ททท. เร่งรายได้ ปลดล็อก “เราเที่ยวด้วยกัน” ดันเอ็กซ์แพตเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยว
ภาพประกอบข่าว : Pixabay

ททท. รับกระแส “ไทยเที่ยวไทย” ไม่ถึงเป้า คาดดันเต็มที่ได้แค่ 100 ล้านคน-ครั้ง เร่งปลดล็อกเงื่อนไข “เราเที่ยวด้วยกัน” พร้อมปลุกกลุ่ม “เอ็กซ์แพต-ไทยเที่ยวนอก” ออกเที่ยว หวังได้กลุ่มกำลังซื้อสูงออกมาเดินทาง ดันรายได้รวมปีนี้แตะ 1.23 ล้านล้านตามเป้า ลดโอกาสคนตกงาน 2.5 ล้านคน ด้านสมาคม สทน. โอดกลุ่มทัวร์ยังไม่ได้อานิสงส์-เยียวยา วอนรัฐเปิดทางบริษัททัวร์ ทำแพ็กเกจทัวร์เข้าร่วมโครงการ

วันที่ 10 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศนั้น ทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือตลาด “ไทยเที่ยวไทย” สะสมสำหรับปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 80-100 ล้านคน-ครั้ง จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 120 ล้านคน-ครั้ง แม้ว่าจะพยายามเร่งผลักดันนักท่องเที่ยวกลุ่มไทยเที่ยวนอก กลุ่มประชุมสัมมนารัฐ-เอกชน และกลุ่มเอ็กซ์แพต (ชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย) แล้วก็ตาม

ชงปลดล็อก “เราเที่ยวด้วยกัน”

ทั้งนี้ ททท.ได้เตรียมเสนอปลดล็อกเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ให้สามารถเข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น อาทิ ปลดล็อกเงื่อนไขกำหนดต้องเที่ยวในพื้นที่ที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวในจังหวัดของตนเองได้ หรือปลดล็อกเงื่อนไขทางด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวสูงวัยสามารถเข้าถึงโครงการได้ รวมถึงอาจจะมีการเสนอให้ขยายระยะเวลาหรือเพิ่มระยะเวลาโครงการออกไปอีก

“เชื่อว่าการปลดล็อกเงื่อนไขต่าง ๆของโครงการจะช่วยให้จำนวนคืนพักของโครงการเราเที่ยวด้วยกันสูงขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ใช้สิทธิไปแล้วกว่า 8 แสนคืนจากทั้งหมด 5 ล้านคืน เช่นเดียวกับการขยายสิทธิต่อ 1 คน จาก 5 คืนไปเป็น 10 คืนและเพิ่มการสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาท ไปเป็น 2,000 บาท ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงได้ซื้อซ้ำ” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ปลุก “เอ็กซ์แพต-ไทยเที่ยวนอก”

นอกจากนั้น ททท. ยังเตรียมสนับสนุนมาตรการกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มเอ็กซ์แพต, กลุ่มไทยเที่ยวนอก และกลุ่มประชุมสัมมนารัฐ-เอกชนให้ออกเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มเอ็กซ์แพต ททท.เตรียมเริ่มต้นนโยบายขอความร่วมมือไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้ปรับราคาให้เท่ากับนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวช่วยลดปัญหาเรื่องราคา 2 มาตรฐาน ที่มักเกิดกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเอ็กซ์แพต จนทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งที่กลุ่มเอ็กซ์แพตเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีทั้งกำลังซื้อและมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน สามารถเดินทางได้ทั้งในวันหยุดและวันธรรมดา นอกจากนั้นยังหวังให้เอ็กซ์แพตกลุ่มนี้ส่งความเชื่อมั่นออกไปสู่นานาชาติ และทำให้ไทยเป็นท็อปออฟไมนด์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเสมอ

พร้อมกันนั้น ยังเตรียมจัดงาน”EXPAT TRAVEL DEAL 2020″ ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาขายดีลดี ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเอ็กซ์แพต เพื่อกระตุ้นการเดินทางของเอ็กซ์แพตในประเทศไทยมากขึ้น

รวมถึงยังได้ร่วมกับอาลีเพย์ (AliPay) ในการกระตุ้นการเดินทางในหมู่เอ็กซ์แพตชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 2 แสนคนด้วยการมอบสิทธิพิเศษในการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย พร้อมสนับสนุนให้อาลีเพย์ได้ทำงานกับผู้ประกอบการชาวไทยเพื่อสานต่อเครือข่ายในอนาคต

