แก้โจทย์ ท่องเที่ยวไทย แนะใช้เป็น “เครื่องมือ” เดินสู่เป้าหมาย

สัมภาษณ์

ในวิกฤตย่อมมีจุดเปลี่ยนเสมอ เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวให้เดินเข้าสู่ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของภาคในอนาคตได้
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” สมาชิกวุฒิสภา และในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงโครงสร้าง ทิศทาง และเป้าหมายของธุรกิจการท่องเที่ยวไทยในโลกยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ไว้ดังนี้

ใช้ท่องเที่ยวเป็น tool สู่เป้าหมาย

“วีระศักดิ์” บอกว่า โครงสร้างทางด้านการท่องเที่ยวไทยไม่ได้ถูกกำหนดเป้าหมายมาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ต้น ทำให้ที่ผ่านมาเป้าหมายของทุกหน่วยงานจึงเน้นด้านจำนวนเป็นเป้าหมายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคน จำนวนเงิน และจำนวนคืนที่พัก ดังนั้น แนวทางการทำงานจึงมุ่งเน้นในการเพิ่มปริมาณ และขยายขนาดอุตสาหกรรมให้ใหญ่ขึ้น แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ควรจะเป็นหากต้องการสร้างท่องเที่ยวยั่งยืน คือ ต้องทำการท่องเที่ยวให้เป็น “เครื่องมือ” มากกว่า “เป้าหมาย”เนื่องจากเมื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นเป้าหมาย และพยายามขยายขนาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งนานวันก็จะยิ่งกัดกินทรัพยากรและสร้างความเสียหายทิ้งไว้ตามรายทาง แต่ถ้าหันมาวางเป้าหมายใหม่อย่างละเอียดว่าแต่ละพื้นที่ต้องการพัฒนาอะไร โดยเอาภาคการท่องเที่ยวเป็น “เครื่องมือ” ในการไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น เป้าหมายการพัฒนาจะละเอียดขึ้น และแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

“เมื่อเปลี่ยนเป้าหมาย วิธีการก็จะเปลี่ยนตาม ดังนั้น ถ้าหากเป้าหมายใหม่มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเรียนรู้ และนำไปสู่การออกรูปแบบการประเมินผลใหม่จากหน่วยงานต้นสังกัด เป้าหมายของหน่วยงานทางด้านการท่องเที่ยวก็จะละเอียดขึ้น และเปลี่ยนวิธีการทำงานของแต่ละหน่วยงานไป ก่อให้เกิดวิธีการที่แยบยลในการทำงานมากขึ้น ส่งผลแม้แต่วิธีการนับหัวนักท่องเที่ยวที่ละเอียดอ่อนและแบ่งประเภทได้ชัดเจน”

จับตา “ท่องเที่ยวเชิงคุณค่า”

“วีระศักดิ์” บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาคนให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว 3 รูปแบบคือ 1.การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เดินทางง่าย อยู่สบาย ทานอาหารอร่อยในสถานที่สวยงามอย่างทะเลและชายหาด2.การท่องเที่ยวใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่สะดวกแต่อยู่กับธรรมชาติ และ 3.การท่องเที่ยวเพื่อสนองต่อความอยาก อย่างการท่องเที่ยวในเมือง ช็อปปิ้ง กินหรู อยู่สบายแต่ปัจจุบันคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการหาความหมายของชีวิตมากขึ้น การออกไปสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นจะเป็นกระแสที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงมือทำเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ หรือการลงไปเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม

โดยวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ จะเป็นตัวแปรที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของคนออกจากห้องเรียน การเรียนรู้จะเปลี่ยนวิถี และการออกเดินทางจะเป็นวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ที่ก่อให้เกิด “การท่องเที่ยวเชิงคุณค่า” ขึ้น

สร้างระบบเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

สำคัญที่สุดอีกอย่าง คือ จำเป็นที่จะต้องสร้างระบบการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ร่วมดูแลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจำเป็นที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว เพื่อจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ใช้ในกรณีที่เกิดอันตราย หรือจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในเบื้องต้นรวมถึงจะต้องมีการทำประกันเพิ่มเติมกับผู้ประกอบการโดยตรง ณ จุดบริการกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพื้นที่ หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง อาทิ ดำน้ำ ปีนเขา ฯลฯ เกิดความเสี่ยงมากกว่าการเดินทางท่องเที่ยวปกติก็ควรจะกำหนดให้มีการซื้อประกันเพิ่ม และปฏิเสธไม่ให้บริการหากนักท่องเที่ยวปฏิเสธซื้อประกัน

ขณะเดียวกัน ก็ควรจะมีการทำประกันคุ้มครองกรณีการขับยานพาหนะประเภทต่าง ๆ เพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่นที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนจากความเสี่ยงไม่ใช่แค่ดูแลนักท่องเที่ยวและผู้ให้บริการยานพาหนะในระบบ
โดยการจัดเก็บเงินภาษีท่องเที่ยวเพื่อจัดทำประกันในลักษณะนี้ จะทำให้สามารถดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องใช้เงินรัฐบาล และสามารถใช้เงินที่เหลือไปดูแลซ่อมแซมแหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มเสื่อมจากการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว เพราะบางพื้นที่มีจำนวนประชากรน้อย แต่ต้องแบกรับการซ่อมสร้างและรักษาทรัพยากรจำนวนมากจากจำนวนนักท่องเที่ยว จึงควรได้รับการดูแลจากภาคการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีการทำประกันกับผู้ประกอบการเมื่อเข้าสู่พื้นที่เสี่ยง ก็จะยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นผู้บริการที่มีความรับผิดชอบ รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการเข้าระบบอย่างถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้จากรัฐและท้องถิ่นด้วย

แนะกำหนดเป้าหมายใหม่

“วีระศักดิ์” ยังบอกด้วยว่า การกำหนดเป้าหมายและนโยบายใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก กฎหมายมีพร้อมอยู่ทั้งหมดแล้ว ขอแค่สามารถนำไปสู่การบังคับใช้ได้ก็จะสามารถมุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืนได้เลยทันที โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีภาระหน้าที่จากงานบริการนักท่องเที่ยวหนาแน่นอย่างในเวลานี้ เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะบูรณะซ่อมแซมห้องรับแขก หันหน้าพูดคุยกันและแปรวิกฤตเป็นโอกาส

“ในเวลานี้ไม่มีโจทย์ด้านตัวเลขให้เล่นแล้ว และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพยายามบรรลุเป้าหมายด้านจำนวนนักท่องเที่ยว หรือจำนวนรายได้ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะกำหนดเป้าหมายใหม่โดยไม่ต้องมีแรงกดดันอื่น ๆ มาเป็นเงื่อนไข”

พร้อมย้ำว่า แม้งานสร้างความยั่งยืนจะเป็นงานที่ไม่มีวันจบ แต่การไม่ลงมือทำจะทิ้งแนวความเสียหายตามหลังไว้มากมาย โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมและการแบกรับเกินกำลังของพื้นที่ท่องเที่ยว