บางกอกแอร์เวย์ส เผยผลประกอบการ 1/65 ขาดทุน 827 ล้าน

Bangkok Airways

บางกอกแอร์เวย์ส เปิดผลประกอบการ 1/65 ขาดทุน 827 ล้าน เหตุค่าน้ำมัน-ค่าซ่อมเครื่องบินพุ่ง ชี้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว เล็งการตั้งกองทรัสต์สนามบินเพื่อระดมทุน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 มีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2564 รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจสายการบิน และธุรกิจสนามบิน ซึ่งเพิ่มร้อยละ 208.8 ร้อยละ 206.9 ตามลำดับ

บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 826.6 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 22.3 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและบริการ ซึ่งได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และค่าบริการผู้โดยสาร

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภาคการตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทย มีการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ แต่ทางภาคอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกก็ยังมีอัตราเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 บริษัทได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางการบินหลัก เพื่อรองรับการกลับมาเดินทางของนักท่องเที่ยว หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย กรุงเทพฯ-ภูเก็ต กรุงเทพฯ-เชียงใหม่

ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 มีจำนวนผู้โดยสาร 0.4 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบินเท่ากับ 5,037 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 145.8 และร้อยละ 104.4 เทียบกับปี 2564 ตามลำดับ และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 63.5 และมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,469.6 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ได้แก่ การเปิดให้บริการเที่ยวบินพิเศษเฉพาะผู้โดยสารซีลรูต (Sealed Route) ในเส้นทางกรุงเทพฯ – ภูเก็ต วันละ 2 เที่ยวบิน เพื่อสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ การให้บริการเที่ยวบิน Vaccinated Travel Lane (VTL) ในเส้นทาง สมุย-สิงคโปร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามกำหนด โดยไม่ต้องกักตัว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งบริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อเตรียมการระดมทุนโดยการจัดตั้งกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์จากธุรกิจสนามบิน