“อิมแพ็ค” ฟื้นแผนลงทุน เอ็กซิบิชั่นฮอลล์ 6 พันล้านต่อยอด “ไมซ์”

สัมภาษณ์

กว่า 20 ปีที่ศูนย์การแสดงสินค้าและประชุมสัมมนา “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” พยายามพัฒนาและสร้างบรรยากาศให้พื้นที่บริเวณ “เมืองทองธานี” เป็นมากกว่าศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ด้วยการเติมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ที่ตอบโจทย์เรื่องความสุข สนุกสนาน และการพักผอนหย่อนใจเพิ่มมากขึ้น

โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ หรือ MICE Attraction ของประเทศ และก้าวเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ หรือ Tourist Destination สำหรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มไมซ์และครอบครัวในอนาคต

ฟื้นลงทุน “เอ็กซิบิชั่นฮอลล์”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “พอลล์ กาญจนพาสน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ในเครือบางกอกแลนด์ ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถึงแนวทางการปรับตัว และทิศทางของธุรกิจไมซ์ รวมถึงแผนการลงทุนสำหรับรองรับความเป็น MICE Destination ในอนาคต ไว้ดังนี้

“พอลล์” บอกว่า หลังจากธุรกิจประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทได้รีวิวแผนการลงทุนเดิมที่ชะลอไปอีกครั้ง โดยเตรียมฟื้นโครงการลงทุนในธุรกิจไมซ์ เอ็กซิบิชั่น หรือลงทุนเพิ่มพื้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการจัดประชุมสัมมนา (Exhibition Hall) อีก 1 เท่าตัว บริเวณที่ดินฝั่งทะเลสาบ เมืองทองธานี ติดกับพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ที่คาดว่าน่าจะเปิดใช้บริการได้ประมาณปี 2567

โครงการดังกล่าวนี้จะเป็นอาคารขนาด 2 ชั้น พื้นที่โดยรวมไม่ต่ำกว่า 200,000 ตารางเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุนรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท หากสถานการณ์โดยรวมเอื้อสำหรับการลงทุนขยายงานน่าจะลงเสาเข็มได้ในช่วงปลายปี 2565 นี้ และเสร็จในช่วงเวลาใกล้เคียงกับแผนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี

จ่อเพิ่ม “รร.-รีเทล-ออฟฟิศ”

นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มแม็กเนตอื่น ๆ บนที่ดินกว่า 600 ไร่บริเวณริมทะเลสาบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อยู่ในแผนงานเดิมอยู่แล้ว อาทิ ธุรกิจรีเทล ช็อปปิ้งมอลล์ โรงแรม อาคารสำนักงานให้เช่า ร้านอาหาร ฯลฯ

“ที่ผ่านมาอิมแพ็คบริหารงานภายใต้มาตรฐานสากล แต่ละปีได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานกว่า 1,000 งาน รองรับผู้มาร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของธุรกิจไมซ์ในอนาคต เราจึงมีแผนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนการพัฒนาพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้เกิดการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ตลอดทั้งปี”

“พอลล์” บอกด้วยว่า ในส่วนของโรงแรมนั้นมีแผนลงทุนเพื่อรีโนเวตโรงแรมอิสตินเก่าอีกครั้งเมื่อเห็นสัญญาณโควิดปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้พัฒนาพื้นที่บางส่วนเป็นโรงเรียนสอนทำอาหาร LENOTRE (เลอโนท) แฟรนไชส์จากฝรั่งเศสแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการกลับมาอีกครั้งของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคต จากปัจจุบันที่มีโรงแรมอยู่แล้ว 2 แห่ง รวมเกือบ 1,000 ห้อง คือ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค และโรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค

