกว่า 50%” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisment

และว่า ขณะที่บริษัทนำเที่ยวที่ทำตลาดอินบาวนด์ หรือทำตลาดต่างชาติเที่ยวไทยยิ่งเจ็บหนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องเผชิญกับค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนซ้ำเติมเข้ามาอีก

ทัวร์อินบาวนด์กระอัก “ค่าบาท”

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับตลาดทัวร์อินบาวนด์นั้นเห็นชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวเกิดการชะลอการเดินทางในเกือบทุกตลาด ทั้งตลาดระยะสั้นและระยะไกล รวมถึงตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยก็ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการมอนิเตอร์ยังพบว่า ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องนั้น ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องอีกในปีหน้า

“ยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่เหนื่อยมากของคนทำธุรกิจนำเที่ยวตลาดอินบาวด์ ขนาดช่วงไฮซีซั่นปลายปีที่คาดว่าสถานการณ์รวมน่าจะพลิกฟื้นกลับมาได้บ้าง แต่ถึงขณะนี้ก็ยังคงนิ่ง ๆ ไร้สัญญาณบวก คาดการณ์ว่าภาพรวมของปีหน้าน่าจะยิ่งเหนื่อยกว่าปีนี้”

Advertisment

“กรุ๊ปทัวร์” ร่วงเกือบทุกตลาด

ทั้งนี้ จากสถิติของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 อันดับแรกที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ผ่านสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และสนามบินนานาชาติดอนเมือง ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-20 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงถึง 10 ตลาด โดยตลาดที่ตกมากที่สุด คือ ตลาดสหราชอาณาจักร ลดลง 32.56%, ฮ่องกง ลดลง 16.96%, รัสเซีย ลดลง 11.97%, เกาหลี ลดลง 11.11%, อินโดนีเซีย ลดลง 5.55%, ญี่ปุ่น ลดลง 4.48%, ฝรั่งเศส ลดลง 4.28% ส่วนตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ลดลง 2.73% โดยมีเพียง 2 ตลาดที่เติบโตเพิ่มขึ้น คือ อินเดีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.08% และไต้หวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.16%และหากประเมินรายเดือนพบว่า ภาพรวมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ผ่านสนามบินหลักทั้ง 2 แห่งดังกล่าวในปีนี้ (1 มกราคม-20 ธันวาคม 2562) ลดลงเฉลี่ย 3.64% โดยตกลงต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนแรก และเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา

“ตัวเลขที่เห็นว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมนั้นเป็นผลจากตัวเลขของปี 2561 ที่ลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นช่วงหลังจากเกิดเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต ไม่ได้เป็นเพราะว่าภาพโดยรวมดีขึ้น”

ต้นทุนพุ่ง-ปรับขึ้นค่าทัวร์ไม่ได้

นายวิชิตกล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการทัวร์อินบาวนด์ (นักท่องเที่ยวขาเข้า) คือ ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบภาวะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาเฉพาะผลกระทบจากค่าเงิน ทำให้ต้นทุนการทำตลาดของผู้ประกอบการนำเที่ยวตลาดจีนของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 15% ขณะที่ผู้ประกอบการปรับเพิ่มค่าบริการนำเที่ยวได้เพียงแค่ 3-5% เนื่องจากการแข่งขันที่สูง

“มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมา เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือฟรีวีโอเอ รวมถึงมาตรการลดค่าแลนดิ้งฟีครึ่งหนึ่งให้กับสายการบินชาร์เตอร์ไฟลต์นั้นก็ถือว่าช่วยได้บ้าง สถานการณ์แบบนี้ ภาครัฐน่าจะมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมากระตุ้นเป็นระลอก โดยเฉพาะในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวไทยได้ง่ายขึ้น”

รถบัสนำเที่ยว “ตกงาน” 50%

ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร รองประธานสภาสาขาขนส่งท่องเที่ยวทางบก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจรถขนส่ง รถนำเที่ยวสำหรับปีนี้ถือว่าถดถอยและน่ากลัวที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มาตรการของภาครัฐที่ออกมายังไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวโดยรวมนัก

“ในช่วงปลายปีซึ่งควรจะเป็นช่วงที่ดี แต่ปีนี้ความต้องการใช้รถโดยสารและรถนำเที่ยวยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมาถึงราว 50%” ดร.วสุเชษฐ์กล่าวและว่า ขณะที่ตลาดทัวร์อินบาวนด์ โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักยังกลับมาไม่เต็มที่นัก เช่นเดียวกับตลาดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ยังคงชะลอตัวหนัก”

ดร.วสุเชษฐ์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการรถบัสนำเที่ยวและรถบัสโดยสาร (ไม่ประจำทาง) อยู่ในภาวะตกงานแล้วประมาณ 50% ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องอยู่ราว 30% หากสถานการณ์ในไตรมาสแรกของปีหน้ายังไม่ดีขึ้น คาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้จะเริ่มเข้าสู่เอ็นพีแอลไม่ต่ำกว่า 50% แน่นอน

อัตราเข้าพักโรงแรมนิ่งสนิท

ด้านนางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจโรงแรมปีนี้ยังไม่ถือว่าดีนัก ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้ ส่วนใหญ่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงเล็กน้อย

“เราหวังว่าในปีหน้าสถานการณ์โดยรวมน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลาย ฝ่ายยังคงมองว่า ปีหน้าจะยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น” นางสาวศุภวรรณกล่าวและว่า สมาคมโรงแรมฯให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเข้าพักในโรงแรมเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องหาคำตอบที่ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในโรงแรมกลับลดลง ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจในปีหน้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สทท.ชี้ซบยาวยันปีหน้า

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยผ่านสนามบินหลัก 3 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และอู่ตะเภา ที่ยังเติบโตในระดับ 5-7% หากประเมินในกลุ่มที่โฟกัสตลาดนักท่องเที่ยวพบว่าทุกเซ็กเตอร์ได้รับผลกระทบหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, บริษัทนำเที่ยว, ร้านอาหาร, ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก, รถนำเที่ยว ฯลฯ กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งนักท่องเที่ยวและรายได้หายไปถึงราว 30-40% และยังพบว่า ผู้ประกอบการในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ ภูเก็ต, สมุย, พัทยา และเชียงใหม่ มีรายได้ที่ลดลงราว 20-30%

สำหรับปีหน้า 2563 นี้ คาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก็น่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะปัจจัยเรื่องค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นปัญหา ขณะที่การแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ในด้านการท่องเที่ยวก็ปรับตัวสูงขึ้น

ทัวร์เอาต์บาวนด์ทยอยปิดตัว

แหล่งข่าวจากบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับในฟากของตลาดเอาต์บาวนด์ หรือตลาดนำคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ มีอัตราการเติบโตของจำนวนคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 10.8-11 ล้านคนในปีนี้ แต่ในเชิงการทำธุรกิจพบว่าผู้ประกอบการต่างประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่โหมทำการตลาด โดยเน้นขายแพ็กเกจ “โปรไฟไหม้” ซึ่งเป็นแพ็กเกจราคาถูกเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กทยอยปิดตัว

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า จากการประเมินในกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนด้วยกันเองยังพบว่า ภาพรวมในปีหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากทั้งในตลาดอินบาวนด์ และเอาต์บาวนด์ เนื่องจากมีปัจจัยที่มีผลต่อการท่องเที่ยวจำนวนมาก