เขย่าเกณฑ์”เราเที่ยวด้วยกัน” ผุด”เวิร์คเคชั่น”ปลุกเที่ยวไทย

เราเที่ยวด้วยกัน

ททท.จ่อชงต่ออายุ-เขย่าเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ยาวถึงสิ้นปีคาดพร้อมชง สศช. ในอีก 2 สัปดาห์พร้อมผนึก 84 องค์กรใหญ่ดันโครงการ “เวิร์คเคชั่น ไทยแลนด์” กระตุ้นไทยเที่ยวไทยผ่านกลุ่มคอร์ปอเรตยันมาตรการเปิดประเทศแน่น เน้นรักษาสมดุลเศรษฐกิจ-สาธารณสุข

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.เตรียมสรุปรายละเอียดการปรับเงื่อนไขเพื่อปลดล็อกโครงการเราเที่ยวด้วยกันเข้าสู่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายใน 2 สัปดาห์นี้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีสิทธิเหลืออีกจำนวนมาก แม้จะมีผู้ใช้สิทธิในโครงการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องวันละ 10,000 ราย จึงต้องกลับมาประเมินกำลังซื้อและวิธีดำเนินการให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

โดยมีรายละเอียดที่จำเป็นต้องปรับปรุงและเพิ่มเติมหลายประการ อาทิ การปลดล็อกท่องเที่ยวในภูมิลำเนา การเปิดให้จองผ่านออฟไลน์เพื่อผู้สูงอายุ ฯลฯ พร้อมทั้งเสนอขยายเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันจนสิ้นสุดปี 2563 โดยยืนยันว่าการปลดล็อกเงื่อนไขในโครงการจะต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากงบฯโครงการเป็นงบประมาณจาก พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ททท.ยังได้เปิดตัวโครงการ “เวิร์คเคชั่น ไทยแลนด์ ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ (Workation Thailand)” สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศอีกทางหนึ่งผ่านกลุ่มองค์กรที่ยังคงมีกำลังซื้อ โดยผลักดันให้บริษัทออกเดินทางเพื่อจัดการประชุมสัมมนา ทำงานนอกสถานที่ พร้อมทั้งมอบการท่องเที่ยวเป็นรางวัล เนื่องจากยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังได้รับอานิสงส์ทางด้านการท่องเที่ยวน้อย และยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีบริษัทเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 84 ราย ทั้งหน่วยงาน องค์กร และบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง ททท.ได้เชิญชวนให้เดินทางท่องเที่ยวผ่านเส้นทางการท่องเที่ยว 5 ประเภท คือ ทำงานแบบสุขกาย สุขใจ ได้ตอบแทนสังคมรักษาสิ่งแวดล้อม, ท่องเที่ยวไปกับความสนใจพิเศษที่เลือกได้เองควบคู่กับการทำงาน, สร้างทีมเวิร์กด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน, พบปะหารือแบบพิเศษ และเสนอส่วนลดพิเศษพร้อมแพ็กเกจทัวร์

Advertisment

“คาดว่าโครงการจะมีส่วนในการผลักดันรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างน้อย 80-100 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียนกว่า 4-5 แสนล้านบาท ตามที่ททท.ได้ตั้งไว้”

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการเปิดประเทศอย่างจำกัดด้วย special tourist visa (STV) นั้นคาดว่าในเดือนตุลาคมนี้มีนักท่องเที่ยวประมาณ 200-300 คน ไม่เกิน 1,200 คนต่อเดือน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 (ศบศ.) ได้กำหนดไว้ และหากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงแรกเป็นไปได้ด้วยดี จึงจะพิจารณาการขยายเข้าสู่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าสู่การเปิดประเทศอย่างจำกัดต่อไป

“การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเป้าประสงค์ในการขยับเศรษฐกิจไทย แต่จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญและสร้างสมดุลไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข ด้วยสาเหตุที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยพึ่งพิงตลาดต่างประเทศอย่างสูง จึงต้องใช้กลยุทธ์ในรูปแบบปลาเร็ว เปิดประเทศทดลองนำร่องเพื่อสร้างความมั่นใจก่อน และหวังว่าในปี 2564 จะสามารถเปิดรับต่างชาติได้ในจำนวนที่มากขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรฐานด้านสาธารณสุข” นายยุทธศักดิ์กล่าว

และย้ำว่า ขอให้มั่นใจว่า ททท.ไม่ได้เร่งรีบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะในกระบวนการเปิดประเทศอย่างจำกัดนี้จะเน้นไปที่นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 28 วัน และจะไม่ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการกลับมาติดเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศอย่างแน่นอน

Advertisment

“กรณีผู้ประกอบการภูเก็ตร้องเรียนว่าความล่าช้าของการต่ออายุโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้อัตราการจองห้องพักเริ่มลดลงนั้น ผมมองว่าภูเก็ตเป็นพื้นที่อ่อนไหว การลดลงของอัตราการจองห้องพักอาจไม่ได้เกิดจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่อาจเป็นเพราะการตัดสินใจเปิดประเทศอย่างจำกัด หรือ STV ด้วย” นายยุทธศักดิ์กล่าว