“แอร์ไลน์” รับลูก รุกบินเมืองรอง-ข้ามภาค

แฟ้มภาพ

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง ถือเป็น “การบ้าน” สำคัญที่ต้องทำช่วยกันอีกมาก ไทยแอร์เอเชียต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระจายจีดีพีการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่นบ้าง ไม่ให้กระจุกเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ อย่างพัทยา ภูเก็ต กระบี่ สมุย และเชียงใหม่ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว ทั้งยังมีรายได้รวมกันมากกว่า 50% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

โดยไทยแอร์เอเชียมองว่าหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะช่วยผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรองให้เห็นผล คือ “สนามบิน” สนามบินไหนมีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องของขนาดรันเวย์ หากรองรับเครื่องบิน แอร์บัส A320 บินขึ้น-ลงได้ ไทยแอร์เอเชียก็ยินดีเปิดเส้นทางบินเพื่อให้บริการ

“เมืองรองที่ไทยแอร์เอเชียมองว่ามีศักยภาพมาก แต่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องสนามบิน คือ แม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย-เมียนมา มีความต้องการบินเชิงธุรกิจ ลูกค้าจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เดินทางกันจำนวนมาก นอกจากนี้ แม่ฮ่องสอนก็มีศักยภาพมากเช่นกัน เป็นเมืองท่องเที่ยวในภาคเหนือที่สวยมาก แต่สนามบินรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ไม่ได้ อื่น ๆ ก็มีพะเยา และแพร่”

และเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชียได้เปิดตัวเส้นทางบินในประเทศใหม่ “กรุงเทพฯ-ระนอง” ซึ่งเคยเปิดครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ให้บริการได้แค่ 1 ปีก็ต้องปิดไป เพราะมีผู้โดยสารน้อย แต่ตอนนี้กลับมาเปิดใหม่ เพราะการท่องเที่ยวของเมืองระนองโตพอแล้ว จุดเด่นคือมีบ่อน้ำแร่ (ออนเซ็น) ใน 2 โรงแรมใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเล สามารถนั่งเรือข้ามไปดำน้ำในทะเลฝั่งเมียนมาได้ โดยเริ่มบิน 16 กุมภาพันธ์ 2561 คาดอัตราขนส่งผู้โดยสาร ในช่วง 6 เดือนแรก อยู่ที่ 82-83% มั่นใจในตลาดระนองมาก เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการเรือโดยสาร ร้านดำน้ำ และอัตราเข้าพักของโรงแรมในระนองก็ดีขึ้นมากด้วย

“ระนองมีความพร้อมแล้ว เหมือนอย่างตลาดขอนแก่นที่ยอดใช้บริการเที่ยวบินก็ดีมาก ๆ จากที่เคยเปิด ๆ ปิด ๆ 3 รอบ รอบล่าสุดตลาดเสถียรมากขึ้น เปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น รวม 5 เที่ยวบินต่อวันแล้ว และเตรียมเปิดเส้นทางบินข้ามภาค ขอนแก่น-ภูเก็ต เริ่มบิน 22 ธันวาคมนี้”

“ปี 2561 จะเป็นปีที่ไทยแอร์เอเชียโฟกัสการเปิดเส้นทางบินข้ามภูมิภาคมากขึ้น จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 15 เส้นทางบิน หลังเริ่มเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา จนมีส่วนแบ่งตลาดในเส้นทางบินข้ามภูมิภาคกว่า 75-80% ข้อดีคือ ไม่มีคู่แข่ง สามารถทำราคาได้ดี และมียอดการขนส่งทางอากาศที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการบินของคนในภาคต่าง ๆ อย่างคนอีสานก็สามารถไปเที่ยวทะเลภาคใต้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ได้ง่ายขึ้น”

“ปิยะ ยอดมณี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้เปิดเส้นทางบินใหม่อุดรธานี-อุบลราชธานี เชื่อมเมืองใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับความต้องการของผู้โดยสาร จากการศึกษาพบว่าในเส้นทางจังหวัดอุดรธานีสู่จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์เป็นจำนวนมาก โดยใช้เวลาในการเดินทาง 6 ชั่วโมง และทั้ง 2 จังหวัดยังเป็นเมืองใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สามารถเดินทางต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นได้ เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา อีกทั้งสนามบินอุดรธานี ยังเป็นฐานปฏิบัติการบินของนกแอร์อีกแห่งหนึ่ง จึงเอื้ออำนวยต่อการเปิดเส้นทางใหม่นี้ โดยเส้นทางดังกล่าว จะเปิดให้บริการจำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินแบบ Q400 ผู้โดยสารสามารถสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป เริ่มบินวันที่ 17 มกราคม 2561 ซึ่งปัจจุบันสายการบินนกแอร์ได้ให้บริการในเส้นทางดอนเมือง-อุดรธานี 6 เที่ยวบินต่อวัน และเส้นทางดอนเมือง-อุบลราชธานี 7 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งหลังจากเปิดเส้นทางบินอุดรธานี-อุบลราชธานีแล้ว นกแอร์จะมีเส้นทางบินในประเทศจำนวนรวม 25 เส้นทาง

ด้าน “อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้เตรียมนัดประชุมผู้บริหารสายการบินต่าง ๆ เช่น การบินไทย ไทยสมายล์ นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส และไทยแอร์เอเชีย เป็นครั้งแรก เพื่อหารือเกี่ยวกับการสร้าง “ความร่วมมือระหว่างสายการบิน” เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวไทย และไปทำตลาดในเมืองรองมากขึ้นด้วย