“แอร์เอเชีย” ฝ่าโควิด ต่อยอดธุรกิจการบิน สู่เบอร์ 1 ดีลิเวอรี่เอเชีย

แอร์เอเชีย

ประกาศปิดดีลกันไปเรียบร้อยสำหรับกลุ่มแอร์เอเชียและ “Gojek (โกเจ็ก)” ประเทศไทย ตามแผนการเดินหน้าขยายการเติบโตของแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอป (AirAsia Super App) ให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน

“โทนี่ เฟอร์นันเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชียให้สัมภาษณ์ถึงการเทกโอเวอร์กิจการโกเจ็กในไทย รวมถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่าแอร์เอเชียเป็นธุรกิจที่ “อินคลูซีฟ” (inclusive) ซึ่งหมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึงได้

โทนี่ เฟอร์นันเดส
โทนี่ เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย

โดยแอร์เอเชียได้เลือกซื้อธุรกิจ “โกเจ็ก” ในประเทศไทย เนื่องจากชอบโมเดลของธุรกิจ แม้แอร์เอเชียนั้นจะมูลค่า “ใหญ่” กว่าโกเจ็กมาก แต่หากต้องเริ่มใหม่โดยไม่มีโกเจ็ก แอร์เอเชียต้องใช้เวลานานถึง 18 เดือน กว่าจะสามารถตั้งธุรกิจลักษณะนี้ได้

และถึงแม้ว่าโกเจ็กจะขึ้นชื้อว่าเป็นแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ส่งอาหาร แต่จะไม่ให้แพลตฟอร์มเปิดบริการฟู้ดดีลิเวอรี่เท่านั้น จะมุ่งเปิดธุรกิจอย่างอื่น เช่น การขนส่งสินค้าต่าง ๆ อย่างวัตถุดิบอาหารสด จากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเป็นบริษัทดีลิเวอรี่อันดับ 1 ของภูมิภาค และสามารถสร้างกำไรให้ได้ภายใน 1 ปี

“แม้ธุรกิจนี้จะมีคู่แข่งเยอะแต่เราไม่กลัว เนื่องจากคู่แข่งไม่มีข้อได้เปรียบเท่าแอร์เอเชียทางด้านการขนส่ง อย่างไรก็ดี เราพร้อมที่จะเป็นหมารองบ่อนท่ามกลางสมรภูมิฟู้ดดีลิเวอรี่ดุเดือดนี้”

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจะขยาย “ซูเปอร์แอป” ออกนอกกรุงเทพฯ ไปยังเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ด้วย เนื่องจากมีข้อมูลจากธุรกิจสายการบินของผู้โดยสารทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถเสนอบริการที่ตอบสนองกับตลาดท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าแจ้งเกิดธุรกิจส่งวัตถุดิบอาหารสดระหว่างประเทศภายในอีก 6-8 เดือนข้างหน้า สำหรับธุรกิจการส่งวัตถุดิบอาหารสดตอนนี้ได้เริ่มกิจการที่มาเลเซียและสิงคโปร์ เมื่อมาเปิดที่ไทยอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อจาก “แอร์เอเชีย เฟรช” (AirAsia Fresh) เป็น “แอร์เอเชีย โกรเซอร์” (AirAsia Grocer)

ส่วนบริการอื่น ๆ อย่างบริการเรียกรถ ซึ่งจะชื่อว่า “แอร์เอเชีย ไรด์ส” (AirAsia Rides) นั้น มีแผนจะเปิดให้ใช้บริการในอีก 2 เดือนข้างหน้า

การเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ “โทนี่” ระบุว่า ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะปกติเป็นคนไม่กลัวอยู่แล้ว โดยตอนนี้กำลังหารือการระดมทุน รวมถึงเตรียมร่วมงานกับสตาร์ตอัพฟินเทค และอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ

ส่วนฟากของธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินนั้น “โทนี่” ประเมินว่า เดือนตุลาคมนี้ไทยจะสามารถเปิดประเทศได้ตามกำหนด โดยหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนเกิน 20% ผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลง

หลังจากนั้นเมื่อฉีดวัคซีนประชาชนเกิน 50% ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ เหมือนกับทางตะวันตก ที่ถึงแม้จะยังพบผู้ติดเชื้อเยอะในบางประเทศ แต่อัตราการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว
ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้ ท่ามกลางการระบาดของโรค

พร้อมระบุว่า ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด ไม่รู้ว่าทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจเป็นมูลค่ามากแค่ไหน แต่ถือเป็นชัยชนะแล้วที่แอร์เอเชียสามารถรอดช่วง 16 เดือนที่มีโรคระบาดมาได้ แค่ได้เห็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินยังใส่ชุดสีแดง ดำเนินธุรกิจได้ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลย รวมถึงสามารถเปิดเส้นทางสายการบินเพิ่ม ขยายและพัฒนาธุรกิจในด้านอื่น ๆ ได้

โดยจุดประสงค์หลักของแอร์เอเชียคือ การนำชาวต่างชาติเข้าประเทศไทยให้ได้มากที่สุด เพราะชาวต่างชาติกำลังรอที่จะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยอย่างมาก ขณะที่คาดการณ์ว่าอีก 1 ปีข้างหน้า ช่วงสิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2565 อุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนก่อนช่วงยุคโรคเริ่มระบาดอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี “โทนี่” ยังได้เรียกร้องให้หยุดนำ “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัคซีน โดยทางเลือกที่ดีที่สุดตอนนี้คือ การนำเข้าวัคซีนให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นของบริษัทไหนก็ตาม

นอกจากนี้ ยังอยากให้มีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยหากสามารถออกนโยบาย เช่นหากฉีดวัคซีนครบโดส สามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องกักตัว รวมถึงนโยบายที่เป็นสากลทั่วโลกก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้นด้วย

พร้อมย้ำว่า หลังการควบคุมโรคระบาดได้และธุรกิจสายการบินกลับมาปกติ แต่ “แอร์เอเชีย” ก็จะยืนยันว่าจะยังมุ่งพัฒนา “แอร์เอเชียซูเปอร์แอป” ต่อไป พร้อมกับเปรียบเทียบว่าแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอปได้เป็นภรรยาคนที่ 2 สำหรับเขาไปแล้ว