Thailand (ไม่) Pass คาดนักท่องเที่ยวตกค้าง 2 แสนคน

Thailand Pass

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า หลังจากประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 (นำร่อง 17 จังหวัดสีฟ้า) จะส่งผลให้เดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเดือนละ 3 แสนคน หรือประมาณ 6 แสนคนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้

และหากประสบความสำเร็จและเป็นไปตามเป้าหมาย คาดหวังว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 10 ล้านคน

เข้าสุวรรณภูมิวันละ 2 พันคน

ทั้งนี้ จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ล่าสุด ระบุว่าระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรวม 12,978 คน โดยในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่เข้ามาแบบไม่กักตัว, แบบแซนด์บอกซ์ และแบบกักตัว (quarantine) ในโรงแรม AQ และ ASQ

หรือเฉลี่ยประมาณ 2,200-2,500 คนต่อวัน หากเป็นไปในทิศทางนี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 70,000-75,000 คนต่อเดือนเท่านั้น

Thailand Pass ไม่ Pass

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาประเทศไทยค่อนข้างสูง โดยพบว่าเพียงแค่ 5 วันแรกที่เปิดระบบ Thailand Pass ให้ชาวต่างชาติและชาวไทยในต่างประเทศที่ประสงค์เดินทางเข้าไทย มีผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนรวมกว่า 76,000 คน ขณะที่เดินทางเข้ามาได้จริงเพียงแค่ 12,000-13,000 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากว่าระบบการลงทะเบียนของ Thailand Pass มีข้อจำกัดค่อนข้างมากในหลาย ๆ ด้าน

พร้อมอธิบายว่า ระบบ Thailand Pass ซึ่งเป็นเว็บเบสหลักในระบบเปิดประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.นั้นไม่ได้พัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ในการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ๆ

5 วัน นักท่องเที่ยวตกค้าง 5.7 หมื่นคน

ขณะที่กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าตรวจเอกสาร เช่น บัตรวัคซีน ใบตรวจโรคโควิด ฯลฯ ของนักท่องเที่ยวด้วยมือ ทำให้เกิดปัญหาการตกค้างของเอกสารที่สมัครเข้าผ่านระบบ Thailand Pass เพราะเดิมคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ระดับประมาณ 400 คนต่อวันเหมือนภูเก็ตแซนด์บอกซ์

แต่ในความเป็นจริงพบว่าดีมานด์ค่อนข้างสูง โดยในช่วง 5 วันแรก (1-5 พฤศจิกายน 2564) ของการเปิดระบบมีผู้ยื่นคำขอลงทะเบียน 70,000-80,000 คน มีผู้ที่ได้รับอนุมัติแล้ว 19,000-20,000 คน หรือประมาณ 25% ของผู้สมัครใช้งาน ทำให้เกิดปัญหาตกค้างสะสมในระบบ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 57,044 คน

และหากตัวเลขสะสมอยู่ที่ระดับนี้ คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีผู้ใช้บริการกว่า 260,000 คน และมีคนตกค้างในระบบประมาณ 200,000 คน

แค่ตรวจเอกสาร 2 ชม.ครึ่ง

ไม่เพียงแต่ปัญหาการตกค้างในระบบเท่านั้น เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยยังเจอปัญหาการรอคอยเพื่อตรวจเอกสาร COE (certificate of entry) และเอกสารสุขภาพ (health care registering system : HCRS) โดยกรมควบคุมโรคติดต่อ

จุดบริการดังกล่าวนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะใช้ระยะเวลาในการลงทะเบียนประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง-2 ชั่วโมงครึ่ง ขึ้นอยู่กับปริมาณของนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการรอคอย และไม่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวแบบกลุ่มคณะ หรือกรุ๊ปทัวร์

ระบบอ่านข้อมูลไม่รองรับ

นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้เครื่องมือ public key infrastructure (PKI) จากระบบ digital COVID certificate (DCC) ซึ่งเป็นตัวอ่านภาพประวัติระเบียนเวช ทั้งประวัติการฉีดวัคซีน (vaccine certificate) ประวัติการตรวจโรคโควิด-19 (COVID test certificate) และระดับภูมิคุ้มกัน (immunity level) ซึ่งผู้พัฒนาระบบแจ้งว่าได้รับ PKI แล้วจาก 30 ประเทศนั้นไม่สามารถใช้ได้จริง

เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีสนธิสัญญาในการใช้ EU digital COVID (EU DCC) ไทยจึงไม่มีสิทธิที่จะใช้อย่างเป็นทางการ หากใช้งานก็ไม่สามารถบันทึกได้ ส่งต่อได้ หรือแชร์ต่อได้ เนื่องจากจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมาย GDPR

จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา

สอดรับกับความเห็นของผู้คร่ำหวอดในธุรกิจท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งที่ระบุว่า หลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแบบไม่กักตัวมาได้กว่า 1 สัปดาห์ พบว่ากระบวนการขั้นตอนเดินทางเข้าประเทศไทยยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานานพอสมควร

หลายกรณีที่เกิดขึ้นเพราะระบบของ Thailand Pass ไม่เอื้อ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากต้องเลื่อนตั๋วโดยสารเครื่องบิน เลื่อนการจองโรงแรมที่พัก รวมถึงต้องจ่ายเงินเพื่อทำ RT-PCR test ซ้ำถึง 2-3 ครั้ง

ดังนั้น จึงมองว่าระบบ Thailand Pass ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขทางเทคนิคอีกมาก เพราะเป็นระบบที่ยังไม่ผ่านการทดสอบ user aided test (UAT) ทำให้การให้บริการมีข้อบกพร่องและผิดพลาดบ้าง เช่น ไม่สามารถยืนยันอัตลักษณ์บุคคลกับเอกสาร vaccine and COVID test certificate การตรวจ user ID กับภาพถ่าย เป็นต้น

“ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนี้รัฐบาลควรต้องมองหาระบบที่สามารถตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีน หรือ vaccine certificate และประวัติการตรวจโรคโควิด-19 หรือ COVID test certificate ได้ และหากเป็นไปได้ควรต้องตรวจเอกสารทั้งหมดตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดขั้นตอนการตรวจที่สนามบินของไทย”

“กต.-สพร-คร.” เร่งปรับระบบ

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้วว่าผู้ลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass บางรายไม่ได้รับ QR code หรือได้รับล่าช้า โดยล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงระบบให้สามารถบริการผู้เดินทางได้สะดวกขึ้น

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และกรมควบคุมโรคก็ได้ร่วมกันเพิ่มประสิทธิภาพระบบ Thailand Pass ให้สามารถบริการผู้เดินทางได้สะดวกขึ้นแล้วเช่นกัน

อาทิ เพิ่มฟังก์ชั่นให้ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนได้ เร่งประสานงานเพิ่มรายชื่อประเทศที่อ่าน digital vaccine certificate แบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ในการตรวจเอกสาร (ปัจจุบันมี 30 ประเทศ) ฯลฯ

รวมถึงกำหนดให้อนุมัติ QR code ได้ภายใน 3 วัน (จากเดิมระบบกำหนดให้รอผลการตรวจสอบใบวัคซีนภายใน 7 วัน)

ด้าน “ธานี แสงรัตน์” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า สำหรับผู้มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินขอให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในเมืองที่อาศัยอยู่

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประสานงานตลอดเวลาในการรับข้อขัดข้อง
เทคนิคต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงระบบให้สามารถบริการผู้เดินทางได้สะดวกขึ้น

ปรากฏการณ์ “เปิดประเทศ” ท่ามกลางความไม่พร้อมของระบบนี้ ไม่เพียงแค่ปัญหาเรื่องความสะดวกเท่านั้น แต่หลายประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ โดยเฉพาะระบบการตรวจเอกสารที่ยังทำด้วยมือ ซึ่งไม่สามารถยืนยันตรวจสอบเอกสารต้นทางได้นั้น นับเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดอีกครั้งแน่ ๆ