จุดเปลี่ยน “ท่องเที่ยวไทย” วิกฤตโควิด…สร้างสมดุลใหม่

หลังวิกฤตทุกครั้งมักเกิด “จุดเปลี่ยน” สำคัญเสมอ! เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ที่หลายฝ่ายประเมินว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะพลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย จากเดิมที่มีการเติบโตแบบไร้จุดสมดุล หรือมีการเติบโตเร็วเกินไป ให้กลับมาอยู่ในจุด “สมดุล” และเติบโตอย่างมีทิศทางอีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงมุมมองการขยับตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงแนวทางสำหรับการเตรียมการรับมือของ ททท. และผู้ประกอบการหลังวิกฤตโควิด-19 ยุติลงไวัดังนี้

โตเร็วแต่ไม่สมดุล

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตและมีการพัฒนาค่อนข้างรวดเร็วมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 2-3 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับ 4 ของโลก และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในอันดับ 9 ของโลก

การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ทำให้เกิดความไม่สมดุลในโครงสร้างใหญ่ โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด เช่นเดียวกับที่นักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

“โควิด” จุดเปลี่ยนสำคัญ

แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนจะมีความพยายามในการกระจายความเสี่ยงออกจากตลาดจีน โดยเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดอื่น ๆ อาทิ ตลาดอาเซียน ตลาดยุโรป รวมถึงกระจายการท่องเที่ยวในเชิงพื้นที่และเวลาด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง พร้อมทั้งเร่งการกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทย แต่ก็ยังไม่มี “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่สามารถปรับโฉมการท่องเที่ยวไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

พร้อมย้ำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้กระทบทั้งการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ และน่าจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ รวมถึง new normal ที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งอาจจะนำมาสู่การปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ทางการท่องเที่ยวของไทย

ลุ้น มิ.ย.ธุรกิจเริ่มฟื้น

“ยุทธศักดิ์” บอกด้วยว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อส่วนมากไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการติดต่อภายในประเทศแล้ว แต่เพิ่มขึ้นจากคนไทยที่เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศมากกว่า หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่าในเดือนพฤษภาคมจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าสถานการณ์จะดำเนินไปในทิศทางไหนจากนั้นการเดินทางท่องเที่ยวจะค่อย ๆ เริ่มมีการขยับในเดือนมิถุนายนเช่นเดียวกับทางจีนและยุโรปที่เริ่มมีการขยับของเอเย่นต์แล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่า 3 เดือนเพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเตรียมพร้อมที่จะกลับมาให้บริการตามปกติ และใช้เวลาในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว และเชื่อว่าหลังจากการสิ้นสุดของวิกฤตแล้วการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทุกตลาดจะต้องทุ่มความพยายามอย่างหนัก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าสู่ประเทศ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องเตือนตัวเองไม่ให้เข้าสู่เกมการแข่งขันทางด้านราคาที่จะนำไปสู่ความยากลำบากต่อไปในอนาคต

“สะอาด-ปลอดภัย” หัวใจหลัก

ผู้ว่าการ ททท. บอกอีกว่า ด้วยรูปแบบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิมนี้ มองว่าความสะอาดและความปลอดภัยจะได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นจากนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ และจะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี

โดยอนาคตเราอาจจะได้เห็นการจำกัดจำนวนคนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวการออกระเบียบใหม่ในการเข้าชมสถานที่ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อลดความกังวลของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่อ่อนไหว อาทิ กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว สร้างความเชื่อมั่นและความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว

และแนะนำว่า ในห้วงเวลานี้หากประเทศไทยอยากจะขยับ “สมดุล” ทางด้านการท่องเที่ยว จำเป็นที่จะต้องปรับสมดุลจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง พร้อมทั้งเพิ่มการกระจายตัวทางด้านการท่องเที่ยวและสร้างเซ็กเมนเตชั่นใหม่ ๆ รวมถึงเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการการท่องเที่ยวให้ปลอดภัยและสะอาด จำกัดจำนวนคนเข้าสู่พื้นที่ และอื่น ๆ

ททท.พร้อมรับมือ

สำหรับ ททท.นั้น “ยุทธศักดิ์” บอกว่า ขณะนี้ได้หันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมผู้ประกอบการให้พร้อมกับสถานการณ์ใหม่ จัดสรรงบประมาณทุ่มเทน้ำหนักลงไปที่การสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวตามพันธกิจของ ททท.แล้ว

“ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเดินทางกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงจำเป็นจะต้องชักจูงให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาในเวลาที่เหมาะสมและได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เราได้เตรียมแผนการตลาดไว้แล้วทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ”

โดยเชื่อมั่นว่า วันนี้ “การท่องเที่ยว”ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปแล้ว ไม่ว่าอย่างไรอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะยังคงเติบโต เพียงแต่ความเชื่อมั่นในการเดินทางจะเกิดขึ้นจากการขยับเดินทางของคนในประเทศก่อน ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ ท่องเที่ยวไทยในอนาคตจะต้องได้รับการดูแลให้ทันสมัย ไม่เน้น “คึกคัก” แต่อยากให้ “วิบวับ” กว่าที่เคยเป็นมาในอดีต