“ไลอ้อนแอร์” รุกบินต่างประเทศ จ่อปักธงฮับ “สุวรรณภูมิ”

เครื่องบินไทยไลอ้อนแอร์กำลังลงจอด
เครื่องบินไทยไลอ้อนแอร์ โบอิ้ง 737-900ER ทะเบียน HS-LTK

“ไทยไลอ้อนแอร์” เข้มควบคุมต้นทุน มุ่งบริหารบนพื้นฐานสถานการณ์จริง พร้อมเปิดให้บริการเส้นทางบินทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ เตรียมปักธงฮับบิน “สุวรรณภูมิ” สู่จาการ์ตา-ญี่ปุ่น พร้อมฟื้นเส้นทางบินต่างประเทศฮับดอนเมืองสู่สิงคโปร์ มุมไบอีกครั้ง ตั้งเป้าปี’65 อัตราบรรทุกแตะ 80%

นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการบินพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ร่วมกันเปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า ไทยไลอ้อนแอร์ตั้งเป้าควบคุมต้นทุนให้ได้ดีที่สุด โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานสถานการณ์จริง และพร้อมเปิดเส้นทางบินหรือเพิ่มความถี่เที่ยวบินอย่างระมัดระวัง รวมถึงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องไม่ให้ขาดทุน

โดยในส่วนของตลาดภายในประเทศปัจจุบัน สายการบินได้เปิดให้บริการครบทุกจุดบินแล้ว ขณะที่ความถี่อาจจะยังไม่ได้เท่าเดิมในทุกเส้นทาง และเตรียมเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-น่าน ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ให้บริการวันละ 2 เที่ยวบิน ในวันพุธ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ โดยเชื่อว่าจังหวัดน่านยังมีดีมานด์สูง แม้ว่าปัจจุบันจะมีสายการบินที่ให้บริการบินตรงสู่จังหวัดน่านอยู่ทั้งหมด 3 ราย

สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้น สายการบินมีแผนเปิดให้บริการเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 330 นีโอ ซึ่งปัจจุบันประจำการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเส้นทางดังกล่าว ถือเป็นการทดลองเปิดเส้นทางเชื่อมไทยและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนจะกลับมาให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-สิงคโปร์, เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-มุมไบ และอาจมีการพิจารณาเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-นิวเดลี (อินเดีย) ในลำดับต่อไป

Advertisment

“ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-ญี่ปุ่นนั้นอาจพิจารณากลับมาให้บริการเมื่อมาตรการประเทศปลายทางเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 โดยอาจใช้เครื่องบิน Airbus A330 ซึ่งจะให้บริการจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” นางนันทพรกล่าว

อย่างไรก็ตาม แผนการกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้นต้องขึ้นอยู่กับมาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการจำกัดการเข้าประเทศของประเทศปลายทางเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

สำหรับปี 2565 นี้ ไทยไลอ้อนแอร์ตั้งเป้ามีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 75-80% จากปี 2564 ที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ราว 70-75% และหากปีนี้ไม่มีปัจจัยลบอื่น ๆ คาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้ อาจมีจำนวนผู้โดยสารในระดับ 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

“ในไตรมาส 1/2565 เราตั้งเป้ามีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 80% โดยเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเรามีความถี่ของเที่ยวบินภายในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 400 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ราว 80% ส่วนในเดือนมีนาคมมียอดสำรองที่นั่งล่วงหน้าราว 30-40%”

Advertisment

สำหรับ cargo ของไทยไลอ้อนแอร์นั้นที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับที่ดี หลังการแพร่ระบาดโควิด มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 20-30% ซึ่งปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์จะให้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์

นางนันทพรกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินอยู่ทั้งหมด 11 ลำ มีอัตราใช้งานเครื่องบินเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 นี้อาจมีการเพิ่มจำนวนฝูงบินเพื่อตอบรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

“น้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจการบิน หรือประมาณ 30% ของต้นทุนทั้งหมด จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ เราตั้งรับด้วยการพยายามเพิ่มจำนวนผู้โดยสารด้วยวิธีต่าง ๆ และอาจใช้วิธีรวมเที่ยวบิน ซึ่งต้องมีการวางแผนล่วงหน้า” นางนันทพรกล่าว