ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ พักหนี้ 2.5 หมื่นล้าน-เริ่มต้นนับ 1 อีกครั้ง

ดร.ปฏิมา จีระเเพทย์-ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์
สัมภาษณ์

หยุดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ไปนานกว่า 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สำหรับสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” เที่ยวบินรหัส (XJ) สายการบินราคาประหยัดให้บริการบินเส้นทางระยะไกล

ล่าสุด “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” กลับมาให้บริการใหม่อีกครั้ง โดยเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ท่าอากาศยานอินชอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร และ “ดร.ปฏิมา จีระเเพทย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ถึงแผนการดำเนินงาน หลังกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ทั้งในด้านการบริหารหนี้ บริหารต้นทุน-รายได้ แผนการขยายเส้นทางการบิน รวมถึงประมาณการจำนวนผู้โดยสารสำหรับปี 2565 นี้ ไว้ดังนี้

ซีอีโอใหม่-กลยุทธ์ใหม่

“ธรรศพลฐ์” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ด้วยการให้ความมั่นใจต่อนักเดินทางว่า “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” พร้อมแล้วที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้ง ทั้งเส้นทางสู่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 2 ตลาดหลักของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ หลังจากที่หยุดให้บริการชั่วคราวไปถึง 2 ปีครึ่ง หรือตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565

“ธรรศพลฐ์” บอกว่า กลับมาครั้งนี้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกรอบ ตั้งแต่ประกาศเเต่งตั้ง “ดร.ปฏิมา จีระเเพทย์” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทน “นัตดา บุรณศิริ” ที่เกษียณอายุทำงานตั้งแต่ 1 เมษายน 2565

รวมถึงการยื่นคำร้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2565 พร้อมปรับกลยุทธ์ด้วยการย้ายฐานปฏิบัติการการบินจากท่าอากาศยาน “ดอนเมือง” ไปที่ท่าอากาศยาน “สุวรรณภูมิ”

ย้ำปีนี้โฟกัส “เกาหลี-ญี่ปุ่น”

“ธรรศพลฐ์” บอกด้วยว่า ในเบื้องต้นของการกลับมาให้บริการอีกครั้งในปีนี้ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” จะโฟกัส 2 ตลาดหลักคือ เกาหลีและญี่ปุ่น โดยทยอยเพิ่มความถี่เที่ยวบินให้สอดรับกับดีมานด์การเดินทางของแต่ละตลาด

โดยคาดว่าทั้ง 2 ตลาดจะกลับมาเดินทางในอัตราใกล้เคียงกับปี 2562 (ก่อนโควิด) ได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 นี้

“ปี 2562 เรามีผู้โดยสารประมาณ 2 ล้านคน และมีเป้าหมายที่จะโตต่อไปเรื่อย ๆ มีฝูงบินจำนวน 15 ลำ และอยู่ในแผนเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง แต่พอโควิดมา ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์หยุดนิ่ง ไม่ได้ให้บริการเลย แต่ค่าเช่าก็ยังเดินอยู่แม้ว่าจะมีการเจรจาขอลดแล้วก็ตาม ทำให้ต้องตัดสินใจคืนเครื่องไป 10 ลำเหลือ 5 ลำ สำหรับให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าหรือคาร์โก้”

และบอกว่า ปี 2564 รายได้หลักหรือประมาณ 90% ของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาจาก “คาร์โก้” เพียงพอสำหรับจ่ายเงินเดือนพนักงานเท่านั้น ยังไม่พอที่จะไปชำระค่าเช่าเครื่องบินและค่าอื่น ๆ ขณะที่เที่ยวบินปกติก็ยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้

เริ่มต้นใหม่-เบรกหนี้เก่า

“ธรรศพลฐ์” บอกอีกว่า จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์”ตัดสินใจยื่นคำร้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่มีมูลค่าประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่พอสมควร

โดยมองว่าหากกลับมาทำการบินปกติและมีรายได้เข้ามา ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก จากการตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารที่ 3 แสนคน ยังห่างไกลปี 2562 ที่มีประมาณ 2 ล้านคน หากไม่ขอประนอมหนี้เก่าเงินใหม่ที่เข้ามาจะไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายทั่วไปและชำระหนี้

พร้อมย้ำว่า การยื่นคำร้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น ไม่ได้หมายความว่าไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์กำลังจะเจ๊ง แต่ด้วยสถานการณ์ในวันนี้ที่สายการบินกำลังทยอยเปิดให้บริการ ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นเท่าตัวจากปี 2562 บวกกับเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นไปไม่ได้แน่นอนที่จะบริหารให้มีรายได้ที่สมดุลกับรายจ่าย

