“สวนสยาม” ลุยแผนเดิม วอนรัฐหนุน “แหล่งท่องเที่ยว”

กว่า 40 ปีที่ “สวนสยาม-ทะเลกรุงเทพฯ” หรือ “สยาม อะเมซิ่ง พาร์ค” สวนสนุกและสวนน้ำแห่งนี้ได้อยู่คู่กับกรุงเทพฯ และคนไทย แม้จะไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตหวือหวานัก แต่ “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ผู้บุกเบิกก็มีความตั้งใจและประคับประคองให้สวนสนุกและสวนน้ำแห่งนี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ และของคนไทยมาโดยตลอด

กระทั่งเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา “สวนสยาม” ได้ประกาศทุ่มลงทุนครั้งใหญ่กว่า 3 พันล้านบาท เนรมิตพื้นที่ราว 70 ไร่ โซนด้านหน้าของ “สยาม อะเมซิ่ง พาร์ค” ให้เป็นแลนด์มาร์ก ด้านการค้าและการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2564-2565 นี้

แต่วันนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบกันทั่วหน้าจากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 โดย “วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท สยามพาร์ค ซิตี้ จำกัด ผู้บริหารสวนสนุก สวนน้ำสวนสยาม-ทะเลกรุงเทพฯ ที่ล่าสุดได้รีแบรนดิ้งใหม่เป็น “สยาม อะเมซิ่ง พาร์ค” ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลกระทบและทิศทางการบริหารของสวนสนุกแห่งนี้ไว้ ดังนี้

“วุฒิชัย” บอกว่า ด้วยธรรมชาติของธุรกิจสวนสนุกที่พื้นที่ให้บริการกลางแจ้งเกือบทั้งหมดนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ ธุรกิจของสวนสยาม หรือ “สยาม อะเมซิ่ง พาร์ค” สำหรับปีนี้เริ่มได้รับผลกระทบจากกระแส PM 2.5 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่เมื่อมาเจอกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้บริการกลางแจ้งมีความปลอดภัยมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นสถานที่ปิด หรือเป็นห้องปรับอากาศ

“ยอมรับว่าสวนสยามได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อยจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เนื่องจากบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกิดการชะงัก”

“วุฒิชัย” ยังบอกด้วยว่า สวนสยามได้วางโพซิชันนิ่งให้โฟกัสตลาดคนไทยเป็นหลักมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยในยุคแรกนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มคนไทยราว 80-90% แต่ระยะหลังได้พยายามขยายพอร์ตลูกค้า โดยหันไปให้ความสำคัญกับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนคนไทยอยู่ที่ประมาณ 70% ส่วนอีก 30% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยในสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้แบ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ อินเดีย, รัสเซีย, เออีซี ฯลฯ ส่วนตลาดจีนมีสัดส่วนอยู่ที่ราวประมาณ 3-4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมด ทำให้ไม่ได้รับผล กระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับด้านการลงทุนนั้น “วุฒิชัย” บอกว่า หากเป็นโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการเดินทางท่องเที่ยวนั้น ในช่วงนี้อาจมีบางโครงการที่จำเป็นต้องชะลอเพื่อรอให้สถานการณ์และบรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติก่อน ส่วนโครงการที่เป็นการลงทุนระยะยาวนั้น ทางบริษัทยังคงเดินหน้าตามแผนอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบัน “สวนสยาม” อยู่ระหว่างการลงทุนโครงการ “บางกอก เวิลด์” หรือ Bangkok World ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่รวบรวมความอะเมซิ่งของกรุงเทพฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบันมาไว้ด้วยกัน โดยวางให้โครงการ “บางกอก เวิลด์” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการในปี 2564-2565

“ส่วนตัวมองว่าวิกฤตรอบนี้เป็นผลกระทบระยะสั้นและระยะกลาง หรือประมาณ 5-6 เดือนเท่านั้น เมื่อกระแสการแพร่ระบาดจบลงทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้น โครงการที่เป็นแผนลงทุนระยะยาวจึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ” วุฒิชัยย้ำ

พร้อมบอกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้หน่วยงานภาครัฐโฟกัสเรื่องการเยียวยาส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตามลำดับ พร้อมทั้งให้ความสำคัญและช่วยสนับสนุนธุรกิจในส่วนของแหล่งท่องเที่ยว (attraction)ด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับโรงแรม, แหล่งช็อปปิ้ง, สินค้าโอท็อป, บริษัทนำเที่ยว, สายการบิน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังอยากให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นและส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ พร้อมทั้งดูแลด้านการแข่งขันด้านราคาของสินค้าและบริการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากเป็นห่วงว่าการใช้กลยุทธ์ด้านราคามาใช้จนมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาวได้

และย้ำว่า สิ่งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐน่าจะเร่งสร้าง “โอกาส” ใน “วิกฤต” รอบนี้ คือ จัดระบบธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเสียใหม่ และยอมรับผลกระทบในระยะสั้นบ้าง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาว