ซัดระบบเปิดประเทศ “ล้มเหลว” แผนเลิกกักตัวล่ม-แนะดันภูเก็ตจัมปิ้ง

เปิดประเทศ

คนท่องเที่ยวซัดระบบเปิดประเทศล้มเหลว แอปพลิเคชั่นเข้าประเทศทุกตัวมีปัญหา ทุบแผน reopen tourism เข้าไทยไม่กักตัวล่ม วอนรัฐยอมรับความจริง-เร่งแก้ไข ส.โรงแรมเผยความไม่ชัดเจนหลัง 4 ม.ค. 65 กระทบยอดจองห้องพักล่วงหน้ายาวถึงเดือนกุมภา’65 แล้ว โอดหนี้พุ่ง-การจ้างงานสะดุดอีกรอบ สทท.แนะรัฐเร่งโปรโมต “ภูเก็ต” เป็นฮับส่งต่อนักท่องเที่ยวจังหวัดอื่น

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ประกาศให้ทำการปิดระบบการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่าน Thailand Pass สำหรับการเดินทางในรูปแบบ test & go และ sandbox (ยกเว้นภูเก็ต) เป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564-4 มกราคม 2565 นั้นสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและโรงแรมอย่างหนักอีกครั้ง

ยกเลิกเดินทางแล้ว 20-30%

โดยในช่วงตั้งแต่ 20-24 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวที่ทำการยกเลิกการเดินทางและยกเลิกการจองห้องพักในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น ไปแล้วจำนวนมาก หรือเฉลี่ยประมาณ 20-30% รวมถึงลูกค้าที่ลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass และได้ QR code ในระบบ test & go แล้ว โดยให้เหตุผลว่ายกเลิกการเดินทางเพื่อประเมินมาตรการของภาครัฐและสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยด้วย

“กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ลงทะเบียนและได้ QR code แล้วถือว่าเป็นกลุ่มที่ตั้งใจเดินทาง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ทำการยกเลิก ดังนั้นไม่ต้องคาดหวังเรื่องจองล่วงหน้า เพราะไม่น่าจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาลงทะเบียนเข้าไทยในระบบ AQ หรือ sandbox เพราะแค่พูดถึงว่าต้องมีการกักตัวก็ไม่มีใครอยากเดินทางแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ซัดระบบ “ล้มเหลว”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจเข้าใจว่าการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเป็นประเด็นสำคัญ แต่ภาครัฐควรพิจารณาให้รอบด้านและสร้างผลกระทบในเชิงธุรกิจให้น้อยที่สุดด้วย เพราะตลอดช่วง 5-6 เดือนที่รัฐบาลพยายามหาช่องทางและรูปแบบสำหรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ทุกพื้นที่ก็มีมาตรการในการเปิดรับที่รัดกุม และมีแผนเผชิญเหตุสำหรับรับมือการแพร่ระบาดอย่างดี เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ล้วนเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของระบบและเครื่องมือที่นำมาใช้รองรับการเปิดประเทศของหน่วยงานภาครัฐโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียน Thailand Pass ที่ไม่สามารถรองรับการลงทะเบียนจำนวนมาก ระบบการตรวจสอบเอกสารไม่สามารถยืนยันอัตลักษณ์บุคคลกับเอกสาร หรือ vaccine and COVID test certificate

รวมถึงไม่มีระบบการติดตามผลการตรวจ ATK ซึ่งเป็นการตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ตามที่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) ที่มีปัญหาเรื่องของการดาวน์โหลดติดตั้ง และไม่สามารถบังคับให้นักท่องเที่ยวติดตั้งได้ ทำให้ติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้ตามแผนเผชิญเหตุ

“ระบบและแอปพลิเคชั่นทั้งหมดที่นำมารองรับการเปิดประเทศนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. รับรู้และได้พยายามดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงมาตลอด แต่ก็ยังแก้ไขได้ไม่ทั้งหมด ซึ่งจุดนี้รัฐบาลควรยอมรับความจริงและเร่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปล่อยให้เดินต่อแล้วเกิดปัญหาจนต้องประกาศปิดระบบเข้าประเทศเป็นการชั่วคราวแบบนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ยกเลิกห้องพักยันกุมภา’65

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่ารัฐบาลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะชี้แจงถึงกรณีการปิดระบบการลงทะเบียน Thailand Pass ว่าปิดรับเฉพาะคนใหม่เท่านั้น

ส่วนคนที่ลงทะเบียนและได้ QR code แล้ว ยังสามารถเดินทางได้ตามเงื่อนไขเดิม แต่ด้วยนโยบายในระยะยาวที่ยังไม่ชัดเจนว่า หลังจาก 4 มกราคม 2565 แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทำให้ส่งผลกระทบถึงยอดการจองห้องพักในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565

“นับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯซึ่งเป็นตลาดหลักนั้น นักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางและบอกเลิกการจองห้องพักในอัตราที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เราเรียกว่าพีกซีซั่นระหว่าง 25 ธันวาคม 2564-10 มกราคม 2565 เพราะส่วนใหญ่ลงทะเบียนเข้ามาในระบบ test & go” นางมาริสากล่าว

หนี้พุ่ง-การจ้างงานชะงัก

นางมาริสากล่าวด้วยว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ผู้ประกอบการโรงแรมต่าง ๆ ที่ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากไม่สามารถสร้างรายได้จากช่วงไฮซีซั่นของปีนี้ และแน่นอนว่าผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังประเมินว่าจะส่งผลถึงการชะลอการจ้างงานในภาคธุรกิจโรงแรมด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการต้องรอประเมินสถานการณ์กันใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ว่านักท่องเที่ยวตลาดเอเชียจะกลับมาหรือไม่ และทดแทนกับตลาดยุโรป อเมริกา ที่หายไปได้แค่ไหน

แนะใช้ภูเก็ตเป็นฮับส่งต่อ นทท.

ด้านนายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของรัฐที่ยังคงการเข้าประเทศในรูปแบบ “แซนด์บอกซ์” ที่จังหวัดภูเก็ตไว้นั้น รัฐบาลควรทำการประชาสัมพันธ์และผลักดันนโยบาย “Phuket Jumping” เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นฮับรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วส่งต่อไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ หลังจากที่อยู่ภูเก็ตครบ 7 วันแล้ว

“เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าโครงสร้างของจังหวัดภูเก็ตนั้นเป็นพื้นที่ที่ควบคุมดูแลการเคลื่อนไหวของนักท่องเที่ยวได้ดีที่สุด ดังนั้นเพื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รัฐบาลควรส่งเสริมให้ใช้ภูเก็ตเป็นฮับอย่างชัดเจน” นายสุรวัชกล่าว