“สกู๊ต” ทยอยเทกออฟ ชู A321neo รับแผนใหม่

สกู๊ต

ทยอยกลับมาทำการบินกันอีกครั้งสำหรับกลุ่มธุรกิจสายการบินที่ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ เป็นการกลับมาพร้อมกับกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนรูปแบบใหม่

ล่าสุด “สกู๊ต” สายการบินราคาประหยัดภายใต้การบริหารของกลุ่ม “สิงคโปร์แอร์ไลน์ส” ได้เริ่มกลับมาให้บริการในเส้นทางเดิมที่เคยให้บริการก่อนวิกฤตโควิด รวมทั้งทำการปรับเปลี่ยนฝูงบินให้สอดรับกับสถานการณ์และดีมานด์ของตลาดแล้ว

“แคมป์เบล วิลสัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่เจอสถานการณ์โควิดสายการบินสกู๊ตฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มทยอยกลับมาให้บริการในเส้นทางเดิมที่เคยให้บริการในช่วงก่อนโควิดเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะขยายเส้นทางบริการในลำดับถัดไป

โดยในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถกลับมาให้บริการใน 26 เส้นทางการบิน จากเดิมที่เคยให้บริการ 68 เส้นทาง (ต้นทางสิงคโปร์) จากปัจจุบันที่มีเครื่องบินอยู่ทั้งหมด 49 ลำ ประกอบด้วย Boeing 787s-20 ลำ และ A320-family-29 ลำ

พร้อมทั้งทำการปรับฝูงบินเพื่อให้ฝูงบินมีความทันสมัยมากขึ้น โดยเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “สกู๊ต” ได้เปิดให้บริการด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดแบบมีช่องทางเดินเดียว “แอร์บัส A321neo” พร้อมประเดิมเที่ยวบินแรกจากสิงคโปร์สู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ โดยเที่ยวบิน TR610 เมื่อ 28 มิถุนายน 2564

และในเดือนสิงหาคมนี้ สายการบินสกู๊ตจะเริ่มให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo ในเส้นทางบินสิงคโปร์-เซบู (ฟิลิปปินส์) และสิงคโปร์-โฮจิมินห์ (เวียดนาม) ซึ่งเครื่องบิน A321neo ลำใหม่ของสกู๊ตนี้สามารถรองรับผู้โดยสาร 236 ที่นั่งให้บริการในชั้นประหยัดเท่านั้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินสกู๊ต ระบุว่า เครื่องบินแอร์บัส A321neo มีพิสัยการบินสูงสุดถึง 2,620 ไมล์ทะเล หรือ 4,852 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าเครื่องบินรุ่น A320neo ประมาณ 270 ไมล์ทะเล ทำให้สามารถให้บริการในเส้นทางบินระยะสั้นถึงระยะกลางได้ด้วยเวลาบินสูงสุดถึง 6 ชั่วโมง ขณะที่เครื่องบินรุ่นก่อนอย่าง A320 ที่มีรอบการบินอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง ทำให้สามารถรองรับแผนการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินใหม่ได้มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ แอร์บัส A321neo ยังสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 236 ที่นั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรุ่น A320neo ถึง 50 ที่นั่ง และประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า ทำให้สายการบินสามารถบริหารความคุ้มทุน และควบคุมต้นทุนต่อหน่วยได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและความต้องการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

กล่าวคือ สามารถเลือกใช้เครื่องบินแอร์บัส A321neo แทนรุ่น A320 สำหรับเที่ยวบินที่ได้รับความนิยม หรือในช่วงวันที่มีดีมานด์สูง หรือช่วงเทศกาลขณะเดียวกันก็สามารถนำมาให้บริการแทนเครื่องบินโบอิ้ง 787 ที่มีขนาดใหญ่กว่าของสกู๊ตในช่วงที่ความต้องการในการเดินทางลดลง

พร้อมย้ำว่า การขยายฝูงบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของสกู๊ตในการยกระดับประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ผ่านฟังก์ชั่นของเครื่องบินลำใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น “แคมป์เบล วิลสัน” บอกว่า ประเทศไทยเป็นเส้นทางการบินที่สำคัญของสกู๊ตเสมอ และแม้ว่าในขณะนี้การเดินทางจะน้อยแต่ไม่ได้หมายความว่าความต้องการการเดินทางที่แท้จริงจะน้อยตามไปด้วยเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น อุตสาหกรรมการบินจะต้องฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วแน่นอน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

โดยปัจจุบัน “สกู๊ต” ให้บริการในเส้นทางสิงคโปร์-กรุงเทพฯ (สนามบินสุวรรณภูมิ) จำนวน 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พร้อมเตรียมการเพื่อที่จะกลับมาให้บริการในเส้นทางสิงคโปร์-เชียงใหม่ สิงคโปร์-หาดใหญ่ สิงคโปร์-กระบี่ และสิงคโปร์-กรุงเทพฯ-โตเกียว เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

ส่วนเส้นทางภูเก็ตนั้น “ซีอีโอ” สกู๊ต บอกว่า ในตอนนี้สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สซึ่งเป็นบริษัทแม่เล็งเห็นว่าการให้บริการโดยสิงคโปร์แอร์ไลน์สเหมาะสมที่สุดสำหรับเที่ยวบินสิงคโปร์-ภูเก็ต อย่างไรก็ตาม ในอนาคต “สกู๊ต” ก็อาจจะให้บริการในเส้นทางนี้เช่นเดียวกัน