ลองสเตย์-เที่ยวในประเทศ ความหวังธุรกิจ “ท่องเที่ยวไทย”

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์
สัมภาษณ์พิเศษ

ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงปี 2562 เนื่องจากปัญหาเรื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของคนทั่วโลก กระทั่งเมื่อต้นปีที่ไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวหยุดชะงักทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์” ประธานกรรมการในคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (บอร์ด ททท.) ถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวปีนี้ การคาดการณ์แนวโน้มใน 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงแนวทางการกระตุ้นและช่วยเหลือผู้ประกอบการ และการเตรียมพร้อมสำหรับการรีสตาร์ตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ไว้ดังนี้

ทำแผนเฉพาะกิจปี”64

“ดร.ทศพร” บอกว่า เรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตจากต่างประเทศ ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว โดยปี 2562 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมยังสามารถเติบโตได้ เมื่อเกิดโควิด-19 ธุรกิจ การค้า การส่งออก ท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหมด

รัฐบาลจึงทำการปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นสำหรับช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ และปี 2564 (จากแผนแม่บทปี 2561-2565) เพื่อรองรับวิกฤตโควิดโดยเฉพาะ โดยวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน หาโอกาสของไทยว่ายังมีจุดแข็งเรื่องอะไรบ้าง

อาทิ ด้านสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญหนึ่ง และสามารถบอกได้ว่าประเทศไทยเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย สำหรับการมาพักผ่อน ท่องเที่ยว การลงทุน รวมถึงการเข้ามาพักอาศัยระยะยาว รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นเซ็กเตอร์ที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเชื่อว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยยังทำให้คนทั่วโลกอยากเดินทางมาท่องเที่ยว

ทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว

“ในช่วงโควิดทั่วโลกอยากมาเมืองไทยด้วยหลายเหตุผล 1.อาจมาเพื่อดูแลและรักษาสุขภาพ 2.มาหาสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับการพักอาศัย อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ รูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวอาจจะเปลี่ยนไป เช่น มาพักนานขึ้น ซึ่งรัฐก็เตรียมการสำหรับรองรับตรงนี้อยู่”

โดยล่าสุดทาง ศบค.ได้กำหนดแนวทางเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศบ้างในรูปแบบที่มีเงื่อนไข หรือ special tourist visa หรือ STV สำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มพำนักระยะยาว

หรือลองสเตย์ เข้ามารูปแบบเดียวกับที่คนไทยกลับเข้าประเทศ โดยต้องทำการกักตัว 14 วันตามมาตรฐาน เพื่อให้คนไทยสบายใจในการต้อนรับต่างชาติด้วย

เปลี่ยนกลยุทธ์มุ่งจับ “ลองสเตย์”

ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังมองว่าในช่วงเวลานี้ประเทศเราควรต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการทำการตลาดท่องเที่ยวกันใหม่ จากในอดีตที่เน้นทำการตลาดดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า masstourism ปีละ 30-40 ล้านคน เปลี่ยนมาเป็นเซ็กเมนต์มากขึ้น มีจำนวนลดลงแต่อยู่นานขึ้น ใช้จ่ายเงินมากขึ้น หรือที่เรียกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ

ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางสำหรับโฟกัสนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์นั้น จะเป็นกลยุทธ์หลักสำหรับทำการตลาดต่างประเทศในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า 2564 เนื่องจากเชื่อว่า ประเทศไทยเรายังคงไม่เปิดน่านฟ้าเต็มที่ ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจดึงเข้ามานั้นหลัก ๆ จะยังคงเดินทางโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) และเครื่องบินส่วนตัว เป็นหลัก

เขย่า “อีลิทการ์ด” ดึงนักลงทุน

“ดร.ทศพร” บอกอีกว่า นอกจากนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์แล้ว ขณะนี้รัฐยังได้มอบหมายให้บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการ “ไทยแลนด์ อีลิทการ์ด” ไปทบทวนแพ็กเกจเดิมที่มีอยู่ทั้งหมดใหม่

โดยระบุให้ปรับเงื่อนไขให้จูงใจมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพและมีกำลังซื้อที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว พร้อมสิทธิพิเศษ ทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไป รวมถึงนักธุรกิจ นักลงทุน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้

ปี”64 วางรากฐานท่องเที่ยวใหม่

เมื่อถามว่ากลยุทธ์นี้สามารถชดเชยในเชิงปริมาณที่เสียหายไปจากโควิดได้แค่ไหน “ดร.ทศพร” ระบุว่า คงยังไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยโควิดก็จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทยใหม่ จากเดิมที่คนส่วนใหญ่มองว่าไทยเป็น cheap destination หรือเมืองท่องเที่ยวราคาถูก ได้ขยับขึ้นสู่ safe & clean destination หรือเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย

“แนวทางที่กำลังจะเปลี่ยนไปนี้จะสอดรับกับยุทธศาสตร์ในเรื่องของsustainable tourism หรือท่องเที่ยวยั่งยืนในระยะยาว”

พร้อมย้ำว่า ปี 2564 จะเป็นปีของการวางรากฐาน โครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศใหม่ในทุกด้าน เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายก็ต้องกลับมาวางยุทธศาสตร์กันใหม่อีกครั้งว่า ปี 2565-2566 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศจะเดินต่ออย่างไร

เร่ง “เที่ยวในประเทศ”

สำหรับตลาดในประเทศ หรือ “ไทยเที่ยวไทย” นั้น “ดร.ทศพร” บอกว่า ในระยะสั้นนี้ต้องเน้นไทยเที่ยวไทยก่อน ซึ่งก็เป็นความพยายามของทุกหน่วยงานที่จะช่วยกันกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยว โดยออกมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อาจจะยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

โดยขณะนี้ก็พยายามปรับแพ็กเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึงแพ็กเกจอื่น ๆเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมออกมาตรการใหม่ ๆมากระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ อาทิ กลุ่มเกษียณ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนทำงาน ให้ออกมาท่องเที่ยว

“ตอนนี้เราพยายามจะทำให้คนเข้าถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ง่ายขึ้นเช่น อาจออกมาในรูปแบบของ gift vocher หรือ cash card ขายในราคา 60% โดยรัฐจะสนับสนุน 40% เช่นเดียวกับที่เราจองโรงแรมในโครงการเราเที่ยวด้วยกันเป็นต้น”

คาดความเชื่อมั่นเริ่มฟื้นปี”65

ประธานบอร์ด ททท.ยังบอกด้วยว่า สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปี 2563 นี้ สภาพัฒน์ ได้คาดการณ์ไว้ ณ วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5.5 แสนล้านบาท และจากตลาดไทยเที่ยวไทย 5.9 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.14 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ราว 62% และในกรณีต่ำสุด น่าจะมีรายได้รวมราว 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ3.1 แสนล้านบาท และจากไทยเที่ยวไทย3.9 แสนล้านบาท

สำหรับปีหน้า 2564 นั้นได้ตั้งสมมุติฐานไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว สภาพโดยรวมจะเหมือนกับปีนี้ 2.เปิดประเทศได้บ้าง มีชาร์เตอร์ไฟลต์และเครื่องบินส่วนตัวให้บริการ จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 12.5 ล้านคนและ 3.กรณีที่ฟื้นตัวได้เร็วเปิดให้บริการเที่ยวบินทั่วไปได้บางส่วน อาจทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 20 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ คาดว่าสมมุติฐานที่ 2 น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด

โดยตัวแปรสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสำหรับปี 2563 และปี 2564 นี้ ยังคงเป็น “ไทยเที่ยวไทย” แม้ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้คนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเชื่อมั่นและเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้งในปี 2565 เป็นต้นไป