เช่นเดียวกับที่เร่งผลักดันนักท่องเที่ยวคนไทยที่นิยมเที่ยวนอกจำนวนกว่า 12 ล้านคนอย่างเต็มที่ และรอเวลาให้งบประมาณปี 2564 สามารถใช้ได้ หนุนองค์กรภาครัฐออกเดินทางสัมมนาอีกครั้ง

ยันติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่มีอยู่เกินกว่าอุปสงค์ในปัจจุบันค่อนข้างมาก สิ่งที่ทำได้นอกจากปล่อยไปตามกลไกตลาดก็คือ การเข้าแทรกแซงของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ททท. ก็พยายามอาศัยช่องว่างของตลาดที่คนไทยเที่ยวในประเทศเพียงปีละ 2-3 คน-ครั้งต่อปี ในการผลักดันให้สูงขึ้นเหมือนกับโมเดลของบางประเทศ เช่น ไต้หวัน ที่ประชากรเที่ยวในประเทศกว่า 10 คน-ครั้งต่อปี

“ททท.เฝ้าระวังสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้สถานการณ์พลิกกลับจากยูเชป (U) กลายเป็นดับบลิวเชป (W) โดยได้ทุ่มความพยายามเร่งแต่ละเครื่องมือแต่ละตัว เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเร็วที่สุด แม้ต้องยอมรับว่าต่อให้พยายามบูสต์ปี 2563 แค่ไหนก็คงจะสะสมรายได้ได้แค่ 1 ใน 3 ของปี 2562 เนื่องด้วยสถานการณ์ทำให้ยากที่จะนำไปเทียบกับช่วงเวลาปกติ” นายยุทธศักดิ์กล่าว

หวั่นกระทบแรงงาน 2.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ลงมือขับเคลื่อนอะไรเลย โอกาสในการผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยวให้แตะ 1.23 ล้านล้านบาท ก็จะยิ่งเป็นไปไม่ได้ รวมถึงอาจทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 2.5 ล้านคน จาก 4 ล้านคน ต้องตกงาน ลามไปกระทบความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ดังนั้น ททท.จึงต้องเร่งเพิ่มความถี่ของการเดินทางภายในประเทศ ควบคู่กับการหาสมดุลในการเปิดประเทศกับการสาธารณสุข

“ถ้าหากปี 2540 คือวิกฤตการณ์ของสถาบันการเงิน ช่วงเวลาโควิด-19ก็คือวิกฤตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำให้ทุกภาคส่วนของอุตฯได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และหากไม่สามารถเยียวยาได้โดยไว อาจนำไปสู่การสูญเสียธุรกิจท่องเที่ยวของคนไทย และเมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งผู้ที่ได้รับดอกผลที่งอกงามจากธุรกิจการท่องเที่ยวอาจจะไม่ใช่คนไทย” นายยุทธศักดิ์กล่าว

สทน.ขอร่วม “เราเที่ยวด้วยกัน”

ด้านนายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการปลดล็อกเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มเติม น่าจะส่งอานิสงส์ในทางบวกต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยในภาพรวม เพราะจะช่วยขยายขนาดของกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น แต่กลุ่มผู้ประกอบการทัวร์ก็ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้อยู่เหมือนเดิม จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้กลุ่มบริษัทนำเที่ยวร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผ่านการขายแพ็กเกจให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่เหมาะสม อาทิ ผู้สูงอายุ

โดยที่ผ่านมา มาตรการของรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทัวร์มีเพียงแพ็กเกจ “กำลังใจ” พา อสม. รพ.สต. และ อสส.ทั่วประเทศเที่ยวเท่านั้น ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่ส่งอานิสงส์ให้กับบริษัททัวร์มากนัก เพราะข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและโอกาสในการทำตลาด

ดังนั้น หลังจากร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในวงการในการประชุมนัดที่ผ่านมา สมาคมจึงเตรียมที่จะสนับสนุนการออกแพ็กเกจการท่องเที่ยวใหมๆ ในดีลที่พิเศษสำหรับจับกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย และจะเป็นโอกาสดียิ่งถ้าได้โอกาสในการร่วมแคมเปญภาครัฐ

“ก่อนหน้านี้ ตนได้ร่วมหารือกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปในเบื้องต้นแล้วว่า พอจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแบ่งเงินงบประมาณบางส่วนที่เหลืออย่างแน่นอนจากโครงการดังกล่าวมาสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ ซึ่งหวังว่าจะสามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้” นายธนพลกล่าว