“อีเวนต์” ทยอยฟื้นตัว

ในส่วนของธุรกิจในฟากการจัดงานแสดงสินค้า และประชุม สัมมนานั้น “พอลล์” บอกว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565) มียอดจองพื้นที่จัดงานสำหรับปีนี้แล้วทั้งสิ้น 304 งาน แบ่งเป็น ประชุม สัมมนา 57 งาน เอ็กซิบิชั่น (public) 58 งาน เอ็กซิบิชั่น (trade) 15 งาน งานปาร์ตี้ 18 งาน เวดดิ้ง 46 งาน คอนเสิร์ตและแฟมิลี่ โชว์ 53 งาน และอื่น ๆ 57 งาน

ยกตัวอย่างเช่น เดือนมีนาคม 2565 งาน Amway NC/NLC 2022, มอเตอร์โชว์ 2022, Print Tech & Signge Expo 2022 (ครั้งที่ 9), Garment Screen & Embroidery Expo 2022 (ครั้งที่ 5), งานสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ประจำปี 2565 เดือนเมษายน งาน Architect 2022 เดือนพฤษภาคม งาน Thomas-Uber Cup Final 2022, Money Expo 2022

เดือนกรกฎาคม งาน Thailand Coffee Feat 2022 เดือนสิงหาคมงาน Unicity’s Global Leadership and Innovation Conference 2022 เดือนพฤศจิกายน งาน Digitech Asia 2022 เดือนธันวาคม งาน Thailand International Motor Expo 2022 เป็นต้น

“ตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้ว ยอดบุ๊กกิ้งจัดงานที่เข้ามาตอนนี้สูงกว่างานที่จัดของปี 2564 ทั้งปีแล้ว โดยปีที่แล้วเราได้จัดงานเพียง 296 งาน จำนวนงานลดลงจากปี 2563 ประมาณ 54%”

ปี’64 เจ็บหนักสุดรอบกว่า 23 ปี

“พอลล์” ให้ข้อมูลด้วยว่า ปี 2564 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ธุรกิจได้รับผลกระทบหนักที่สุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 23 ปี โดยรอบบัญชี 2563/2564 (เมษายน 2563-มีนาคม 2564) บริษัทมีรายได้รวม 1,103 ล้านบาท ลดลงจากรอบบัญชี 2562-2563 (เมษายน 2562-มีนาคม 2563) ที่มีรายได้รวม 2,294.8 ล้านบาท และรอบบัญชี 2561/2562 (เมษายน 2561-มีนาคม 2562) ที่มีรายได้รวม 2,445.3 ล้านบาท

โดยมีจำนวนงานทั้งสิ้น 296 งาน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 644 งาน หรือลดลงประมาณ 54% หรือมีสัดส่วนเพียงแค่ประมาณ 26% ของปี 2562 ที่มีจำนวนงานรวม 1,107 งาน ทั้งนี้ เนื่องจากงานประเภท incentive, international convention, คอนเสิร์ตต่างประเทศ ถูกยกเลิกการจัดงานทั้งหมด ขณะที่งานประเภท exhibition (trade) ถูกเลื่อนการจัดงานทั้งหมดเช่นกัน

ปี’66 ธุรกิจกลับมาได้เท่าปี’62

อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2565 นี้ เชื่อว่าธุรกิจจะเริ่มทยอยกลับมา และเริ่มเห็นงานแสดงสินค้าที่เป็นนานาชาติบ้างในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยงานเอ็กซิบิชั่นนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับปีนี้ยังคงเป็นงาน THAIFEX-Anuga Asia 2022

นอกจากนี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ยังเตรียมพร้อมสำหรับรองรับการจัดประชุมเอเปก ปี 2565 (APEC 2020) ซึ่งน่าจะช่วยทำให้บรรยากาศของธุรกิจประชุมสัมมนาระดับนานาชาติกลับมาคึกคักอีกครั้ง

พร้อมคาดการณ์ด้วยว่า หากเทียบตัวเลขกับปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด ปีนี้ “อิมแพ็ค” น่าจะมีรายได้รวมกลับมาได้ประมาณ 70% และมั่นใจว่าธุรกิจจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ภายในปี 2566 นี้