ดังนั้น แนวทางเดียวที่จะเดินต่อได้คือ การเจรจากับเจ้าหนี้และขอประนอมหนี้ อันนี้คือเหตุผลที่ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์”ต้องยื่นเข้าแผนฟื้นฟู เพราะเป็นทางออกที่จะทำให้บริหารหนี้ที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับรายรับ และยังสามารถให้บริการตามปกติได้

“ที่ผ่านมาอาจมีคนยังไม่มั่นใจนักก่อนหน้านี้สายการบินได้ออกโปรโมชั่นมาแคมเปญหนึ่ง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก จึงมาวิเคราะห์ว่าน่าเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในประเด็นที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ได้ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้คนคิดว่าซื้อตั๋วไปแล้วจะบินได้หรือเปล่า”

ตั้งเป้าปี’66 เพิ่มเครื่องอีก 3 ลำ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สายการบินจะนำเสนอรายละเอียดของแผนและแนวทางการบริหารเป็นระยะตามกระบวนการในการเข้าสู่แผนฟื้นฟูต่อไป ทั้งนี้ ประเมินว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามที่บริษัทวางไว้น่าจะจบได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566

จากนั้น “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” จะขยายการให้บริการต่อไป โดยในปี 2566 “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” มีแผนจะเพิ่มเครื่องบินมาให้บริการอีก 3 ลำ รวมเป็น 8 ลำ ส่วนจะเป็นเส้นทางบินไหน เช่น จีนอินเดีย หรือภูมิภาคอื่น ๆ นั้น จะประเมินตามสถานการณ์ที่เป็นจริงอีกครั้ง

เร่งเพิ่มความถี่เที่ยวบิน Q4

ด้าน “ดร.ปฏิมา” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงแผนการให้บริการเส้นทางบินว่า เที่ยวบินแรกกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-อินชอน (กรุงโซล) ประเทศเกาหลีใต้ ของ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อ 1 มิถุนายน 2565 จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

หลังเปิดให้บริการพบว่า ได้รับการตอบรับที่ดี สอดรับกระเเสการท่องเที่ยวฟื้นตัว มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (load factor) เฉลี่ยประมาณ 95-100% ทั้งนี้ สายการบินมีเป้าหมายมีอัตราขนส่งผู้โดยสารของเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-อินชอน (โซล) สำหรับปีนี้เฉลี่ยมากกว่า 85%

ส่วนเส้นทางญี่ปุ่น สายการบินก็มีเเผนทยอยเปิดให้บริการสอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น

โดยมีแผนเปิดตลาดด้วยเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-นาริตะ (โตเกียว) ในเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเพิ่มเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเดือนสิงหาคมและกันยายน

และในเดือนตุลาคม 2565 มีแผนเปิดให้บริการเส้นทางบินกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-โอซากา จำนวนวันละ 1 เที่ยวบิน (ทุกวัน) เเละเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ซัปโปโร จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

“ดร.ปฏิมา” ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันสายการบินอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มความถี่บินในทุกเส้นทาง ทั้งเส้นทางโซลเเละญี่ปุ่น ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการการเดินทางของตลาด

โดยเตรียมให้บริการบินตรงวันละ 1 เที่ยวบิน ในเส้นทางสุวรรณภูมิสู่โซล โตเกียว เเละโอซากา เเละบินเส้นทางซัปโปโร 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ภายในเดือนตุลาคม 2565

นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมที่จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินตามดีมานด์การเดินทางและการฟื้นตัวของตลาด

คิดใหม่รับโลกเปลี่ยน

ประธานกรรมการบริหารไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงเริ่มต้นของการกลับมาของธุรกิจการบินนี้ การแข่งขันด้านราคาจะดีกว่าในยุคก่อนโควิด แต่ด้วยปัจจัยลบที่เป็นอยู่ทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท ฯลฯ ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานปรับตัวสูงขึ้นในทุกมิติ แต่ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ทั้งหมด

ดังนั้นประเด็นที่สายการบินโฟกัสในขณะนี้มี 2 เรื่องหลักคือ 1.แข่งขันกับตัวเอง กล่าวคือ ด้วยจำนวนหนี้ที่มีอยู่ ทำอย่างไรถึงจะสามารถบริหารเงินที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

และ 2.แข่งกับสภาวะแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ทำให้สายการบินไม่สามารถใช้ข้อมูลและบริหารแบบเดิม ๆ หรือเปิดเส้นทางบินในเส้นทางที่เคยทำการบินก่อนหน้านี้ได้เหมือนเดิม

วันนี้ต้องศึกษาตลาดใหม่ทั้งหมดสถานะของ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ในวันนี้ไม่สามารถรับข้อผิดพลาดของตัวเองได้ จนกว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูและชำระหนี้ได้หมด