จี้รื้อมาตรการ “แซนด์บอกซ์” 3 เดือนไม่ปัง-สทท.แนะปลดล็อกรับเฟส 2

แซนด์บอกซ์

“โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธาน สทท. เผย 3 เดือน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ไม่ปัง นักท่องเที่ยวหลุดเป้า ยันสำเร็จแค่ในเชิงสัญลักษณ์การเปิดเมืองเท่านั้น แนะรัฐปลดล็อกเงื่อนไข อุปสรรคใหญ่โดยด่วน เสนอใช้ SOP เหมือนกันทุกพื้นที่ ลดค่าตรวจ RT-PCR, ATK ราคาเดียวทั่วประเทศ เปิดขอ COE ผ่านบริษัททัวร์อีกช่องทางลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน พร้อมอัดแคมเปญแรงหนุนอีกแรง

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นำเสนอแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเฟส 2 อีกจำนวน 5 จังหวัด

โดย 4 จังหวัด คือ ชลบุรี (บางละมุง สัตหีบ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) และเชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม ดอยเต่า) ในวันที่ 1 ตุลาคม และกรุงเทพฯ ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รวมถึง 9 จังหวัด ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น

ที่สำคัญ การประกาศแผนเปิดเมืองอย่างชัดเจนนั้นมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลก รวมถึงมีผลต่อการวางแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

สำเร็จ (แค่) เชิงสัญลักษณ์

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์และสมุย รวมถึงภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 7+7 ในช่วง 2 เดือนกว่า หรือเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมานั้น (ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564) ประสบความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

โดยพบว่าตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564-15 กันยายน 2564 หรือระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จำนวน 32,480 คน เช่นเดียวกับในช่วง 15 กรกฎาคม 2564-15 กันยายน 2564 หรือระยะเวลา 2 เดือน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางตามนโยบาย “สมุยพลัส” จำนวน 711 คน (ไม่รวม Phuket Extension)

“ในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์นั้น นอกจากเป้าหมายว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยวฯยังตั้งเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวรวมที่ประมาณ 1-1.2 แสนคน หรือเฉลี่ยประมาณ 3-4 แสนคนต่อเดือน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น แต่เรายังได้นักท่องเที่ยวไม่ถึง 4 หมื่นคน” นายชำนาญกล่าว

3 ปัจจัยฉุดตัวเลขหลุดเป้า

นายชำนาญกล่าวว่า ในภาคเอกชนมองว่าสาเหตุที่ทำให้การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ประสบความสำเร็จในเชิงปริมาณนั้นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1.ตัวเลขการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดภายในประเทศที่ยังอยู่ในอัตราที่สูง ทำให้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นที่ดีได้ 2.การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค และ 3.ไม่มีแคมเปญการตลาดสนับสนุน

โดยในส่วนของการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคนั้น ได้แก่ การกำหนดมาตรการการเข้าเมืองที่เข้มงวดและแตกต่างกันของแต่ละจังหวัด สร้างความสับสนให้นักท่องเที่ยวทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย หรือข้อจำกัดของการขอใบรับรองการเข้าเมือง (COE) ที่ต้องมีเอกสารการจองและยืนยันการชำระเงินค่าโรงแรม ห้องพัก ที่เป็น SHA+ ผ่านระบบ SHABA (SHA Plus Booking Authentication System) และการตรวจ RT-PCR เป็นต้น

ปลดล็อกอุปสรรคปัญหา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลดล็อกประเด็นหรือมาตรการที่เป็นปัจจัยฉุดเป้าตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนแรก สทท.ได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในประเด็นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำการตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยให้รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปลดล็อกประเด็นที่เป็นอุปสรรคหลัก

ได้แก่ 1.เสนอให้ใช้ SOP เหมือนกันทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติยังสับสนในรายละเอียดของ SOP ของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ภูเก็ตมีมาตรการอย่างหนึ่ง สมุยใช้มาตรการอีกอย่าง นอกจากนี้ เท่าที่ได้รับข้อมูล พัทยา หัวหิน ชะอำ เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ก็จะใช้มาตรการอีกอย่างหนึ่ง

2.เสนอให้ใช้ชื่อ “แซนด์บอกซ์” ต่อท้าย เหมือนกันในทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ สมุยแซนด์บอกซ์ พัทยาแซนด์บอกซ์ หัวหินแซนด์บอกซ์ เชียงใหม่แซนด์บอกซ์ กรุงเทพฯแซนด์บอกซ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

และปรับลดค่าตรวจ RT-PCR และ ATK Test โดยกำหนดให้เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมทั้งเสนอให้ลดจำนวนการทำ RT-PCR เหลือแค่ครั้ง 1 (ณ สนามบิน ก่อนเข้าโรงแรมที่พัก) ส่วนการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 และครั้งที่ 3 ในวันที่ 13-14 นั้นให้ใช้ ATK Test แทน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ลดวันกักตัว-อัดแคมเปญกระตุ้น

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้เปลี่ยนระบบการขอใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศ หรือ COE โดยไม่จำกัดเพียงแค่การจองโรงแรมผ่านระบบ SHABA เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น แต่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถทำการจองโรงแรมที่พักผ่านบริษัทนำเที่ยวได้อีกช่องทางด้วย

รวมถึงลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 7 วัน โดยใช้ภูเก็ตเป็นฮับส่งต่อนักท่องเที่ยวในลักษณะ 7+7 กล่าวคือ นักท่องเที่ยวที่อยู่ภูเก็ตครบ 7 วันแล้วสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองอื่น ๆ ต่อได้ ที่สำคัญ รัฐบาลต้องมีการวางแผนทำแคมเปญแรง ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“เราอยู่ในธุรกิจนี้มา เรารู้ว่าที่ผ่านมานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเดินทางเป็นกรุ๊ป หรือเดินทางแบบ FIT จะนิยมให้บริษัทนำเที่ยวบริหารจัดการแผนการเดินทางให้ ทั้งจองโรงแรม จองตั๋วเดินทาง รวมถึงขอวีซ่า ฯลฯ ดังนั้น การอนุญาตให้บริษัทนำเที่ยว จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติง่ายขึ้น” นายชำนาญกล่าว

และย้ำว่า วันนี้บริษัทนำเที่ยวยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการช่วยให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงเป็นตัวกลางในการกระจายรายได้สู่ซัพพลายเชนต่าง ๆ ได้ในที่สุดเช่นกัน